ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดวงกมล คงเมือง

ชื่อเรื่อง/Title: ผลกระทบทางครอบครัวต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

แหล่งที่มา/Source: เอกสารวิจัยเรื่อง ผลกระทบทางครอบครัวต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน, พ.ศ. 2532

รายละเอียด / Details:

วิทยานิพนธ์เรื่อง “ผลกระทบทางครอบครัวต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน” มีวัตถุประสงค์ในการศึกษาดังนี้คือ ประการที่หนึ่ง ต้องการศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่มาจากปัจจัยทางครอบครัว ประการที่สอง ศึกษาปัจจัยจากเชิงจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ประการที่สาม ศึกษาปัจจัยจากโรงเรียนที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ประการสุดท้าย ศึกษาเพิ่มเติมในปัจจัยเชื่อมโยงระหว่าง ปัจจัยทางครอบครัวกับปัจจัยเชิงจิตวิทยา เพื่อขยายมุมมองของภาพความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัว กับ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนให้ชัดเจนขึ้น สมมุติฐานที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ มีทั้งสิ้น 15 สมมุติฐาน เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถาม จากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นนักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษา จากโรงเรียนในสังกัด กรมสามัญศึกษา ส่วนกลางกลุ่มที่ 1 กรุงเทพมหานคร จำนวน 311 คน ผลการศึกษาสรุป ได้ดังนี้ 1. ปัจจัยด้านครอบครัว ที่มีอิทธิพลโดยตรงต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน คือปัจจัยเชิงกระบวนการในครอบครัว เช่น ด้านความคาดหวังของบิดามารดาต่อการศึกษาของบุตรการใช้เหตุผลในการเลี้ยงดูบุตร ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดากับบุตร รูปแบบการเลี้ยงดูของครอบครัว มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กับ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน 2. ปัจจัยด้านจิตวิทยา มุ่งศึกษาใน 2 ประเด็นใหญ่ คือ แรงจูงใจใฝ่สัมฤทธิ์ (achievement motivation)และอัตมโนทัศน์เชิงการศึกษา (academic self-concept) พบว่า ปัจจัยทั้งสองประการดังกล่าว มีความสัมพันธ์กับ ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3. ปัจจัยจากโรงเรียน ศึกษาใน 2 ประการคือ ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนและ กลุ่มเพื่อนของนักเรียน ด้านครูพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างครูกับนักเรียนมีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนการคบเพื่อนนั้นไปตามทฤษฎี กลุ่มอ้างอิง (reference group) นั่นคือ นักเรียนที่มีผลการเรียนอยู่ในระดับใด ก็มักจะคบเพื่อนที่มีผลการเรียนในระดับใกล้เคียงกัน 4. เมื่อนำปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางครอบครัว และโรงเรียนมาศึกษาผ่านปัจจัยจิตวิทยาพบว่า ตัวแปรบางตัว เช่น ความรักใคร่เอาใจใส่ของบิดามารดาต่อบุตร ระยะเวลาการหย่าร้างของบิดามารดา อาชีพของบิดา สถานภาพทางเศรษฐกิจของครอบครัว แม้ไม่มีความสัมพันธ์กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนโดยตรง แต่มีความสัมพันธ์กับแรงจูงใจ และอัตมโนทัศน์ ซึ่งกล่าวได้ว่าสิ่งเหล่านี้ เป็นผลกระทบจากครอบครัวที่มีอิทธิพลต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนแม้จะไม่โดยตรงก็ตาม สิ่งที่ได้จากการศึกษาในครั้งนี้ชี้ให้เห็นว่า ปัจจัยเชิงโครงสร้างในครอบครัว มีอิทธิพลต่อบุตรน้อยกว่า ปัจจัยที่มาจากความสัมพันธ์ภายในครอบครัว ซึ่งปัจจัยในประการหลังมีความสัมพันธ์ทั้งโดยตรง และโดยผ่านปัจจัยด้านจิตวิทยา จึงเป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นว่า จะอย่างไรก็ตามครอบครัวยังคงเป็นสถาบันที่มีอิทธิพลต่อเด็ก โดยเฉพาะบิดามารดายังคงมีความสำคัญและมีอิทธิพลต่อบุตรในหลาย ๆ ด้าน

Keywords: family, psychiatry, psychology, social, จิตเวช, , จิตเวชศาสตร์, จิตวิทยา, นักเรียน, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2532

Address: คณะสังคมวิทยาและมนุษย์วิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372320000013

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -