ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ชัชนาฏ ณ นคร

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาบุคลิกภาพและสภาพอารมณ์ของผู้ป่วยกามโรค ศึกษา ณ โรงพยาบาลบางรัก และศูนย์กามโรคเขต 3 จังหวัดนครราชสีมา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาบุคลิกภาพและสภาพอารมณ์ของผู้ป่วยกามโรค ศึกษา ณ โรงพยาบาลบางรัก และศูนย์กามโรคเขต 3 จังหวัดนครราชสีมา , พ.ศ. 2525

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ของการศึกษา เพื่อศึกษาถึง บุคลิกภาพและสภาพอารมณ์ของผู้ป่วยกามโรค และเพื่อทราบความแตกต่างระหว่างบุคลิกภาพของผู้ป่วยกามโรคที่มารับบริการตามระดับ อายุ การศึกษา เศรษฐกิจ และขนาดของครอบครัว ที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อพิจารณาใช้เป็นแนวทางแก่นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์และบุคลากรในทีมงานสุขภาพในการให้บริการผู้ป่วยกามโรคได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษา เป็นผู้ป่วยกามโรคใหม่ที่มารับบริการ ณ โรงพยาบาลบางรัก กรุงเทพฯ และศูนย์กามโรค เขต 3 จังหวัดนครราชสีมา จำนวน 140 ราย อายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป โดยไม่จำกัดเพศ อาชีพ การศึกษา ฯลฯ ใช้เวลาในการสอบถามทั้งสิ้น 3 สัปดาห์ ผลการศึกษา พบว่า 1. ผู้ป่วยกามโรคที่มารับบริการทั้งผู้หญิง และผู้ชาย มีบุคลิกภาพแบบแสดงตัวและส่วนใหญ่มีสภาวะทางอารมณ์หวั่นไหว และผู้หญิงจะมีสภาวะทางอารมณ์หวั่นไหวกว่าผู้ชาย 2. ผู้ป่วยกามโรคที่มีอาการป่วยทางจิต มีสภาวะอารมณ์หวั่นไหวกว่าผู้ป่วยที่มีอาการป่วยทางกาย 3. ผู้ป่วยกามโรคที่มีอายุ 35 ปีขึ้นไป มีสภาวะอารมณ์มั่นคงกว่าผู้ป่วยกามโรคที่มีอายุน้อยกว่า 4. ผู้ป่วยกามโรคที่มีระดับการศึกษาสูงขึ้นมีสภาวะทางอารมณ์มั่นคงกว่าผู้ป่วยกามโรคที่มีการศึกษาต่ำกว่า 5. ผู้ป่วยกามโรคที่กำลังรอทำงานมีสภาวะทางอารมณ์มั่งคงกว่าผู้ที่ประกอบอาชีพอื่น ๆ และพบว่าผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม, รับจ้าง, นักเรียน, นักศึกษา จะมีสภาวะทางอารมณ์หวั่นไหวกว่าผู้ที่ทำงานรัฐวิสาหกิจหรือบริษัท 6. ผู้ป่วยกามโรคที่มีรายได้สูงมีสภาวะทางอารมณ์มั่นคงกว่าผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า 7. ผู้ป่วยกามโรคที่มีความสัมพันธ์ในครอบครัวดีมีความมั่นคงทางสภาวะอารมณ์มากกว่าผู้ป่วยที่มีความสัมพันธ์ในครอบครัวไม่ดี จากบุคลิกภาพของผู้ป่วยที่มีลักษณะเปิดเผย และส่วนใหญ่มีสภาวะอารมณ์ที่หวั่นไหวทำให้มีแนวโน้มป่วยเป็นโรคประสาทและโรคจิตได้ถ้าไม่ได้รับการช่วยเหลือด้านจิตใจ ดังนั้น นักสังคมสงเคราะห์ควรมีบทบาทในด้านการรักษาและการป้องกัน คือ การให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจ และการให้สุขศึกษาในหน่วยงานกามโรคทุกแห่ง เพื่องานการให้บริการเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

Keywords: emotion, moodpersonality, psychiatry, psychology, social worker, stress, เครียด, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, จิตวิทยา, นักสังคมสงเคราะห์, บุคลิกภาพ, สังคมสงเคราะห์, อารมณ์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2525

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372250000026

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -