ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จารุพรรณ พันธ์ชูจิตร

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาสุขภาพจิตของลูกจ้างภายหลังการประสบอันตรายจากการทำงาน , ศึกษากรณีลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะบางส่วนและอยู่ในข่ายความคุ้มครองของสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาสุขภาพจิตของลูกจ้างภายหลังการประสบอันตรายจากการทำงาน , ศึกษากรณีลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะบางส่วนและอยู่ในข่ายความคุ้มครองของสำนักงานแรงงานจังหวัด สมุทรปราการ , พ.ศ. 2532

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาสุขภาพจิตของลูกจ้างภายหลังจากประสบอันตรายจากการทำงาน : ศึกษากรณีลูกจ้างที่สูญเสียอวัยวะบางส่วนและอยู่ในข่ายความคุ้มครองของสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ” นี้ มีวัตถุประสงค์ที่จะทราบถึงลักษณะสุขภาพจิตในด้านต่าง ๆ ของลูกจ้างภายหลังจากการประสบอุบัติเหตุจากการทำงาน จนเป็นเหตุให้ลูกจ้างนั้นต้องสูญเสียอวัยวะบางส่วน อันได้แก่นิ้วมือ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลนั้นเลือกเฉพาะลูกจ้างที่นิ้วมือขาดตั้งแต่ 1 นิ้วขึ้นไป ในอัตราการสูญเสียร้อยละ 50 ถึงร้อยละ 100 ตามระเบียบการวินิจฉัยของพนักงานเงินทดแทน และเป็นลูกจ้างในข่ายความคุ้มครองของกองทุนเงินทดแทน กรมแรงงาน ในเขตจังหวัดสมุทรปราการ ที่เข้ามาติดต่อขอรับเงินทดแทนจากสำนักงานแรงงานจังหวัดสมุทรปราการ จำนวน 120 คน วิธีการศึกษาเป็นการศึกษาสุขภาพจิตของลูกจ้าง 3 กลุ่มที่มีระยะเวลาภายหลังการประสบอันตรายแตกต่างกัน ได้แก่ กลุ่มลูกจ้างที่ประสบอันตรายไม่เกิน 15 วัน กลุ่มลูกจ้างที่ประสบอันตรายมาแล้ว 1 เดือน และกลุ่มลูกจ้างที่ประสบอันตรายมาแล้ว 2 เดือน จำนวนกลุ่มละ 40 คน ให้ได้รับการสัมภาษณ์ในระยะเวลาเดียวกัน โดยใช้เครื่องมือวัดสุขภาพจิต คือแบบทดสอบ SCL-90 (Symtom Distress Checklists 90) ที่มีคุณสมบัติในการวัดลักษณะสุขภาพจิตต่าง ๆ ของบุคคลจำนวน 9 ด้าน อันได้แก่ สุขภาพจิตด้านความรู้สึกผิดปกติของร่างกาย (Somatization) สุขภาพจิตด้านการย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive-compulsive) สุขภาพจิตด้านความรู้สึกไม่ชอบติดต่อกับคนอื่น (Interpersonal Sensitivity) สุขภาพจิตด้านซึมเศร้า (Depressive) สุขภาพจิตด้านความวิตกกังวล (Anxiety) สุขภาพจิตด้านความเกลียดชังไม่เป็นมิตร (Hostility) สุขภาพจิตด้านความกลัวโดยไม่มีเหตุผล (Phobic Anxiety) สุขภาพจิตด้านความหวาดระแวง (Paranoid) และสุขภาพจิตด้านโรคจิต (Psychotic) และได้ใช้วิธีการเปรียบเทียบตามแบบ Cross-sectional Method เพื่อให้ลูกจ้างทั้งสามกลุ่ม ซึ่งได้รับการทดสอบในระยะเวลาเดียวกัน นำคะแนนสุขภาพจิตที่ได้จากแบบทดสอบนี้มาเปรียบเทียบกัน นอกจากนี้ยังได้กำหนดปัจจัยบางประการที่เกี่ยวข้องขึ้นมาเพื่อศึกษาปฏิสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาภายหลังการประสบอันตรายกับปัจจัยแต่ละประการมีผลให้สุขภาพจิตของลูกจ้างแตกต่างกันหรือไม่ อย่างไร ซึ่งปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นได้แก่ ระดับอายุของลูกจ้าง สภานภาพสมรส และระดับรายได้ ผลการศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้ สุขภาพจิตของลูกจ้างโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ปกติ แต่ก็ค่อนไปในทางที่มีคะแนนสูงกว่าคะแนนเฉลี่ยปกติ ซึ่งแสดงถึงแนวโน้มของการมีสุขภาพจิตไม่ดี ซึ่งสุขภาพจิตด้านที่มีคะแนนสูงกว่าด้านอื่น ๆ อย่างเห็นได้ชัด คือ สุขภาพจิตด้านความรู้สึกผิดปกติของร่างกาย ด้านซึมเศร้า และด้านความกลัวโดยไม่มีเหตุผล เมื่อศึกษาเปรียบเทียบสุขภาพจิตของลูกจ้างที่มีระยะเวลาภายหลังการประสบอันตรายแตกต่างกัน พบว่า สุขภาพจิตของลูกจ้างเลวลงเมื่อระยะเวลาเพิ่มขึ้น โดยมีคะแนนสุขภาพจิตทั้ง 3 ด้านดังกล่าวสูงกว่าด้านอื่น ๆ เช่นกัน การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาภายหลังการประสบอันตรายกับปัจจัยบางประการที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิตลูกจ้าง อันได้แก่ ปัจจัยด้านอายุ ปัจจัยทางสถานภาพสมรส และปัจจัยทางด้านระดับรายได้ สรุปผลการศึกษาได้ดังนี้ - สุขภาพจิตของลูกจ้างในแต่ละระดับอายุมีการเปลี่ยนแปลงในลักษณะใกล้เคียงกัน คือมีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตไม่ดีเมื่อระยะเวลาเพิ่มขึ้น โดยในกลุ่มอายุ 21-25 ปี มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพจิตไม่ดีมากกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากมีคะแนนสุขภาพจิตหลายด้านค่อนข้างสูงตั้งแต่ระยะแรกของการประสบอันตราย และสูงขึ้นเมื่อระยะเวลาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพจิตด้านซึมเศร้าที่สูงมากจนปรากฏอาการผิดปกติ อันเป็นสาเหตุให้อาการด้านอื่นสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังพบอาการผิดปกติของสุขภาพจิตด้านความกลัวโดยไม่มีเหตุผลในกลุ่มอายุ 15-20 ปี ในขณะที่ด้านอื่น ๆ ก็มีแนวโน้มจะปรากฏอาการสูงขึ้นด้วย ส่วนในกลุ่มอายุมากกว่า 25 ปีขึ้นไปไม่พบความผิดปกติ แต่จะพบอาการที่เห็นได้ชัดและมีแนวโน้มว่าจะผิดปกติคือสุขภาพจิตด้านความรู้สึกผิดปกติของร่างกายซึ่งจะสูงขึ้นจนเป็นเหตุให้อาการด้านอื่น ๆ สูงขึ้นด้วย - สุขภาพจิตของลูกจ้างโสดและสมรสแล้วจะแตกต่างกันในแง่ของการปรับตัวเมื่อระยะเวลาเพิ่มขึ้น โดยกลุ่มลูกจ้างโสดมีการปรับตัวได้ดีกว่าในระยะแรก แต่เมื่อระยะเวลาเพิ่มขึ้นกลับมีแนวโน้มว่าจะมีสุขภาพจิตไม่ดีขึ้นได้หากไม่ได้รับการช่วยเหลือ ในขณะที่ลูกจ้างที่สมรสแล้วมีการปรับตัวที่ไม่ดีตั้งแต่ระยะแรก และมีสุขภาพจิตเลวลงเมื่อระยะเวลาเพิ่มขึ้น โดยมีความผิดปกติในสุขภาพจิตด้านความรู้สึกผิดปกติของร่างกาย ด้านซึมเศร้าและด้านความกลัวโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งจากการศึกษาพบว่า กลุ่มลูกจ้างที่สมรสแล้วนี้จัดเป็นกลุ่มที่มีลักษณะการเปลี่ยนแปลงของสุขภาพจิตน่าวิตกมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ เนื่องจากมีความผิดปกติของสุขภาพจิตปรากฏในหลาย ๆ ด้านและอยู่ในเกณฑ์ที่สูง - สุขภาพจิตของลูกจ้างที่มีระดับรายได้แตกต่างกัน จะมีความแตกต่างในลักษณะตรงกันข้าม ในกลุ่มลูกจ้างสองกลุ่ม คือ ในกลุ่มระดับรายได้ 1,000-2,000 บาท เมื่อประสบอันตรายแล้วสามารถปรับตัวได้ในระยะแรก แต่กลับมีสุขภาพจิตไม่ดีเมื่อระยะเวลาเพิ่มขึ้น โดยปรากฏอาการผิดปกติในด้านซึมเศร้าและด้านความกลัวโดยไม่มีเหตุผล ส่วนในกลุ่มระดับรายได้ 3,000 บาทขึ้นไป ไม่สามารถปรับตัวได้ในระยะแรก และมีอาการผิดปกติในด้านความรู้สึกผิดปกติของร่างกาย ด้านซึมเศร้าและด้านความกลัวโดยไม่มีเหตุผล แต่เมื่อระยะเวลาเพิ่มขึ้นกลับจะปรับตัวได้ดีขึ้น แม้จะมีความผิดปกติในด้านความรู้สึกผิดปกติของร่างกายปรากฏอยู่ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าทั้งสองกลุ่มยังต้องการ การดูแลเนื่องจากยังคงมีอาการที่น่าเป็นห่วงอยู่ นอกจากนี้ในกลุ่มที่มีระดับรายได้ 2,001-3,000 บาท ไม่ปรากฏอาการผิดปกติ แต่มีแนวโน้มว่าจะมีสุขภาพจิตไม่ดีเมื่อเวลาเพิ่มขึ้นได้ ข้อเสนอแนะ 1. การให้ความช่วยเหลือระยะสั้น โดยการให้บริการระดับบุคคลที่เน้นการบำบัดรักษาหรือบรรเทาปัญหาทางด้านจิตใจซึ่งสามารถกระทำได้โดยการให้คำปรึกษา (Counselling) กรณีที่ประสบปัญหาที่มีผลกระทบทางด้านจิตใจ หรือการทำจิตบำบัด (Psycho-Therapy) ในกรณีที่พบว่ามีแนวโน้มที่จะมีความผิดปกติทางจิต อีกทั้งการทำกายภาพบำบัด (Physical-Therapy) เพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ภายหลัง ซึ่งการให้บริการสังคมสงเคราะห์ควรมีบทบาทสำคัญในการติดตามให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง นับแต่ประสบอันตรายใหม่ ๆ และเข้าสู่กระบวนการรักษา จนกระทั่งกลับเข้าทำงานในที่เดิม โดยดูแลในเรื่องของการปรับตัวในสังคมและการทำงาน เพื่อให้เขาปราศจากปัญหาทางด้านจิตใจ รวมตลอดถึงการจัดสรรบริการที่จำเป็นให้แก่เขาเพื่อให้เขาได้รับการฟื้นฟูจิตใจได้เต็มที่ นอกจากนี้ การเปลี่ยนลักษณะงาน (Rotation) ภายหลังการกลับเข้าทำงานของลูกจ้างภายหลังการสูญเสียอวัยวะ จะเป็นการช่วยลดปัญหาความวิตกกังวลและความกลัวของลูกจ้างได้ และมีผลให้การปรับตัวของลูกจ้างเป็นไปได้ง่ายขึ้น 2. การให้ความช่วยเหลือระยะยาว ผู้ศึกษาได้กำหนดแนวทางไว้ 4 ด้านดังนี้ 2.1 การพิจารณาให้ค่าทดแทนมีผลครอบคลุมถึงความเสียหายทางจิต 2.2 การพิจารณาข้อกำหนดให้นายจ้างรายงานผลต่อเนื่องเกี่ยวกับลูกจ้างที่ประสบอันตรายแก่กรมแรงงาน 2.3 การเสริมสร้างความรู้เกี่ยวกับการฟื้นฟูจิตใจในระยะสั้นแก่เจ้าหน้าที่ของกรมแรงงาน ผู้มีส่วนในการวินิจฉัยและพิจารณาค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้าง 2.4 การจัดให้มีนักสังคมสงเคราะห์ประจำหน่วยงานที่ทำหน้าที่จ่ายค่าทดแทนให้แก่ลูกจ้าง

Keywords: industry, labour, psychiatry, SCL-90, stress, เครียด,โรงงานอุตสาหกรรม, คนงาน, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ผู้ใช้แรงงาน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2532

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372320000014

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -