ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: รัตนา ศิริพานิช

ชื่อเรื่อง/Title: การสร้างแบบสอบวัดความซึมเศร้าทางอารมณ์ของเด็กไทย

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2533

รายละเอียด / Details:

งานวิจัยเรื่องนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างแบบสอบวัดความซึมเศร้าทางอารมณ์ของเด็กไทย โดยต้องการแปลแบบสอบวัดความซึมเศร้าชื่อ Children’s Depression Inventory (CDI.) ของ Maria Kovac Ph.D. นำมาทดลองใช้ (pretest) กับเด็กไทยที่เรียนอยู่ในระดับประถมต้น (ป.3) ประถมปลาย (ป.6) มัธยมศึกษาตอนต้น (ม.2) และมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.6) ในโรงเรียนในกรุงเทพมหานคร และจังหวัดใกล้เคียง (ชลบุรีและปทุมธานี) โดยสร้างแบบสอบวัดที่แปลมานั้นให้ถูกหลักการสร้างแบบสอบวัด คือ ให้มีความเชื่อมั่น (Reliability) และความเที่ยงตรง (Validity) สูงและมีเกณฑ์ปกติ (Norms) เพื่อใช้เป็นตัวเทียบภายหลังได้ด้วย ผลจากการทดลองใช้แบบสอบวัดความซึมเศร้าที่แปลมานั้น ปรากฏว่าคำถามทั้ง 27 ข้อ ใช้ได้ดีทุกข้อ คือ ทุกข้อคำถามสามารถจำแนกผู้เข้ารับการทดสอบที่มีความซึมเศร้าและไม่มีความซึมเศร้าได้ โดยผู้วิจัยใช้ t-test ในการวิเคราะห์ ผลปรากฏว่า t ทั้ง 27 ข้อคำถามมีนัยสำคัญทางสถิติคือทุกข้อแบ่งแยกผู้ที่ได้คะแนนสูงจากแบบสอบวัดความซึมเศร้า ออกจากผู้ที่ได้คะแนนต่ำได้ดี ส่วนค่าความเชื่อมั่นนั้นใช้วิธีการของ Kuder Richardson สูตรที่ 21 และวิธี Alpha Coefficient ปรากฏว่าได้ค่าความเชื่อมั่นประมาณ .8 ซึ่งนับว่าสูงมากสำหรับแบบสอบวัดทางจิตวิทยา การหาค่าความเที่ยงตรงใช้วิธี Known Group Technique คือหาค่า t ระหว่างกลุ่มที่คาดว่าจะมีความซึมเศร้า ได้แก่ กลุ่มเด็กกำพร้าจากสมาคมเด็กกำพร้าแห่งประเทศไทยและกลุ่มเด็กปกติ ผลปรากฏว่าค่า t ที่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 แสดงว่า คะแนนจากแบบสอบวัดนี้แบ่งแยกกลุ่มเด็กปกติ กับกลุ่มเด็กที่คาดว่าจะมีความซึมเศร้า (เด็กกำพร้า) ได้ตามความต้องการ ในเรื่องเกณฑ์ปกติหรือปกติวิสัย (Norms) นั้นผู้วิจัยใช้เกณฑ์ปกติแบบเปอร์เซ็นต์ไทล์ (Percentile Norms) โดยใช้กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด จำนวน 1202 คน เกณฑ์ปกติดังกล่าวแยกตามเพศ อายุ (7-10 ปี, 11-14 ปี, 15-18 ปี และมากกว่า 18 ปีขั้นไป) ระดับชั้น (ป.3, ป.6, ม.2 และ ม.6) และภูมิลำเนา (ใน กทม.และนอก กทม.) นอกเหนือจากการสร้างแบบสอบวัดให้ถูกต้องตามขั้นตอนและหลักการสร้างแบบสอบวัดแล้ว ผู้วิจัยได้นำคะแนนจากการสอบวัดความซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่างมาวิเคราะห์เปรียบเทียบว่า ความแตกต่างทางเพศ ระดับอายุ ระดับชั้นและภูมิลำเนา จะมีผลทำให้คะแนนความซึมเศร้าต่างกันหรือไม่ ปรากฏว่าสิ่งต่างๆ ดังกล่าวไม่เป็นปัจจัยที่จะทำให้คะแนนความซึมเศร้าของกลุ่มตัวอย่างแตกต่างกัน แต่เมื่อนำมาวิเคราะห์โดยดูปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศ x อายุ, เพศ x ภูมิลำเนา, และภูมิลำเนา x ชั้นเรียน ปรากฏว่า ปฏิสัมพันธ์ระหว่างเพศ x อายุและภูมิลำเนา x ชั้นเรียน ค่าที่ได้มีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือในกลุ่มเพศชายระดับอายุตั้งแต่ 15-18 ปี และมากกว่า 18 ปีขึ้นไป จะมีความซึมเศร้าสูงกว่านอก กทม. แต่เมื่อขึ้นชั้นมัธยมศึกษาปรากฏว่า กลุ่มตัวอย่างใน กทม. มีความซึมเศร้าต่ำกว่านอก กทม. ส่วนผลการทดลองใช้แบบสอบวัดความซึมเศร้า เมื่อพิจารณาเป็นรายข้อ โดยจำแนกตามระดับชั้นเรียน (ป.3, ป.6, ม.2 และ ม.6) ปรากฏว่า 7 ข้อแรกที่มีค่าเฉลี่ยจากผลการตอบสูง คือ ข้อ 15, 2, 12, 24, 8, 13 และ 11 นั้นมี 4 ข้อ ที่คำตอบของกลุ่มตัวอย่างต่างระดับชั้นเรียน แสดงว่ามีความซึมเศร้าต่างกัน คือ ข้อ 15, 24, 8 และ 11 ซึ่งผลของการตอบแสดงว่าส่วนใหญ่เด็กวัยประถม โดยเฉพาะประถมต้นมีแนวโน้มที่จะมีระดับความซึมเศร้าน้อยกว่าระดับมัธยม

Keywords: CDI, child, child psychiatry, depress, depression, depressive, เด็ก, เศร้า, จิตเวช, จิตเวชเด็ก, จิตเวชศาสตร์, ซึม, ซึมเศร้า, นักเรียน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2533

Address: สาขาวิชาจิตวิทยา คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372330000004

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -