ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปรารมภ์ นุชถาวร

ชื่อเรื่อง/Title: การปรับตัวของนักเรียนต่อสภาพการเรียนอาชีวศึกษา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารวิจัยเรื่อง การปรับตัวของนักเรียนต่อสภาพการเรียนอาชีวศึกษา,พ.ศ. 2532

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง การปรับตัวของนักเรียนต่อสภาพการเรียนอาชีวศึกษา มีวัตถุประสงค์ที่จะศึกษาการปรับตัวของนักเรียนต่อการเรียนอาชีวศึกษาในด้าน ครู เพื่อน และระบบการเรียนตลอดจนศึกษาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่ สาขาวิชาช่าง ภูมิลำเนาการอยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และการทำงานหารายได้ที่มีผลต่อการปรับตัวของนักเรียน การศึกษาครั้งนี้เป็นการวิจัยแบบบรรยาย (Descriptive Research) ซึ่งแบ่งการศึกษาเป็นการศึกษาค้นคว้าจากเอกสาร และการวิจัยภาคสนาม ผู้ศึกษาได้สร้างแบบสอบถามโดยครอบคลุมเนื้อหาและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่ามิชฌิมเลขณิต ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ การวิเคราะห์ เปรียบเทียบความแตกต่างขององค์ประกอบด้วยค่าสถิติ t และ F ซึ่งประมวลผลวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูป SPSS (Statistical Package for the Social Science) แล้วนำเสนอในรูปตาราง ประชากรที่ใช้ในการศึกษามีจำนวน 1,317 รายเป็นนักเรียนระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ชั้นปีที่ 1 ของวิทยาลัยที่สังกัดกองวิทยาลัยเทคนิค กรมอาชีวศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร ผลการศึกษาพบว่า 1. นักเรียนมีปัญหาในการปรับตัวต่อสภาพการเรียนอาชีวศึกษาในด้านการปรับตัวกับครู เพื่อน และระบบการเรียน อยู่ในระดับปานกลาง 2. จากการศึกษาความสัมพันธ์ขององค์ประกอบด้านต่าง ๆ พบว่าองค์ประกอบด้านภูมิลำเนา การอยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายส่วนตัวมีความสัมพันธ์กับการปรับตัวของนักเรียน ต่อสภาพการเรียนอาชีวศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ยกเว้น สาขาวิชาต่าง ๆ ไม่มีความสัมพันธ์กันทางสถิติกับการปรับตัวของนักเรียน 3. จากการศึกษาเปรียบเทียบปัญหาการปรับตัวของนักเรียนในองค์ประกอบต่าง ๆ ได้แก่สาขาวิชาช่าง ภูมิลำเนา การอยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายส่วนตัว และการทำงานหารายได้พบว่าสาขาวิชาช่างมีปัญหาการปรับตัวต่อสภาพการเรียนอาชีวศึกษาไม่แตกต่างกันทางสถิติ แต่ภูมิลำเนาการอยู่อาศัย ค่าใช้จ่ายส่วนตัวและการทำงานหารายได้มีปัญหาการปรับตัวต่อสภาพการเรียนอาชีวศึกษา แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 จากผลการศึกษาดังกล่าวทำให้ทราบปัญหาการปรับตัวของนักเรียน โดยทุกฝ่าย ได้แก่ ผู้บริหาร ครูอาจารย์ฝ่ายต่าง ๆ อาจารย์แนะแนว บิดามารดา ผู้ปกครอง ตลอดจนนักจิตวิทยา จิตแพทย์ และโดยเฉพาะอย่างยิ่งนักสังคมสงเคราะห์ทางการศึกษา จะมีบทบาทร่วมมือในการที่จะช่วยเหลือ สนับสนุน ให้กำลังใจ พยายามหาแบบอย่างที่ดี ให้เป็นตัวอย่างแก่นักเรียน นอกจากนี้นักสังคมสงเคราะห์ทางการศึกษายังจะต้องมีบทบาทในการทำงานร่วมกับครอบครัว สถานศึกษาและหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยมีบทบาทสำคัญในการที่จะประสานความสัมพันธ์ เพื่อก่อให้เกิดความเข้าใจสภาพปัญหาของนักเรียนและร่วมมือในการหาแนวทางแก้ไข ป้องกัน และพัฒนาให้นักเรียนซึ่งเป็นเยาวชนของชาติพัฒนาไปสู่การเป็นบุคคลที่มีคุณภาพของชาติสืบไป

Keywords: psychiatry, psychology, social, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, จิตวิทยา, นักเรียน, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2532

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372320000012

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -