ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นงลักษณ์ เอมประดิษฐ์, นัทธี จิตสว่าง

ชื่อเรื่อง/Title: บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์และบริการทางสังคมสงเคราะห์ต่อผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ติดเชื้อโรคเอดส์

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาปัญหาสังคมและจิตใจของผู้ปกครองเด็กป่วยในโรงพยาบาลรามาธิบดี , พ.ศ. 2525

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยเรื่อง “บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์และบริการทางสังคมสงเคราะห์ต่อผู้ป่วยโรคเอดส์และผู้ติดเชื้อโรคเอดส์” มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1. เพื่อศึกษาถึงบทบาทที่ควรจะเป็นของนักสังคมสงเคราะห์ต่อปัญหาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ 2. เพื่อศึกษาถึงบริการทางสังคมสงเคราะห์ที่ควรจะเป็นสำหรับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ 3. เพื่อศึกษาถึงความสนใจของนักสังคมสงเคราะห์ต่อปัญหาสังคมอันเนื่องมาจากโรคเอดส์ การศึกษาครั้งนี้กลุ่มเป้าหมาย คือ 1. นักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ทั้งที่ทำงานเกี่ยวข้องและไม่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์ นักสังคมสงเคราะห์วิชาชีพทั่วไป และนักวิชาการสังคมสงเคราะห์รวมทั้งสิ้น 108 ราย 2. แพทย์ที่ให้การดูแลและบำบัดรักษาผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ หรือทำงานเกี่ยวข้องทั้งสิ้น 36 ราย ผลการศึกษาวิจัย สรุปได้ดังนี้ ก. ข้อมูลจากนักสังคมสงเคราะห์และนักวิชาการฯ ข้อมูลทั่วไป ผู้ตอบแบบสอบถาม 108 ราย แยกเป็นเพศชาย 21 ราย หรือร้อยละ 19.44 และเพศหญิง 87 ราย หรือร้อยละ 80.56 อายุของผู้ตอบแบบสอบถามเฉลี่ย 41 ปี ระยะเวลาปฏิบัติงานในตำแหน่งหน้าที่งานปัจจุบัน ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโรคเอดส์และบริการทางสุขภาพ สังคม อื่นๆ ตลอดจนให้บริการทางการศึกษา เฉลี่ยแล้วเป็นเวลา 11 ปี พบว่านักสังคมสงเคราะห์ที่ทำงานกับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโรคเอดส์มีร้อยละ 28.70 เคยทำงานเกี่ยวข้องกับผู้มีพฤติกรรมเสี่ยงร้อยละ 23.15 ในจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งสองกลุ่มนี้ร้อยละ 33.33 มีความรู้สึกกลัวติดเชื้อร้อยละ 3.33 กลัวติดเชื้อมาก นอกนั้นเฉยๆ กับไม่กลัวติดเชื้อ อย่างไรก็ตามนักสังคมสงเคราะห์ส่วนใหญ่ในภาพรวม ซึ่งรวมทั้งนักวิชาการสังคมสงเคราะห์ด้วยพอใจงานที่ทำหน้าที่อยู่ในปัจจุบัน ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์ นักสังคมสงเคราะห์/นักวิชาการฯ ถึงร้อยละ 74.07 เข้าใจความหมายของโรคเอดส์ถูกต้องในเบื้องต้นกล่าวคือ ตอบว่า “โรคเอดส์เป็นโรคที่เกิดจากระบบภูมิคุ้มกันบกพร่องทำให้ไม่สามารถป้องกันอันตรายจากโรคติดต่ออื่นๆ” อาการสำคัญของโรคเอดส์ตอบตามลำดับคือ น้ำหนักลดอย่างมาก ต่อมน้ำเหลืองโต อุจจาระร่วงเรื้อรัง เป็นต้น สำหรับระยะการขยายตัวของโรคเอดส์ที่ตอบถูกต้องว่ามี 3 ระยะ มีร้อยละ 53.77 วิถีทางสำคัญที่สุดในการติดต่อแพร่เชื้อของโรคเอดส์ส่วนใหญ่ร้อยละ 56.07 ตอบว่าเกิดจาก “รักร่วมเพศ ใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน และการถ่ายเลือด” และกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคนี้ร้อยละ 58.33 ตอบว่ากลุ่มผู้ติดยาเสพติดรองลงมาตอบว่ากลุ่มโสเภณี กลุ่มเกย์ ฯลฯ บทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ต่อโรคเอดส์ ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 34.02 ตอบว่าปัญหาที่ต้องการความช่วยเหลือคือ ปัญหาทางจิตใจ กรณีปัญหาของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ดังกล่าว ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่คิดว่ามีทางช่วยเหลือได้ ด้านบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ในการป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ที่สำคัญที่สุดในลำดับที่ 1 (จาก 3 ลำดับ) มีแยกย่อยออกมาเป็นบทบาทต่างๆ ตามลำดับมาก-น้อย เช่น บทบาทของผู้ให้สุขศึกษาแก่ผู้รับบริการโดยตรง บทบาทของผู้ให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเอดส์แก่บุคคลทั่วไป บทบาทผู้ให้คำปรึกษาแก่ผู้รับบริการโดยตรง ในแต่ละบทบาทจะพบปัญหาอุปสรรคในการทำงานต่างๆ ทั้งในด้านคุณภาพ ความพร้อมของตัวนักสังคมสงเคราะห์เอง ความไม่ร่วมมือของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์เพราะปฏิเสธการป่วยไว้ก่อนในเบื้องต้น ทรัพยากรในการทำงานมีน้อย กรณีบทบาทในการบำบัดรักษาสุขภาพผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ เฉพาะลำดับที่ 1 (จาก 3 ลำดับ) แยกย่อยออกมาได้ดังนี้คือ บทบาทผู้ให้กำลังใจแก่ผู้รับบริการโดยตรง บทบาทผู้ให้คำปรึกษาตามแนวทางการแพทย์และสังคมแก่ผู้รับบริการโดยตรง และบางกลุ่มเป้าหมาย บทบาทของผู้ให้คำปรึกษาและให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องโรคเอดส์แก่คนในครอบครัว และญาติของผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อฯ เป็นต้น ซึ่งบทบาททุกบทบาทต่างก็พบปัญหาอุปสรรคในการทำงาน ทำนองเดียวกับปัญหาบทบาทที่นักสังคมสงเคราะห์พบในการทำงานป้องกันการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ แต่ปัญหาที่พบเพิ่มเติมก็คือ ปัญหาญาติหรือคนในครอบครัวผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ไม่ให้ความร่วมมือ เพราะยังรับปัญหาเอดส์ที่เกิดขึ้นกับคนในครอบครัวไม่ได้และผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อฯ บางรายก็ปิดบังญาติด้วย บทบาทอื่นๆ ที่นักสังคมสงเคราะห์ควรรับไว้ปฏิบัติก็เช่น บทบาทผู้กระตุ้นให้ครอบครัวได้มีส่วนร่วมในการดูแลและแนะนำการปฏิบัติตนของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อฯ บทบาทของผู้ประสานงานระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อฯ บทบาทผู้จัดกิจกรรมในชุมชนเพื่อฟื้นฟูสภาพจิตใจ-สังคมของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อฯ ด้านความจำเป็นของการมีนักสังคมสงเคราะห์ในงานเอดส์ ส่วนใหญ่ตอบว่ามีความจำเป็นตั้งแต่ระดับมาก-ปานกลาง และนักสังคมสงเคราะห์ยังได้รับความยอมรับจากวิชาชีพอื่นในระดับพอสมควร นักสังคมสงเคราะห์ร้อยละ 64.58 เคยอบรมความรู้ด้านเทคนิคการให้คำปรึกษาแก่ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ ร้อยละ 14.81 เคยอบรมความรู้เรื่องกลุ่มบำบัด จุดเด่นของนักสังคมสงเคราะห์ที่พบจากคำตอบงานวิจัยครั้งนี้ คือ ความรู้และทักษะในการเข้าถึงมนุษย์และสังคม ความรู้ด้านการจัดบริการทางสังคม ด้านหลักการสร้างสัมพันธภาพ เทคนิคในการประสานงานเพื่อให้ได้ความร่วมมือจากฝ่าย/หน่วยงานต่างๆ และชุมชน และเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพยากรสนับสนุนต่างๆ ส่วนจุดด้อยของนักสังคมสงเคราะห์ก็คือ การขาดความรู้เรื่องการให้คำปรึกษา (Counselling) ขาดเทคนิคในการให้บริการ ผู้ป่วยศรัทธาแพทย์เพราะบทบาทนักสังคมสงเคราะห์ในบ้านเรายังรองแพทย์อยู่ ข. ข้อมูลจากแพทย์ ข้อมูลทั่วไป แพทย์ที่ตอบแบบสอบถามทั้งสิ้น 36 ราย เป็นเพศชาย 28 ราย หรือร้อยละ 77.78 และเป็นเพศหญิง 8 ราย หรือร้อยละ 22.22 อายุของผู้ตอบแบบสอบถามเฉลี่ย 39 ปี ลักษณะงานที่ทำส่วนใหญ่หรือร้อยละ 55.17 คืองานบำบัดรักษาผู้ป่วยกามโรค ยาเสพติด ซึ่งจัดว่าเป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคเอดส์ ร้อยละ 24.14 ดูแลบำบัดรักษาผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ ทัศนะของแพทย์เกี่ยวกับบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ต่อโรคเอดส์ แพทย์ให้ทัศนะว่าผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์มีปัญหาทางด้านสังคมที่ต้องการความช่วยเหลือจากนักสังคมสงเคราะห์หลายๆ ด้าน เช่น ช่วยผู้ป่วยไม่ต้องตกงาน มีงานทำ มีรายได้เพียงพอ ช่วยให้ครอบครัว/ชุมชนยอมรับผู้ป่วย ครอบครัวผู้ป่วยได้รับความช่วยเหลือ ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับครอบครัวได้ตามปกติ ช่วยแนะนำสถานที่ให้การบำบัดรักษา นอกนั้นเป็นปัญหาทางด้านจิตใจ ปัญหาทางการเงินที่ต้องการได้รับการสนับสนุน ฯลฯ สำหรับบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ในการปฏิบัติต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ และกลุ่มเสี่ยง รองลงมาคือบทบาทผู้ให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์แก่ผู้ป่วย/ครอบครัว/สังคม การจะปฏิบัติงานได้ผลดี ช่วยทุเลาเบาบางปัญหาของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ได้ตามบทบาทดังกล่าว นักสังคมสงเคราะห์ควรได้เพิ่มพูนทักษะบางประการอาทิ เช่น ทักษะการค้นคว้าความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์และระบาดวิทยา ทักษะในการให้คำปรึกษาแนะนำ ทักษะการปรับใช้ความรู้ด้านจิตวิทยาแก่บุคคลและชุมชน ทักษะในการประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทักษะในการสนทนาอย่างใช้ศิลปะ เป็นต้น จุดอ่อนของนักสังคมสงเคราะห์ในการทำงานกับผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ในความเห็นของแพทย์คือ กลัวการติดเชื้อเอดส์ นอกนั้นขาดความรู้เรื่องโรคเอดส์ทำให้ไม่มีความมั่นใจในการทำงานและไม่อาจกระตุ้นให้ผู้ป่วยเข้าใจปัญหาตัวเองได้ มีทัศนคติไม่ดีต่อผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ เป็นต้น แพทย์ยังให้ข้อเสนอแนะเพื่อพัฒนาบทบาทของนักสังคมสงเคราะห์ในด้านจัดบริการทางสังคมสงเคราะห์อย่างเหมาะสม เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ ดังนี้ 1. เผยแพร่บทบาท/ผลงานของนักสังคมสงเคราะห์ต่อสาธารณชนและผู้รับบริการ 2. เพิ่มพูนทักษะในการประสานความร่วมมือแก่หน่วยงาน/องค์กร/บุคลากรหลายๆ ฝ่าย สามารถสรุปผลการศึกษาวิจัยที่ได้รับจากส่วนของนักสังคมสงเคราะห์/นักสังคมสงเคราะห์และแพทย์ บทบาทมีหลายบทบาทที่ทั้งสองกลุ่มตัวอย่างระบุไว้คล้ายๆ กัน เช่น บทบาทผู้ให้คำปรึกษา บทบาทผู้ให้ความรู้ และจากผลคำตอบข้อมูลวิจัยสามารถเป็นแนวทางการจัดบริการทางฝ่ายสังคมสงเคราะห์เพื่อผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ ดังนี้ 1. บริการปรึกษาปัญหาทั้งผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์และครอบครัวของพวกเขา 2. สัมภาษณ์อย่างมีหลักการและให้ความรู้ เช่น สังคมสงเคราะห์กับแพทย์ 3. ให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์รวมทั้งแง่มุมของการรู้จักปรับตน ให้เข้ากับคนในครอบครัวหรือคนอื่นๆ ได้ 4. กลุ่มบำบัดและกิจกรรมบำบัด 5. เลือกสรรใช้-ประสานงานกับทรัพยากรต่างๆ ตั้งแต่ใกล้ตัว (ครอบครัว) จนถึงกับทรัพยากรไกลตัว เพื่อผลดีในการช่วยเหลือผู้ป่วยผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ 6. ประสานงานระหว่างแพทย์กับผู้รับบริการ โดยหวังให้ผู้รับบริการได้รับบริการครบวงจรทั้งทางการแพทย์และสวัสดิการทางสังคม 7. ร่วมมือค้นหาปัญหาความต้องการของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์อยู่เสมอ เพื่อรวบรวม วิเคราะห์และสามารถนำเสนอระดับนโยบายตลอดจนเผยแพร่ข้อมูลสู่สาธารณชนได้ ข้อเสนอแนะของผู้วิจัย นักสังคมสงเคราะห์ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับระบบต่างๆ คือ ระบบดำเนินการ ระบบปัญหาของผู้รับบริการ ระบบผู้รับบริการ และระบบสภาวะแวดล้อม ซึ่งในแต่ละระบบ นักสังคมสงเคราะห์จะมีบทบาทหลากหลาย แต่ผู้วิจัยขอเสนอบทบาทสำคัญๆ ของนักสังคมสงเคราะห์ในภาพรวมดังนี้ 1. บทบาทผู้สัมภาษณ์ 2. บทบาทผู้ให้คำปรึกษา 3. บทบาทนักวางแผนและวิเคราะห์สถานการณ์ 4. บทบาทผู้ให้ความรู้/วิทยาการ 5. บทบาทของผู้ประสานงาน 6. บทบาทผู้ค้นหา-จัดสรรทรัพยากร 7. บทบาทคลังข้อมูล 8. บทบาทผู้เผยแพร่ข้อมูลและประชาสัมพันธ์ 9. บทบาทผู้ refer และรับ refer case 10. บทบาทผู้เตรียมครอบครัว/ชุมชน 11. บทบาทผู้รณรงค์หาทุนและแหล่งพักพิงแก่ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อเอดส์ที่มีปัญหาต้องแยกบ้านจากครอบครัวหรือผู้ไม่มีที่พักอาศัย 12. บทบาทผู้วิจัย 13. บทบาทผู้จัดกิจกรรมเพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพทางจิตใจ-สังคมแก่ผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อโรคเอดส์ 14. บทบาทผู้ศึกษาและชี้นำปัญหาสังคมที่เป็นเหตุและผลกระทบถึงปัญหาเอดส์ 15. บทบาทของผู้แก้ไข-ป้องกันปัญหาพฤติกรรมของครอบครัว-เยาวชนที่เสี่ยงต่อการเป็นเอดส์ทั้งในปัจจุบันและอนาคต 16. ฯลฯ นักสังคมสงเคราะห์มีความสนใจและเห็นความสำคัญในการทำงานเกี่ยวกับโรคเอดส์ในระดับมากพอสมควร และเป็นวิชาชีพที่ได้รับความยอมรับจากสหวิชาชีพว่ามีความจำเป็นในงานควบคุม ป้องกันโรคเอดส์และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบปัญหาด้วยโรคนี้ ฉะนั้นในด้านตัวนักสังคมสงเคราะห์เองจึงต้องพัฒนาค้นหาความรู้ใหม่ๆ ทั้งด้านโรคเอดส์ ระบาดวิทยา เพิ่มพูนทักษะด้านการให้คำปรึกษาแนะนำ การทำกิจกรรมกลุ่ม การเข้าถึงผู้ที่ตกอยู่ในสภาพปัญหาทางจิตใจ-สังคมที่ค่อนข้างวิกฤต ตลอดจนเทคนิคต่างๆ ในการปฏิบัติงานด้านนี้ นอกจากนั้นยังต้องปรับทัศนคติให้เข้าใจ ยอมรับผู้ป่วย ผู้ติดเชื้อและสถานการณ์เกี่ยวกับเอดส์ได้อย่างมั่นคง มีวุฒิภาวะทางอารมณ์ เพื่อจะได้เป็นที่พึ่งพิงและเป็นความหวังความศรัทธาของผู้ป่วย/ผู้ติดเชื้อฯ ด้วยผู้หนึ่ง ประการสำคัญก็คือ เป็นผู้ศึกษาและชี้นำปัญหาสังคมที่เป็นสาเหตุ/ผลกระทบหรือมีอิทธิพลต่อสถานการณ์ปัญหาของโรคเอดส์ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพื่อจะได้นำไปสู่การแก้ไข-ป้องกันเหตุการณ์โรคเอดส์ที่อาจลุกลามได้

Keywords: AIDS, HIV, psychiatry, social, , social welfare, social worker, เอดส์, โรคเอดส์, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นักสังคมสงเคราะห์, , สังคม, สังคมสงเคราะห์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2533

Address: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2533

Code: 372330000001

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -