ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อำไพ สินสถาพรพงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ของภูมิหลังทางครอบครัวกับสุขภาพจิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในเขตกรุงเทพมหานคร

แหล่งที่มา/Source: เอกสารวิจัยเรื่อง ความสัมพันธ์ของภูมิหลังทางครอบครัวกับสุขภาพจิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในเขตกรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2532

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง “ความสัมพันธ์ของภูมิหลังทางครอบครัวกับสุขภาพจิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในเขตกรุงเทพมหานคร” ครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภูมิหลังทางครอบครัว ภาวะสุขภาพจิตและความสัมพันธ์ของภูมิหลัง ทางครอบครัวกับสุขภาพจิตของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ในเขตกรุงเทพมหานคร กลุ่มตัวอย่างที่ศึกษาเป็นนักเรียนชาย หญิง ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนสหศึกษาที่สังกัดกรมสามัญศึกษา ในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวน 9 โรงเรียน จำนวนนักเรียนทั้งหมด 464 คน เป็นชาย 232 คน เป็นหญิง 232 คน การคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างใช้วิธีการสุ่มตัวอย่าง 2 ชั้น (Two Stages Sampling) การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้แบบสอบถาม ซึ่งแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่สร้างขึ้นเองเพื่อศึกษาภูมิหลังทางครอบครัวของนักเรียน ส่วนที่ 2 เป็นการศึกษาภาวะสุขภาพจิตของนักเรียน โดยใช้แบบสอบถาม The Cornell Medical Index (C.M.I.) ผลการศึกษาพบว่า 1. คะแนนสุขภาพจิตเฉลี่ยของนักเรียน ( x ) = 35.21 ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (S.D.) = 21.76 2. เมื่อประเมินระดับสุขภาพจิตของนักเรียนพบว่า มีนักเรียนที่ได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ปกติ จำนวน 229 คน คิดเป็น 49.4% คิดเป็น 49.4% และมีนักเรียนที่ได้คะแนนอยู่ในเกณฑ์ที่น่าสงสัยว่าจะมีปัญหาสุขภาพจิตควรจะได้รับการตรวจสอบจากจิตแพทย์ จำนวน 235 คน คิดเป็น 50.6% 3. เมื่อพิจารณาการกระจายคะแนนสุขภาพจิตของนักเรียนพบว่าส่วนใหญ่ได้คะแนนค่อนข้างไปทางต่ำ หรือเบนไปทางซ้าย แสดงว่าระดับปัญหาสุขภาพจิตของนักเรียนส่วนใหญ่ยังไม่อยู่ในระดับที่รุนแรง 4. เมื่อเปรียบเทียบคะแนนสุขภาพจิตระหว่างนักเรียนชายกับนักเรียนหญิง พบว่านักเรียนชายมีแนวโน้มสุขภาพจิตดีกว่านักเรียนหญิง 5. จากการศึกษาหาความสัมพันธ์ระหว่างภูมิหลังทางครอบครัวกับสุขภาพจิตของนักเรียน พบว่าภูมิหลังทางครอบครัวที่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ 5.1 โครงสร้างอำนาจการปกครองของครอบครัว 5.2 ความสัมพันธ์ระหว่างบิดา-มารดา 5.3 ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับบิดา-มารดา 5.4 ความสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับพี่น้อง 5.5 การได้รับความรักจากบิดา-มารดา 5.6 ลักษณะการอบรบเลี้ยงดู ส่วนภูมิหลังทางครอบครัวที่พบว่า ไม่มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตของนักเรียนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ได้แก่ อายุ การศึกษา อาชีพ รายได้ และสถานภาพทางการสมรสของบิดา-มารดา ประเภทครอบครัว ขนาดครอบครัว จำนวนพี่น้อง ประเภทผู้ปกครอง ที่นักเรียนอาศัยอยู่ด้วย ลำดับที่การเกิด ภาระหน้าที่ของนักเรียนในครอบครัว จากผลการศึกษามีข้อเสนอแนะว่า กลไกปฏิสัมพันธ์ภายในครอบครัวเป็นองค์ประกอบที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่มีผลต่อสุขภาพจิตของนักเรียนครอบครัวที่มีพ่อแม่รักใคร่กันดี มีความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างพี่น้อง พ่อแม่ให้ความใกล้ชิดสนิทสนมกับลูก พร้อมทั้งให้ความรัก ความอบอุ่น ความเข้าใจ มีความยุติธรรม จะเป็นครอบครัวที่ส่งเสริมให้ลูกมีสุขภาพจิตดี ดังนั้นการทำงานเพื่อส่งเสริมสุขภาพจิตของนักเรียน จะต้องส่งเสริมให้ครอบครัวเป็นครอบครัวที่มีคุณภาพที่จะเอื้อต่อการส่งเสริมสุขภาพจิตของนักเรียน ซึ่งจะต้องทำงานร่วมกันในหลาย ๆ ด้าน ทั้งสถาบันครอบครัวและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

Keywords: CMI, family, psychiatry, stress, เครียด, ครอบครัว, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นักเรียน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2532

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372320000017

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -