ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อารี ทองทัพ

ชื่อเรื่อง/Title: การปรับตัวทางสังคมในสถานศึกษากับปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนชายและนักเรียนหญิง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การปรับตัวทางสังคมในสถานศึกษากับปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนชายและนักเรียนหญิง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก, พ.ศ. 2531

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง “การปรับตัวทางสังคมในสถานศึกษากับปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนชายและนักเรียนหญิง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ของโรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม และโรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี อำเภอเมือง จังหวัดพิษณุโลก” นี้มีความมุ่งหมายที่จะศึกษาถึงความสัมพันธ์ของปัจจัยต่าง ๆ กับการปรับตัวทางสังคมที่มีผลต่อปัญหาสุขภาพจิตของกลุ่มนักเรียนชาย และกลุ่มนักเรียนหญิง ในโรงเรียนดังกล่าว นอกจากนี้ยังเพื่อนำผลการศึกษาเป็นแนวทางเสนอให้โรงเรียนนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนด้านต่าง ๆ อย่างเหมาะสม รวมทั้งเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์ที่เกี่ยวข้องกับเยาวชน การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Survey Research) โดยแบ่งการศึกษาค้นคว้าจากเอกสารและการวิจัยภาคสนาม ผู้ศึกษาได้สร้างแบบสอบถามให้ครอบคลุมเนื้อหา และสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา ตลอดจนได้วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าไคสแควร์ ค่าดรรชนี ความสัมพันธ์ การวิเคราะห์สัดส่วนสำหรับเปรียบเทียบความสัมพันธ์ของตัวแปร แล้วนำเสนอในรูปตาราง กลุ่มประชากรที่ศึกษาจำนวน 270 ราย เป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนประจำจังหวัด (โรงเรียนพิษณุโลกพิทยาคม) และโรงเรียนหญิงประจำจังหวัด (โรงเรียนเฉลิมขวัญสตรี) ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างทั้งกลุ่มนักเรียนชายและกลุ่มนักเรียนหญิงพบว่า ในด้านการปรับตัวทางสังคมในสถานศึกษา กลุ่มนักเรียนชายมีปัญหาในการปรับตัวกับเพื่อน กับครู กับกิจกรรม กฎระเบียบ ข้อบังคับของโรงเรียน สำหรับกลุ่มนักเรียนหญิงมีปัญหาในการปรับตัวกับครู และโดยสรุปกลุ่มนักเรียนหญิงมีการปรับตัวทางสังคมในสถานศึกษาได้ดีกว่ากลุ่มนักเรียนชาย สำหรับปัญหาทางด้านสุขภาพจิตพบว่า ทั้งกลุ่มนักเรียนชายและกลุ่มนักเรียนหญิงมีปัญหาสุขภาพจิต ในกลุ่มนักเรียนชายที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิต สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนกับครูและกิจกรรม กฎระเบียบ ข้อบังคับของโรงเรียนได้ดีกว่ากลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิต และในกลุ่มนักเรียนหญิงที่ไม่มีปัญหาสุขภาพจิต สามารถปรับตัวเข้ากับเพื่อนได้ดีกว่ากลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพจิต สำหรับการปรับตัวให้เข้ากับครูของนักเรียนหญิงนั้น การมีปัญหาสุขภาพจิตหรือไม่มีปัญหาสุขภาพจิตไม่มีผลในการปรับตัวให้เข้ากับครู ปัจจัยในการเกิดปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มนักเรียนชาย คือ อายุ จำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน ลำดับของความเป็นบุตร ความสัมพันธ์ภายในครอบครัว อาชีพของบิดามารดาและรายได้ของนักเรียน กล่าวคือ นักเรียนชายที่มีอายุสูงกว่า 15 ปี มีปัญหาสุขภาพจิตมาก จำนวนพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันน้อย ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิตสำหรับลำดับของความเป็นบุตร จากการศึกษาพบว่า บุตรคนกลางจะมีปัญหามากกว่าบุตรคนอื่น นอกจากนี้ยังพบว่าความสัมพันธ์ในครอบครัวระดับปานกลางและไม่ดี อาชีพบิดามารดา ตลอดจนรายได้ที่นักเรียนได้รับจากครอบครัวมาก มีความสัมพันธ์กับการเกิดปัญหาสุขภาพจิต สำหรับในกลุ่มนักเรียนหญิง ปัจจัยที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต คือลำดับของความเป็นบุตร ความสัมพันธ์ภายในครอบครัวระดับปานกลางและไม่ดี อาชีพค้าขายและทำธุรกิจของบิดามารดา จะมีปัญหาสุขภาพจิตสูงกว่าอาชีพเกษตรกรรมหรือรับจ้าง ในการศึกษาดังกล่าวมีความสอดคล้องกับสมมติฐานที่ได้ตั้งไว้ คือ 1. นักเรียนชายและนักเรียนหญิงมีการปรับตัวในสถานศึกษาแตกต่างกัน 2. ปัจจัยต่าง ๆ ทางสังคมที่มีผลต่อปัญหาสุขภาพจิตในกลุ่มนักเรียนชายและกลุ่มนักเรียนหญิงแตกต่างกัน จากการศึกษาครั้งนี้ ผู้ศึกษาให้ข้อเสนอแนะว่านักสังคมสงเคราะห์ฝ่ายจิตควรมีบทบาทในการทำงานร่วมกับโรงเรียน อาจารย์ และผู้ปกครอง ในด้านให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพจิต และความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาการทางด้านต่าง ๆ ของเยาวชนโดยการประสานงานกับจิตแพทย์ นักจิตวิทยา และบุคลากรในชุมชนโดยการวางแผนร่วมกันเพื่อป้องกันปัญหาในด้านการปรับตัว ซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตได้ ดีกว่าการแก้ไขปัญหาเมื่อเกิดขึ้นแล้ว จากการศึกษาพบว่า นักเรียนชายมีปัญหาในการปรับตัวทางสังคมในสถานศึกษาทุกด้าน ส่วนนักเรียนหญิงมีปัญหาในด้านการปรับตัวให้เข้ากับครู และเมื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ในครอบครัว พบว่า นักเรียนหญิงมีความผูกพันกับครอบครัวค่อนข้างสูงกว่าเด็กชาย ถ้าครอบครัวเกิดปัญหาจะส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจอารมณ์ของเด็กได้ ปัญหาดังกล่าวเหล่านี้เป็นปัญหาที่นักสังคมสงเคราะห์ฝ่ายจิตจะสามารถศึกษาทำความเข้าใจและร่วมวางแผนกับผู้เกี่ยวข้องให้การช่วยเหลือนักเรียนตลอดจนพัฒนาเยาวชนให้มีคุณภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจทั้งปัจจุบันและอนาคต

Keywords: psychiatry, psychology, social, social worker, stress, เครียด, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, จิตวิทยา, สังคม, สังคมสงเคราะห์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2531

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372310000032

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -