ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วรัตมา สุขวัฒนานันท์

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัญหาและอุปสรรคของแพทย์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคประสาทประเภทวิตกกังวล

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาปัญหาและอุปสรรคของแพทย์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคประสาทประเภทวิตกกังวล,พ.ศ. 2525

รายละเอียด / Details:

ความมุ่งหมายของการศึกษา เพื่อศึกษาปัญหาและอุปสรรคของแพทย์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคประสาท ประเภทวิตกกังวล (Anxiety Neurosis) และศึกษาเปรียบเทียบวิธีบำบัดรักษาของแพทย์ในโรงพยาบาลฝ่ายกายและโรงพยาบาลจิตเวช เพื่อกำหนดบทบาทและหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์ในการบำบัดรักษาโรคประสาทประเภทวิตกกังวล เครื่องมือในการศึกษาใช้แบบสอบถามและแบบฟอร์มการสังเกต รวมทั้งเวชระเบียนผู้ป่วยหลังจากทดสอบและแก้ไขปรับปรุงเครื่องมือเรียบร้อยแล้ว ได้ทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากประชากรในการศึกษาคือ แพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 17 ราย ตอบแบบสอบถาม 12 ราย ในจำนวนนี้เป็นแพทย์แผนกผู้ป่วย นอก 9 ราย และจิตแพทย์ 3 ราย จิตแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 16 ราย นักสังคมสงเคราะห์โรงพยาบาลาจุฬาลงกรณ์และโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาแห่งละ 10 ราย ตอบแบบสอบถามแห่งละ 7 ราย นอกจากนี้ได้ศึกษาเวชระเบียนผู้ป่วยโรคประสาทประเภทวิตกกังวลทั้ง 2 โรงพยาบาลในช่วง 1 พฤศจิกายน 2523 – 31 มกราคม 2524 รวมจำนวน 442 ฉบับ และสังเกตการรักษาของแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ จำนวน 3 ราย ผู้ป่วยจำนวน 23 ราย และการรักษาของแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา จำนวน 3 ราย ผู้ป่วยจำนวน 38 ราย สำหรับการวิเคราะห์ทางสถิติ ใช้วิธีแจกแจงความถี่และการจัดลำดับความสำคัญ การคำนวนค่าร้อยละ และการทดสอบไคสแควร์ (Chi-square) ผลการศึกษาพบว่า อาการของผู้ป่วยโรคประสาทประเภทวิตกกังวลทั้ง 2 โรงพยาบาลส่วนใหญ่มีกลุ่มอาการแสดงออกทางร่างกาย ไดแก่ นอนไม่หลับ (ร้อยละ 23.0) และแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์นิยมใช้คำว่า “Anxiety” (ร้อยละ 55.3) ขณะที่แพทย์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยานิยมใช้คำว่า “Anxiety Neurosis” (ร้อยละ 54.6) ในการวินิจฉัยโรคของผู้ป่วยที่มีกลุ่มอาการโรคประสาทประเภทวิตกกังวล วิธีบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคประสาทประเภทวิตกกังวล แพทย์ทั้ง 2 โรงพยาบาลนิยมใช้ยามากที่สุดคือ แพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร้อยละ 97.0 และแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาร้อยละ 95.6 โดยให้เหตุผลว่าสามารถลดความวิตกกังวลและทำให้อาการของผู้ป่วยทุเลาลง สำหรับวิธีที่แพทย์ทั้ง 2 โรงพยาบาลไม่นิยมใช้คือ การทำช็อคไฟฟ้า เพราะไม่มีข้อบ่งชี้ (Indication) ผลจากการสังเกตเมื่อเปรียบเทียบเวลาเฉลี่ยที่แพทย์ใช้ในการรักษาผู้ป่วยแต่ละรายพบว่าแพทย์ทั้ง 2 โรงพยาบาลใช้เวลาใกล้เคียงกัน แพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ใช้เวลาเฉลี่ย 7.4 นาที ต่อผู้ป่วย 1 รายต่อ 1 ครั้ง และขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุดคือ การซักประวัติผู้ป่วย เฉลี่ย 3.2 นาที ต่อผู้ป่วย 1 รายต่อ 1 ครั้ง ขณะที่แพทย์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาใช้เวลาเฉลี่ย 1.7 นาทีต่อผู้ป่วย 1 ราย ต่อ 1 ครั้ง เมื่อเปรียบเทียบการประมาณผลการรักษาเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณพบว่า แพทย์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาประมาณและมีความเชื่อมั่น (Confidence) ในวิธีการรักษาของตนสูงกว่าแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ส่วนผลการศึกษาปัญหาและอุปสรรคของแพทย์ในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคประสาทประเภทวิตกกังวล พบว่าปัญหาและอุปสรรคอันดับแรกของแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์คือ ปัญหาที่แก้ไขไม่ได้ของผู้ป่วย เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ สำหรับแพทย์โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาระบุปัญหาและอุปสรรคอันดับแรก คือ จำนวนผู้ป่วยมาก และผู้ป่วยไม่ปฏิบัติตามคำแนะนำ สรุปปัญหาและอุปสรรคของแพทย์มีปัจจัยมาจากตัวผู้ป่วยและญาติ แพทย์ผู้รักษา และระบบการทำงานของโรงพยาบาล นอกจากนี้แพทย์ทั้ง 2 โรงพยาบาลเสนอวิธีแก้ปัญหาและอุปสรรคดังกล่าวไว้ตรงกันเป็นส่วนมากคือ การให้บริการสังคมสงเคราะห์ช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจ การให้ความรู้ความเข้าใจ แก่ผู้ป่วยและญาติเกี่ยวกับวิธีการรักษาและกฎระเบียบของโรงพยาบาล อีกวิธีหนึ่งคือการเพิ่มบุคลากร เช่น จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา เป็นต้น ดังนั้นเมื่อพิจารณาผลการศึกษาดังกล่าวข้างต้น นักสังคมสงเคราะห์ควรมีบทบาทในการช่วยเหลือผู้ป่วยโรคประสาทวิตกกังวลทั้งทางร่างกายและจิตใจ ตลอดจนการปฏิบัติหน้าที่ทางสังคมของผู้ป่วย โดยเพิ่มบทบาทจากผู้ให้การสงเคราะห์ด้านวัตถุ (Material) ได้แก่ การเงิน สิ่งของ เป็นต้น และรับการส่งต่อ (Refered) ผู้ป่วยจากแพทย์มาเป็นนักสังคมสงเคราะห์ที่มีบทบาทในการเป็นผู้ให้คำปรึกษา แนะนำให้ความรู้ ตลอดจนทำหน้าที่ผู้บำบัดรักษาโดยการทำจิตบำบัด (Psychotherapy) ชนิดประคับประคอง (Supportive) และก่อให้เกิดการหยั่งเห็น (Insight) เพื่อให้บริการแก่ผู้ป่วยอย่างเหมาะสมตามสภาพที่เป็นจริง และตามความต้องการของสังคม ทั้งนี้แพทย์และจิตแพทย์ผู้ทำงานร่วมกลุ่ม (Team) กับนักสังคมสงเคราะห์ในการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยได้เสนอและสนับสนุนบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ด้านการทำจิตบำบัดด้วย ผลการศึกษาครั้งนี้แพทย์และนักสังคมสงเคราะห์ทั้ง 2 โรงพยาบาลได้ให้ข้อมูลสอดคล้องกัน แม้จำนวนกลุ่มตัวอย่างไม่มาก แต่ข้อมูลและผลการศึกษาเป็นที่น่าเชื่อถือได้ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการอ้างอิงและการศึกษาต่อไปได้

Keywords: neurosis, neurotic, psychiatry, social worker, แพทย์, โรคประสาท, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นักสังคมสงเคราะห์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2525

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372250000023

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -