ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปราณี กฤษณาวารุณ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาปัญหาสังคมและจิตใจของผู้ปกครองเด็กป่วยในโรงพยาบาลรามาธิบดี

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาปัญหาสังคมและจิตใจของผู้ปกครองเด็กป่วยในโรงพยาบาลรามาธิบดี , พ.ศ. 2525

รายละเอียด / Details:

ความมุ่งหมายของการศึกษา เพื่อสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองเกี่ยวกับบริการของโรงพยาบาลรามาธิบดี และค้นหาปัญหาทางสังคมและจิตใจของผู้ปกครอง ตลอดจนศึกษาลักษณะงานบริการสังคมสงเคราะห์ในโรงพยาบาลรามาธิบดี เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้สนใจโดยเฉพาะนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ สำหรับใช้เป็นแนวทางในการจัดบริการทางด้านสังคมสงเคราะห์ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น วิธีการศึกษา ใช้วิธีการสัมภาษณ์ผู้ปกครองเด็กป่วยทุกรายที่นำเด็กมาพักรักษาตัว ณ ตึกเด็ก 2 และเด็ก 5 ตั้งแต่ 2 วันขึ้นไป ในช่วงวันที่ 1-31 กรกฎาคม 2525 จำนวน 100 คน ผลการศึกษา พบว่าเป็นหญิง 55 คน เป็นชาย 45 คน ในจำนวนนี้เป็นมารดาของเด็กป่วยถึงร้อยละ 55 อายุที่พบมากที่สุดของผู้ปกครองอยู่ระหว่าง 20-40 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดมากถึงร้อยละ 55 นับถือศาสนาพุทธร้อยละ 94 มากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนทั้งหมด มีการศึกษาชั้นประถมศึกษา ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง มัธยฐานของรายได้ต่อหัวต่อเดือนของสมาชิกในครอบครัวเป็น 773 บาท และจำนวนสมาชิกภายในครอบครัวที่อยู่ในความรับผิดชอบของผู้ปกครองอยู่ระหว่าง 3-5 คน มีจำนวนมากที่สุด ส่วนสาเหตุที่พาเด็กมารับการรักษาในโรงพยาบาลรามาธิบดี เนื่องจากการมีคนแนะนำให้มา สำหรับระยะเวลาในการรอเตียงนั้น พบว่าเด็กร้อยละ 83 ได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเลย โดยไม่ต้องรอเตียงว่าง ร้อยละ 76 มาอยู่โรงพยาบาลเป็นครั้งแรก และอายุที่พบมากที่สุด คือ อายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไปถึง 12 ปี นอกจากนี้ยังพบว่า ระยะเวลาในการรอเตียงมีความสัมพันธ์น้อยมากกับสาเหตุที่ผู้ปกครองพาเด็กมารับการรักษาในโรงพยาบาลรามาธิบดี จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองเด็กป่วยเกี่ยวกับบริการของโรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า โดยเฉลี่ยแล้วผู้ปกครองมีความพอใจมากในบริการด้านต่าง ๆ ของโรงพยาบาลรามาธิบดี ส่วนปัญหาสังคมและจิตใจของผู้ปกครองเด็ก ปัญหาที่พบมากคือ ความวิตกกังวลในเรื่องเกี่ยวกับความเจ็บป่วยของเด็ก กลัวว่าการเจ็บป่วยจะมีผลต่อสุขภาพของเด็กและกลัวว่าเด็กจะไม่หายจากโรค ส่วนปัญหาการมาเฝ้าเด็กป่วยพบว่า การมาเฝ้าเด็กมีผลกระทบกระเทือนต่องานของผู้ปกครองพอควร มีผู้มาผลัดเปลี่ยนแทนน้อย และมีปัญหาเรื่องค่ารักษาพยาบาลและค่าใช้จ่ายส่วนตัวระหว่างมาเฝ้า เช่น ค่ารถ ค่าอาหาร พบว่า เป็นปัญหาพอควรสำหรับผู้ปกครอง นอกจากนี้ยังพบว่าเมื่อผู้ปกครองมีปัญหาหรือข้อข้องใจมักจะถามและขอคำแนะนำจากแพทย์ พยาบาล มีส่วนน้อยที่ถามและขอคำแนะนำจากนักสังคมสงเคราะห์ จากการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาได้เสนอให้มีการเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานของนักสังคมสงเคราะห์ให้มากขึ้น โดยให้มีการคำนึงถึงปัญหาสังคมและจิตใจของผู้ปกครองอย่างจริงจัง ให้มีการติดตามผลการให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ปกครอง ควรมีการเยี่ยมเยียนผู้ป่วยในหอผู้ป่วยเพื่อให้เห็นสภาพที่แท้จริงของความเจ็บป่วยของเด็ก นอกจากนี้ควรมีการร่วมมือติดต่อประสานงานกับผู้ร่วมทีมสุขภาพอย่างใกล้ชิด ส่วนตัวนักสังคมสงเคราะห์เอง ควรมีคุณสมบัติที่เหมาะสมที่จะปฏิบัติอย่างแท้จริง ประกอบกับความกระตือรือร้นในการเปลี่ยนแปลง แก้ไขรูปแบบของบริการสังคมสงเคราะห์ให้สอดคล้องกับนโยบายของโรงพยาบาล เพื่อประโยชน์ต่อผู้มารับบริการอย่างแท้จริง

Keywords: psychiatry, psychology, service, social, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, จิตวิทยา, ญาติ, บริการ, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2525

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372250000024

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -