ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สว่าง โรจน์รัตนเกียรติ

ชื่อเรื่อง/Title: สุขภาพจิตของนักเรียนตาบอดในประเทศไทย

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2524

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่องสุขภาพจิตของนักเรียนตาบอดในประเทศไทย มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาเปรียบเทียบสุขภาพจิตของนักเรียนตาบอดชายและหญิงในประเทศไทยที่มีอายุระหว่าง 8-20 ปี การศึกษาในครั้งนี้มุ่งศึกษาจากด้านต่างๆ หลายด้านด้วยกันคือ ศึกษาจากทัศนคติที่นักเรียนตาบอดมีต่อตนเองและผู้อื่น ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวของนักเรียนตาบอด สภาพปัญหาทางสังคมและการใช้บริการสังคมสงเคราะห์ของนักเรียนตาบอด และทัศนคติของเจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับนักเรียนตาบอดที่มีต่อนักเรียนตาบอด นอกจากนั้นการศึกษาในครั้งนี้ยังมุ่งที่จะหาแนวทางเพื่อกำหนดบทบาทและหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์จิตเวชในงานสุขภาพจิตของนักเรียนตาบอด วิธีการศึกษานั้นใช้ทั้งการวิจัยจากเอกสารต่างๆ ทั้งในภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ถึงความรู้ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตของนักเรียนตาบอด ส่วนการวิจัยสนามนั้นทำโดยการสัมภาษณ์ คณะกรรมการมูลนิธิช่วยคนตาบอดแห่งประเทศไทยในพระบรมราชินูปถัมภ์ เจ้าหน้าที่กองการศึกษาพิเศษ นักสังคมสงเคราะห์ประจำมูลนิธิฯ ครู โรงเรียนสอนคนตาบอด แม่บ้านโรงเรียนสอนคนตาบอด จำนวนรวมกัน 269 คน ผลการศึกษาพบว่ามีนักเรียนตาบอดชายร้อยละ 55.48 นักเรียนตาบอดหญิงร้อยละ 44.52 อายุเฉลี่ยของนักเรียนตาบอดทั้งหมด คือ 14.22 ปี นักเรียนตาบอดตั้งแต่กำเนิดร้อยละ 57.42 และตาบอดหลังกำเนิดร้อยละ 42.58 นักเรียนตาบอดถึงร้อยละ 50.32 ไม่ทราบสาเหตุการตาบอดของตนเองจำนวนร้อยละ 33.55 เกิดจากโรคต่างๆ ทั้งโรคตาโดยตรงและโรคอื่นๆ ที่มีผลต่อตาในภายหลัง นักเรียนร้อยละ 67.74 ตาพอมองเห็นบ้างมีเพียงร้อยละ 32.26 เท่านั้นที่ตาบอดสนิท นักเรียนตาบอดร้อยละ 71.61 กำลังศึกษาอยู่ในระดับประถมศึกษา นักเรียนส่วนใหญ่มีผลการศึกษาอยู่ในขั้นดี นักเรียนมาจากภาคกลางมากที่สุด คือ ร้อยละ 34.84 มาจากภาคใต้น้อยที่สุด คือร้อยละ 5.16 นักเรียนตาบอดร้อยละ 67.74 ยังอาศัยอยู่กับบิดาและมารดา อาชีพส่วนใหญ่ของบิดาและมารดาของนักเรียนตาบอดคือ เกษตรกรรม ครอบครัวของนักเรียนตาบอดส่วนใหญ่มีรายได้ระดับปานกลาง นักเรียนตาบอดชายมีสุขภาพจิตดีกว่านักเรียนตาบอดหญิงจากปัจจัย ด้านที่หนึ่ง นักเรียนตาบอดชายมีทัศนคติต่อตนเองดีกว่านักเรียนตาบอดหญิงในเรื่อง เป็นคนท้อแท้สิ้นหวังน้อยกว่านักเรียนตาบอดหญิง วิตกกังวลต่ออนาคตน้อยกว่าเป็นคนเจ้าอารมณ์น้อยกว่า อายที่ตาบอดน้อยกว่า และติเตียนตนเองน้อยกว่านักเรียนตาบอดหญิง ด้านที่สอง นักเรียนตาบอดชายมีทัศนคติต่อผู้อื่นดีกว่านักเรียนตาบอดหญิงในเรื่อง นักเรียนตาบอดชายมีความรู้สึกต่อเพื่อนตาปกติดีกว่านักเรียนตาบอดหญิง ต้องการเรียนร่วมกับนักเรียนตามปกติมากกว่านักเรียนตามบอดหญิง ยอมรับว่าตนเองมีโอกาสดีกว่าคนตาบอดทั่วไป มากกว่านักเรียนตาบอดหญิง ด้านที่สาม นักเรียนตาบอดชายมีครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ดีกว่าคอรบครัวของนักเรียนตาบอดหญิงในเรื่อง ครอบครัวของนักเรียนตาบอดชายนั้นพี่น้องสนิทสนมกันมากกว่านักเรียนตาบอดหญิง ครอบครัวของนักเรียนตาบอดหญิงมีปัญหารายได้ไม่พอใช้มากกว่านักเรียนตาบอดชาย ด้านที่สี่ นักเรียนตาบอดชายมีปัญาทางสังคมน้อยกว่านักเรียนตาบอดหญิงในเรื่อง นักเรียนตาบอดชายเป็นคนเก็บตัวน้อยกว่านักเรียนตาบอดหญิง นักเรียนตาบอดชายมีปัญหาในการปรับตัวและการเรียนน้อยกว่านักเรียนตาบอดหญิง ข้อเสนอแนะสำหรับการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์จิตเวช ในงานสุขภาพจิตของนักเรียนตาบอดคือ นักสังคมสงเคราะห์จะต้องหาทางใกล้ชิดกับนักเรียนตาบอด ครอบครัวของนักเรียนตาบอด เจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายทำงานเกี่ยวข้องกับนักเรียนตาบอดให้มากที่สุด เพื่อเป็นการประชาสัมพันธ์ตนเองและเข้าถึงปัญหาได้อย่างรวดเร็วและถูกต้องยิ่งขึ้น นักสังคมสงเคราะห์จิตเวช ต้องมีส่วนให้ความรู้ทางสุขภาพจิตผ่านทางสื่อมวลชนต่างๆ ให้มากที่สุด รวมทั้งการให้ความรู้โดยการอบรมแนะนำ ผู้ปกครองของนักเรียนตาบอด เจ้าหน้าที่ฝ่ายต่างๆ ที่ทำงานเกี่ยวข้องกับนักเรียนตาบอดรวมถึงประชาชนทั่วไป ในการป้องกันการเสื่อมเสียสุขภาพจิตและการป้องกันการตาบอดของบุตรหลานเพื่อเป็นการป้องกันและรักษาตั้งแต่เริ่มมีปัญหาในระยะแรก การส่งเสริมสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายและครอบครัวของนักเรียนตาบอดจะเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตของนักเรียนตาบอดทางอ้อมอีกด้วย นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชจะต้องร่วมมือกับครูและเจ้าหน้าที่ฝ่ายอื่นๆ ในการช่วยเหลือนักเรียนตาบอดที่กำลังมีปัญหาการเสื่อมเสียสุขภาพจิตอย่างรุนแรง โดยเร่งด่วนที่สุด นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชจะต้องกระตุ้นให้ทุกฝ่ายร่วมกันรณรงค์ให้รัฐบาลออกกฎหมายให้การศึกษาแก่คนตาบอดโดยด่วนที่สุด รวมทั้งกฎหมายควบคุมอาชีพสำหรับคนตาบอดในบางอาชีพ รวมทั้งรณรงค์ให้สังคมเห็นความสามารถของคนตาบอดที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้วว่าช่วยตนเองและสังคมได้เป็นอย่างดี โดยเริ่มทำกับผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับนักเรียนตาบอดเป็นกลุ่มแรก การฝึกอาชีพของนักเรียนตาบอดควรให้นำไปส่งเสริมอาชีพด้านเกษตรกรรมบ้าน อาจเป็นทางออกที่ดีกว่าแบบเดิมที่เน้นแต่ช่างฝีมือ หลักสูตรการศึกษาของนักเรียนตาบอดก็สมควรจะได้รับการแก้ไขให้เหมาะสมกับความต้องการและความจำเป็นของนักเรียนตาบอดในแต่ละท้องถิ่น มากกว่าที่จะเลียนแบบหลักสูตรของคนตาปกติไปทุกอย่าง

Keywords: anxiety, psychiatry, psychology, social, social welfare, social worker, stress, เครียด, คนตาบอด, คนพิการ, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, จิตวิทยา, นักเรียน, นักสังคมสงเคราะห์, ผู้พิการ, สังคม, สังคมสงเคราะห์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2524

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372240000010

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -