ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นภวัลย์ กัมพลาศิริ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาสภาวะแวดล้อมทางครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวชวัยรุ่น

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาสภาวะแวดล้อมทางครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวชวัยรุ่น,พ.ศ.2523

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อศึกษาถึงสภาวะแวดล้อมทางครอบครัว ซึ่งประกอบไปด้วยลักษณะทั่วไปของครอบครัว ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัว การอบรมเลี้ยงดู และปัญหาภายในครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวชวัยรุ่น ผลที่ได้จากการศึกษาจะเป็นประโยชน์ต่อการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช วิธีดำเนินการศึกษา ใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ป่วยจิตเวชวัยรุ่นที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ตั้งแต่วันที่ 1-31 มกราคม 2524 จำนวน 50 ราย ซึ่ง ได้จากการเลือกสุ่มไว้ร้อยละ 50 ของจำนวนผู้ป่วยจิตเวชวัยรุ่นทั้งหมด 99 ราย และการตอบแบบสอบถามของญาติผู้ป่วย ซึ่งผู้ศึกษาได้ส่งแบบสอบถามไปทางไปรษณีย์ไปยังผู้ปกครองของผู้ป่วย 50 ราย ได้รับคำตอบกลับคืนมา 36 ราย เป็นคำตอบที่ครบสมบูรณ์ 30 ราย คิดเป็นร้อยละ 60 ของจำนวนแบบสอบถามทั้งหมด แล้วนำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ด้วยวิธีทางสถิติ ลักษณะโดยทั่วไปของผู้ป่วยจิตเวชที่ทำการศึกษา 50 ราย เป็นชาย 30 ราย หญิง 20 ราย มีอายุเฉลี่ย 19 ปี ผู้ป่วยส่วนมากมีเชื้อชาติไทย นับถือศาสนาพุทธ มีการศึกษาระดับประถมศึกษา เป็นนักเรียนนักศึกษา ไม่มีรายได้ต้องพึ่งพาผู้ปกครอง เป็นโสด และส่วนมากได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคจิต (Psychosis) ชนิดจิตเภท (Schizophrenia) ผลของการศึกษา แบ่งออกเป็น 4 หมวด ดังนี้ :- หมวดที่ 1 ลักษณะโดยทั่วไปของครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวชวัยรุ่น พบว่าผู้ป่วยที่มาจากครอบครัวเดี่ยวและครอบครัวขยายมีจำนวนไม่ต่างกัน ผู้ป่วยส่วนมากอาศัยอยู่กับบิดามารดา ทั้งบิดาและมารดาของผู้ป่วยส่วนมากมีการศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา บิดาของผู้ป่วยส่วนมากมีอาชีพเกษตรกรรม มารดาของผู้ป่วยส่วนมากมีอาชีพค้าขาย ครอบครัวของผู้ป่วยส่วนมากมีฐานะยากจน มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวโดยเฉลี่ย 7 คน ผู้ป่วยส่วนมากเป็นบุตรคนที่ 1 และมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน 6 คน หมวดที่ 2 ความสัมพันธ์ของสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวชวัยรุ่น พบว่าความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาของผู้ป่วยส่วนมากอยู่ในระดับน้อยที่สุด คือมีความบาดหมางหรือห่างเหินหรือแยกทางกัน ความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับบิดาในแต่ละระดับความสัมพันธ์ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ แต่จากการคำนวณหาค่าร้อยละ พบว่าผู้ป่วยร้อยละ 32 มีความสัมพันธ์กับบิดาในระดับน้อย คือ มีความห่างเหินหรือกระทบกระทั่งกัน ในขณะที่ผู้ป่วยส่วนมากมีความสัมพันธ์กับมารดาในระดับดี และมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกันมากกับพี่น้องเกือบทุกคน สำหรับสภาพความสัมพันธ์โดยทั่วไปในครอบครัว พบว่าสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยส่วนมากมีความสัมพันธ์ในระดับปานกลาง กิจกรรมในครอบครัวส่วนมากต่างคนต่างทำ และความร่วมมือกันมีน้อย หมวดที่ 3 ลักษณะการอบรมเลี้ยงดูที่ผู้ป่วยจิตเวชวัยรุ่นได้รับจากครอบครัว พบว่าส่วนมากบิดามารดาเลี้ยงดูผู้ป่วยด้วยตนเองมากที่สุด สำหรับการเลี้ยงดูในด้านต่าง ๆ นั้น พบว่าความคิดเห็นของผู้ป่วยและบิดามารดาหรือผู้ปกครองมีความแตกต่างกันหลายส่วน เช่น ผู้ป่วยส่วนมากคิดว่าตนได้รับการฝึกด้านความสำเร็จและการสอนระเบียบวินัยน้อยที่สุด แต่ผู้ปกครองส่วนมากคิดว่าได้ให้การฝึกฝนและสอนในเรื่องเหล่านี้ปานกลาง ผู้ป่วยส่วนมากคิดว่าบิดามารดาได้ฝึกความอดกลั้นให้แก่ตนมาก แต่ผู้ปกครองส่วนมากคิดว่าได้ฝึกให้แก่ผู้ป่วยปานกลาง ผู้ป่วยส่วนมากคิดว่าบิดามารดาให้รางวัลแก่ตนทั้งที่เป็นคำชมเชยและเป็นรางวัลน้อยที่สุด แต่ผู้ปกครองส่วนมากคิดว่าได้ให้คำชมเชยผู้ป่วยมากให้เป็นของรางวัลน้อยส่วนในเรื่องของการลงโทษผู้ป่วยส่วนมากคิดว่าบิดามารดาลงโทษตนด้วยการดุว่ามาก การลงโทษด้วยการตีมีน้อย แต่ผู้ปกครองส่วนมากคิดว่าได้ลงโทษด้วยการดุว่าปานกลางและด้วยการตีนั้นน้อยที่สุด สำหรับความคิดเห็นที่ใกล้เคียงและคล้ายคลึงกัน ได้แก่ การฝึกความเป็นอิสระ ซึ่งผู้ป่วยส่วนมากคิดว่าได้รับน้อยที่สุด และผู้ปกครองส่วนมากคิดว่าได้ให้ผู้ป่วยน้อยและการสอนในเรื่องเศรษฐกิจและสังคมอยู่ในระดับปานกลางเป็นส่วนมาก หมวดที่ 4 ปัญหาภายในครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวชวัยรุ่น พบว่าผู้ป่วยส่วนมากคิดว่าปัญหาบิดามารดาไม่มีเวลาใกล้ชิดเอาใจใส่บุตรมีระดับความรุนแรงของปัญหามากที่สุดแต่ในขณะที่ความคิดเห็นของผู้ปกครองปัญหานี้มีระดับของความรุนแรงไม่แตกต่างกัน จากผลของการศึกษา มีข้อเสนอแนะดังนี้:- 1. ในด้านการส่งเสริมพัฒนาสุขภาพจิตหรือการป้องกันในขั้นต้น นักสังคมสงเคราะห์ควรมีบทบาทในการส่งเสริมสุขภาพจิตครอบครัวให้มากขึ้น โดยการศึกษาค้นคว้าวิจัยในเรื่องของครอบครัว กระตุ้นให้เกิดการวางนโยบายและมีส่วนร่วมในการวางนโยบายในด้านการพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพจิตครอบครัว ตลอดจนการจัดบริการต่าง ๆ ขึ้นทั้งในและนอกหน่วยงาน การออกหน่วยชุมชน เพื่อให้บริการในด้านการพัฒนาครอบครัว รวมทั้งการเผยแพร่ความรู้ผ่านทางสื่อมวลชน โดยเฉพาะควรเน้นถึงการส่งเสริมสัมพันธภาพและความเข้าใจอันดีภายในครอบครัว และรณรงค์ให้พ่อได้มีบทบาททั้งต่อลูกและต่อครอบครัวอย่างถูกต้องเหมาะสม 2. ในขั้นของการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ควรพัฒนาและขยายบทบาทในการปฏิบัติงานกับครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวชให้มากขึ้น ทั้งบทบาทในการนำสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วยให้เข้ามามีส่วนร่วมในการรักษา และบทบาทของผู้ให้การบำบัดครอบครัวของผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ ในการปฏิบัติงานกับผู้ป่วยจิตเวชและครอบครัว นักสังคมสงเคราะห์ควรคำนึงถึงปัญหาทางเศรษฐกิจ ปัญหาความไม่รู้หรือด้อยการศึกษาของผู้ป่วยและผู้ปกครอง ตลอดจนปัญหาความสัมพันธ์ภายในครอบครัวที่ขาดความร่วมมือซึ่งกันและกัน 3. ในระยะของการฟื้นฟูภายหลังจากผู้ป่วยหายเจ็บป่วยแล้ว นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชควรออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อติดตามผลและส่งเสริมให้สัมพันธภาพภายในครอบครัวดำเนินไปด้วยดี 4. นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชควรมีบทบาทในการรณรงค์ให้ทั้งภาครัฐและเอกชนเล็งเห็นถึงความสำคัญของสภาวะแวดล้อมทางครอบครัว ซึ่งมีผลต่อสุขภาพจิต และมาร่วมกันดำเนินการส่งเสริมพัฒนา ตลอดจนแก้ไขสภาพที่เป็นปัญหา รวมทั้งการจัดบริการเพื่อการนี้ด้วย 5. ควรมีการพัฒนาการศึกษาวิจัยในเรื่องของครอบครัวและผู้ป่วยจิตเวชวัยรุ่นให้ก้าวหน้าต่อไป ด้วยวิธีการที่ดียิ่งขึ้นเพื่อให้เกิดความแม่นตรง และเป็นประโยชน์ต่อการนำมาปรับใช้ในงานสังคมสงเคราะห์จิตเวชมากขึ้น

Keywords: adolescence, adolescent, family, psychiatry, ครอบครัว, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, วัยรุ่น

ปีที่เผยแพร่/Year: 2523

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372230000031

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -