ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อำไรรัตน์ อักษรพรหม

ชื่อเรื่อง/Title: ความต้องการการเกื้อกูลทางสังคมของผู้ป่วยโรคประสาท โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ความต้องการการเกื้อกูลทางสังคมของผู้ป่วยโรคประสาท โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา , พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

มนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่มีความต้องการจะอยู่ร่วมกัน เพื่อให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างปกติสุข มนุษย์จึงปฏิสัมพันธ์ซึ่งกันและกันในหลายลักษณะจากบุคคลที่เป็นสังคมแวดล้อมการปฏิสัมพันธ์ในลักษณะอาศัยพึ่งพากัน หรือเรียกว่า “การเกื้อกูลทางสังคม” เป็นความสัมพันธ์ที่มีอยู่ในสังคมไทยมาตั้งแต่อดีต ดังนั้น การช่วยเหลือกันจึงเป็นค่านิยมของชาวไทย แต่เมื่อสังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทำให้คนในครอบครัวต้องแยกออกจากกันไปต่างคนต่างทำมาหากิน พ่อแม่ไม่มีเวลาดูลูกตัวเอง คนในชุมชนเดียวกันต่างคนต่างอยู่ไม่สนใจช่วยเหลือกันทำให้ต้องเผชิญปัญหาชีวิตโดยลำพัง ซึ่งจะส่งผลกระทบกระเทือนต่อสุขภาพจิตได้ รวมทั้งมีส่วนทำให้เกิดการเจ็บป่วยโรคประสาทขึ้น องค์การอนามัยโลกได้ทำการสำรวจพบว่า ร้อยละ 80 ของประชากรโลกจะมีอาการของโรคประสาท ซึ่งเป็นโรคทางจิตเวชที่ไม่ร้ายแรง ผู้ป่วยจะสามารถทำงานได้ตามปกติใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นในครอบครัวและสังคมได้ มักพบในคนอายุที่อยู่ในวัยแรงงานซึ่งยังสามารถทำประโยชน์ให้แก่สังคมได้ หากบุคคลที่เป็นสังคมแวดล้อมผู้ป่วยที่เรียกว่า “ เครือข่ายทางสังคม” ให้การเกื้อกูลทางสังคมแก่ผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็นด้านอารมณ์ ข้อมูลวารสาร วัตถุและบริการจะช่วยประคับประคองให้ผู้ป่วยมีสุขภาพจิตดีขึ้น เปรียบเสมือนการบำบัดรักษาผู้ป่วยและฟื้นฟูสุขภาพจิตผู้ป่วยด้วยวิธีการจิตบำบัด นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับหลักการของงานสุขภาพจิตมูลฐาน ที่มุ่งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการพึ่งพาตนเองในการป้องกันบำบัดรักษา ฟื้นฟู และพัฒนาสุขภาพจิตและการเจ็บป่วยทางจิตเวช ด้วยเหตุผลดังกล่าวผู้ศึกษาจึงได้ทำการศึกษาเรื่อง ความต้องการการเกื้อกูลทางสังคมผู้ป่วยโรคประสาทโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาสภาพการเกื้อกูลทางสังคมของผู้ป่วยโรคประสาท ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการได้รับการเกื้อกูลทางสังคมของผู้ป่วยโรคประสาท และความต้องการการเกื้อกูลทางสังคมเพิ่มเติม ตลอดจนความคิดเห็นของผู้ป่วยในการเสริมสร้างการเกื้อกูลทางสังคมในครอบครัวและสังคม และบทบาทหน้าที่ของนักสังคมสงเคราะห์จิตเวชเกี่ยวกับการเสริมสร้างการเกื้อกูลทางสังคมในครอบครัวและสังคมเพื่อจะได้นำมาเป็นแนวทางในการเสริมสร้างการเกื้อกูลทางสังคมแก่ผู้ป่วยต่อไป การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ ผู้ศึกษาสร้างแบบสัมภาษณ์ขึ้นใช้สัมภาษณ์ผู้ป่วยโรคประสาททุกรายที่มาใช้บริการกลุ่มงานผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เป็นครั้งแรก โดยผู้ศึกษาสัมภาษณ์ผู้ป่วยด้วยตนเอง แบบสัมภาษณ์แบ่งเป็น 3 หมวด ได้แก่ หมวดที่ 1ข้อมูลทั่วไปเกี่ยวกับผู้ป่วยโรคประสาท หมวดที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับสภาพการได้รับการเกื้อกูลทางสังคมของผู้ป่วยโรคประสาท หมวดที่ 3 ข้อมูลเกี่ยวกับความคิดเห็นของผู้ป่วยโรคประสาท ในการหาแนวทางจัดหาการเกื้อกูลทางสังคมมาสนองตอบความต้องการต่อไป การวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติร้อยละประกอบการพรรณนาตาราง ผลการศึกษาผู้ป่วยจำนวน 200 ราย เป็นหญิงร้อยละ 68.00 ชาย ร้อยละ 32.00 ส่วนใหญ่อายุระหว่างต่ำกว่า 30-41 ปี มีถิ่นที่อยู่ในกรุงเทพมหานคร จบการศึกษาภาคบังคับอาชีพรับจ้าง นับถือศาสนาพุทธ มีสถานภาพสมรสเป็นคู่ โดยเฉลี่ยแล้วมีจำนวนสมาชิกในครอบครัว 4 คน ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการวินิจฉัยเป็น Anxiety,Obsessive compulsive และ Depression ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีสมาชิกในเครือข่ายทางสังคมเป็นทั้งบุคคลในครอบครัวและนอกครอบครัว มีจำนวนร้อยละ 3.00 ที่ไม่มีสมาชิกเครือข่ายทางสังคมเป็นบุคคลในครอบครัว และร้อยละ 1.00 ที่ไม่มีเครือข่ายทางสังคมในการให้การเกื้อกูลทางสังคม ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีขนาดเครือข่ายทางสังคม จำนวนสมาชิก 5-7 คน โดยเฉลี่ยขนาดสมาชิก 6 คน ความถี่ในการได้รับการเกื้อกูลทางสังคมโดยเฉลี่ย 3 ครั้ง ต่อวันจากบุคคลในครอบครัวและอีก 3 ครั้งต่อวันจากบุคคลนอกครอบครัว รวม 6 ครั้งต่อวัน บุคคลที่เป็นสมาชิกในเครือข่ายทางสังคมส่วนใหญ่เป็นบุคคลในครอบครัว ได้แก่ ผู้เป็นบุตรและคู่สมรสเป็นส่วนใหญ่ ในขณะตอบว่ามีเพื่อนสนิทให้การเกื้อกูลทางสังคมแก่ผู้ป่วยมากกว่าผู้เป็นบิดา ผู้ป่วยได้รับการเกื้อกูลทางสังคมทั้ง 8 ประเภท ได้แก่ ความผูกพันใกล้ชิดสนิทสนมการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม การส่งเสริมให้รู้คุณค่าแห่งตน โอกาสได้โอบอุ้มเลี้ยงดูผู้น้อยความเป็นมิตรที่ดี คำแนะนำชี้แจง การสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร และการสนับสนุนด้านวัตถุและการอำนวยการ โดยส่วนที่ได้รับจากบุคคลในครอบครัว คิดเป็นร้อยละ 70.90 มีผู้ป่วยที่ได้รับปริมาณน้อยมากกว่าผู้ที่ได้รับปริมาณมาก และส่วนที่ได้รับจากบุคคลนอกครอบครัวคิดเป็นร้อยละ 50.80 มีผู้ป่วยส่วนใหญ่ได้รับปริมาณน้อย โอกาสได้โอบอุ้มเลี้ยงดูผู้น้อยเป็นประเภทที่ผู้ป่วยได้รับมากที่สุดจากบุคคลทั้งในครอบครัวและนอกครอบครัว น้อยที่สุดเป็นการสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร ผู้ป่วยเพศหญิงจะได้รับการเกื้อกูลทางสังคมจากบุคคลนอกครอบครัวมากกว่าในครอบครัวในทางกลับกันผู้ป่วยเพศชายจะได้รับจากบุคคลในครอบครัวมากกว่านอกครอบครัว ผู้ป่วยอายุน้อยกว่าจะได้รับมากกว่าผู้ป่วยอายุมากกว่า ผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดเขตเมืองจะได้รับมากกว่าผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัดเขตชนบท ผู้ป่วยที่เป็นหม้ายและหย่าจะได้รับการเกื้อกูลทางสังคมมากที่สุด รองลงมาเป็นผู้ป่วยโสด และผู้ป่วยมีคู่สมรสได้รับน้อยที่สุด ผู้ป่วยที่มาจากครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวทุกขนาดได้รับการเกื้อกูลทางสังคมมากใกล้เคียงกับผู้ป่วยที่มีขนาดเครือข่ายทางสังคมสมาชิกทุกขนาดได้รับการเกื้อกูลทางสังคมมากใกล้เคียงกับผู้ป่วย Depression ได้รับการเกื้อกูลทางสังคมมากกว่าผู้ป่วย Anxiety ส่วนผู้ป่วย Obsessive-Compulsive มีจำนวนน้อยจนไม่สามารถหาความสัมพันธ์ได้ ในส่วนของความต้องการการเกื้อกูลทางสังคม ผู้ป่วยมีความต้องการการเกื้อกูลทางสังคม คิดเป็นร้อยละ 18.80 จากบุคคลในครอบครัว และร้อยละ 7.70 จากบุคคลนอกครอบครัว การเป็นส่วนหนึ่งของสังคมเป็นประเภทที่ผู้ป่วยต้องการมากที่สุด รองลงมาเป็นคำปรึกษาแนะนำ และความเป็นมิตรที่ดี จากทั้งบุคคลในครอบครัวและนอกครอบครัว ผู้ป่วยเพศชายมีความต้องการมากกว่าเพศหญิง ผู้ป่วยอายุน้อยกว่ามีความต้องการจากบุคคลในครอบครัวมากกว่าผู้ป่วยอายุมากกว่า ในขณะที่ผู้ป่วยอายุมากกว่ามีความต้องการจากบุคคลนอกครอบครัวมากกว่า ผู้ป่วยโสดมีความต้องการจากบุคคลในครอบครัวมากกว่าผู้ป่วยที่มีคู่สมรสและผู้ป่วย Anxiety ต้องการการเกื้อกูลทางสังคมมากกว่าผู้ป่วยโรคประสาทประเภทอื่น ผู้ป่วยมีความคิดเห็นว่า สมาชิกในครอบครัวควรปรึกษาหารือกันเมื่อครอบครัวประสบปัญหาและคิดเห็นว่า สมาชิกในสังคมควรมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันมากที่สุด นอกจากนี้ยังคิดเห็นว่า นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชควรมีบทบาทในการเสริมสร้างการเกื้อกูลทางสังคมภายในครอบครัวและในสังคม โดยการแผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับวิธีการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัวและการรณรงค์ให้ประชาชนตระหนักในการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในชุมชนมากที่สุด ผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะให้บุคคลที่เป็นสังคมแวดล้อมผู้ป่วยให้การเกื้อกูลทางสังคมแก่ผู้ป่วยด้วยความเข้าใจและนับถือผู้ป่วย ซึ่งควรจะเกื้อกูลผู้ป่วยตามที่ผู้ป่วยต้องการมาสนองตอบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน และไม่เกินขีดความสามารถที่ผู้นั้นจะเกื้อกูลผู้ป่วยได้นักสังคมสงเคราะห์จิตเวชควรจะส่งเสริมสร้างการเกื้อกูลทางสังคมแก่ผู้ป่วยด้วยการซ่อมแซมเครือข่ายทางสังคมของผู้ป่วยให้มีศักยภาพขึ้น ทำการเฝ้าระวังครอบครัวให้สามารถดำรงสภาพการเกื้อกูลทางสังคมที่พอเหมาะไว้เพื่อป้องกันการเจ็บป่วยทางจิตเวช และใช้เป็นทรัพยากรในการบำบัดรักษาทางจิตเวช ยิ่งไปกว่านั้นนักสังคมสงเคราะห์จิตเวชจะรณรงค์ให้ประชาชนในชุมชนฟื้นฟู การเกื้อกูลทางสังคมให้มีเพิ่มเติม รวมทั้งควรจะมีส่วนร่วมในการวางนโยบายทางสังคมให้บุคคลในครอบครัว และสังคมเกื้อกูลกันมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบันนี้

Keywords: neurosis, neurotic, psychiatry, social, โรคประสาท, , จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372340000033

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -