ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วีณา ชิยางคบุตร

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของนักเรียนพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของนักเรียนพยาบาล วิทยาลัยพยาบาลกองทัพบก , พ.ศ. 2532

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษา สุขภาพจิตของนักเรียนพยาบาลศึกษาเปรียบเทียบความแตกต่างของสุขภาพจิตของนักเรียนพยาบาลแต่ละชั้นปี ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่าง ๆ กับสุขภาพจิตของนักเรียนพยาบาล และศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตของนักเรียนพยาบาล ประชากรที่ใช้ในการศึกษาเป็นนักเรียนพยาบาลชั้นปีที่ 1-4 ที่กำลังศึกษาในหลักสูตรพยาบาลศาสตร์บัณฑิต ภาคฤดูร้อน ปีการศึกษา 2532 จำนวน 230 คน เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างเองและแบบสอบถามสุขภาพจิต SCL-90 การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS ผลการวิจัยพบว่า 1. สุขภาพจิตของนักเรียนพยาบาลชั้นปีที่ 1-4 จำนวน 230 คน พบว่าคะแนนสุขภาพจิตแต่ละด้าน ได้แก่ สุขภาพจิตด้านความรู้สึกผิดปกติเกี่ยวกับร่างกาย การย้ำคิดย้ำทำ ความรู้สึกบกพร่องหรือความรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย ความรู้สึกซึมเศร้า ความวิตกกังวล พฤติกรรมที่มุ่งร้ายไม่เป็นมิตร ความรู้สึกกลัวโดยไม่มีเหตุผล ความรู้สึกหวาดระแวงและหลงผิด และพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงอาการผิดปกติทางจิต อยู่ในเกณฑ์คนปกติ (T score 40-60) 2. สุขภาพจิตด้านการย้ำคิดย้ำทำ ความรู้สึกกลัวโดยไม่มีเหตุผลและพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงอาการผิดปกติทางจิตของนักเรียนพยาบาลแต่ละชั้นปีที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P ‹ .05) 3. ปัจจัยด้านการเรียน ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง ปัจจัยด้านสังคมและปัจจัยด้านครอบครัว มีความสัมพันธ์เชิงนิมานกับสุขภาพจิตแต่ละด้านของนักเรียนพยาบาลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P < .001) โดยปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเองมีความสัมพันธ์สูงสุดกัยสุขภาพจิตแต่ละด้านของนักเรียนพยาบาล 4. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตแต่ละด้านของนักเรียนพยาบาล พบว่า 4.1 ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง ปัจจัยด้านครอบครัวและปัจจัยด้านสังคม มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตด้านความรู้สึกผิดปกติเกี่ยวกับร่างกาย (R = .19196) 4.2 ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง ปัจจัยด้านครอบครัว มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตด้านการย้ำคิดย้ำทำ (R = .38719) 4.3 ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเองและปัจจัยด้านครอบครัว มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตด้านความรู้สึกบกพร่องหรือความรู้สึกว่าตนเองมีปมด้อย (R = .30255) 4.4 ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเองและปัจจัยด้านครอบครัวและปัจจัยด้านสังคม มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตด้านความรู้สึกซึมเศร้า (R = .28265) 4.5 ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง ปัจจัยด้านการเรียนและปัจจัยด้านครอบครัว มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตความวิตกกังวล (R = .32545) 4.6 ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง ปัจจัยด้านครอบครัวและปัจจัยด้านสังคม มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตด้านพฤติกรรมที่มุ่งร้ายไม่เป็นมิตร (R = .25965) 4.7 ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเองและปัจจัยด้านการเรียน มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตด้านความรู้สึกกลัวโดยไม่มีเหตุผล (R = .15607) 4.8 ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเองและปัจจัยด้านสังคมและปัจจัยด้านครอบครัว มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิตด้านความรู้สึกหวาดระแวงและหลงผิด (R = .27056) 4.9 ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง ปัจจัยด้านครอบครัวและปัจจัยด้านการเรียน มีอิทธิพลต่อสุขภาพจิต ด้านพฤติกรรมที่บ่งชี้ถึงอาการผิดปกติทางจิต (R = .24762) จากผลการวิจัยดังกล่าว ผู้วิจัยได้เสนอแนะการนำผลการวิจัยไปใช้ในการส่งเสริมสุขภาพจิตและการป้องกันปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนพยาบาล โดยเน้นให้ทางวิทยาลัยพยาบาลกองทัพบกเห็นความสำคัญของโครงการอาจารย์ที่ปรึกษา ตลอดจนสมควรให้มีการทดสอบความถนัดทางวิชาชีพและการทดสอบทางจิตวิทยาในการสอบคัดเลือกนักเรียนที่เข้ามาเรียนพยาบาลต่อไป

Keywords: nurse, mental health, สุขภาพจิต, นักศึกษาพยาบาล, พยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2532

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372320000015

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -