ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ณัฐวดี ณ มโนรม

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยทางด้านครอบครัวที่เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมแปรปรวนในเด็ก, ศึกษาเฉพาะกรณี หน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ปัจจัยทางด้านครอบครัวที่เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมแปรปรวนในเด็ก, ศึกษาเฉพาะกรณี หน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช, พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง "ปัจจัยทางด้านครอบครัวที่เป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมแปรปรวนในเด็ก (Conduct Disorder):ศึกษาเฉพาะกรณี หน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช” การศึกษาได้วิเคราะห์ประวัติที่เด็กได้รับการเลี้ยงดูมาตั้งแต่แรกเกิดรวมถึงทัศนคติของพ่อแม่และสมาชิกในบ้านที่มีต่อเด็ก บทบาทของพ่อแม่ที่มีต่อเด็ก และประสบการณ์ในชีวิตของพ่อแม่ที่ผ่านในอดีต การศึกษาอย่างมีขั้นตอน และมีความต่อเนื่องกันตามลำดับอายุของเด็ก ได้นำปัจจัยทางด้านร่างกาย, ทางด้านโรงเรียน , ทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม เข้ามาประกอบด้วย แต่การศึกษาได้มุ่งทางด้านครอบครัวเป็นหลักสำคัญ จึงได้ทำการศึกษาอย่างละเอียดในเรื่องนี้ เพราะมีความเห็นว่าครอบครัวเป็นสังคมที่อยู่ใกล้ชิดเด็กมากที่สุด และมีอิทธิพลต่อการเกิดพฤติกรรมแปรปรวนในเด็กได้อย่างมาก จึงศึกษาปัจจัยทางด้านครอบครัวอย่างเจาะลึก กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษา เก็บจากการวิจัยภาคสนามเป็นเวลา 1 ปี ที่หน่วยจิตเวชเด็ก ภาควิชากุมารศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช จำนวน 15 ราย โดยศึกษาแบบกรณีศึกษา และศึกษาแบบเจาะลึก 3 ราย เนื่องจากเด็กทั้ง 3 รายนี้ อยู่ในครอบครัวขยายที่อยู่ภายใต้ภาวะเงื่อนไขทางสังคม และสิ่งแวดล้อมที่คล้ายคลึงกันมาก วิธีการที่ใช้ในการศึกษา คือ วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ ซึ่งใช้การสังเกตอย่างมีส่วนร่วมและไม่มีส่วนร่วม ร่วมกับการสัมภาษณ์เจาะลึกและเยี่ยมบ้าน รวบรวมข้อมูลด้วยการจดบันทึกอย่างละเอียด ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยทางด้านครอบครัวที่เป็นเหตุสำคัญทำให้เด็กเกิดพฤติกรรมแปรปรวนมี 4 ประการ คือ ประการแรกโครงสร้างครอบครัวในลักษณะครอบครัวขยาย จะมีผลทำให้เกิดพฤติกรรมแปรปรวนมากขึ้น เนื่องจากความสัมพันธ์ภายในครอบครัวเหล่านี้มีลักษณะของความขัดแย้งกันสูง ก่อให้เกิดความไม่สงบสุข ผู้ใหญ่มีความก้าวร้าวซึ่งกันและกันเด็กจะได้รับการถ่ายทอดและเลียนแบบพฤติกรรมแปรปรวนจากคนในครอบครัว ครอบครัวที่พบนี้จะขาดความรัก ความเข้าใจ และความอบอุ่นอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังพบว่าครอบครัวขยายที่ทำให้เด็กมีพฤติกรรมแปรปรวนขึ้น ขาดระเบียบวินัยภายในบ้านอย่างมาก เด็กจะไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ถึงสิทธิของแต่ละบุคคล รวมทั้งกฎระเบียบด้วย ประการที่สอง ทัศนคติการเลี้ยงดูของพ่อ แม่ และสมาชิกภายในครอบครัว ที่มีความแตกต่างกัน มีส่วนผลักดันและสนับสนุนให้เด็กมีพฤติกรรมแปรปรวน จากการศึกษาพบทัศนคติในการอบรมเลี้ยงดูแบบไม่สม่ำเสมอและไม่คงที่ได้สูงในทุกครอบครัว พ่อและแม่ใช้วิธีการนี้เป็นจำนวนเท่ากัน การอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ที่พบไล่เลี่ยลงมาคือ การปล่อยปละละเลย การตามใจมาก และการลงโทษอย่างมากหรือรุนแรงตามลำดับ ซึ่งการอบรมเลี้ยงดูตามลักษณะทั้งหมดนี้พบได้ในทุกครอบครัว จึงเป็นเครื่องบ่งชี้ว่าทัศนคติเหล่านี้มีส่วนสำคัญในการเกิดพฤติกรรมแปรปรวน ประการที่สาม บทบาทของสมาชิกคนอื่นในครอบครัวมีอิทธิพลสูง ทำให้บทบาทของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูเด็กน้อยลง เนื่องจากพ่อแม่ส่วนใหญ่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ดังนั้นจึงทำให้บทบาทการเลี้ยงดูเด็กของพ่อแม่เปลี่ยนไป แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าพ่อก็ยังมีบทบาทในการเป็นผู้นำ การตัดสินใจและการลงโทษเด็กเหมือนเดิม ประการสุดท้าย ลักษณะของพฤติกรรมแปรปรวนที่ศึกษามี 4 ลักษณะ คือ พฤติกรรมก้าวร้าวขโมย พูดปดและหนีโรงเรียน เด็กแต่ละรายจะมีอาการร่วมกันอย่างน้อย 3 อย่างพบว่าอาการเหล่านี้เป็นมาเรื้อรังตั้งแต่ 1-8 ปี กว่าที่พ่อแม่จะพารับการตรวจและรักษา การรักษาในเด็กที่มีพฤติกรรมแปรปรวน จะเน้นในเรื่องของการจัดโปรแกรมฝึกอบรมให้ความรู้แก่พ่อแม่ในเรื่องของวิธีการอบรมสั่งสอนเด็ก โดยมุ่งที่การให้รางวัลหรือกระตุ้นให้ทำดี ให้เด็กอยู่ในระเบียบวินัยมากกว่าการลงโทษอย่างรุนแรง และการฝึกให้เด็กรู้จักการแก้ไขปัญหาและหาทางออกของความคับข้องใจในทางที่เหมาะสม ที่สำคัญที่สุด คือ การเพิ่มความเข้มแข็ง ความรัก ความเข้าใจของสมาชิกภายในครอบครัวต่อกันให้มีความสัมพันธ์ต่อกันดี มีวิธีการสื่อความหมายต่อกันอย่างชัดเจน มีการยอมรับในทางที่ดีซึ่งกันและกัน มีการแสดงออกของความรู้สึกนึกคิดที่เหมาะที่ควร การที่ครอบครัวอยู่ด้วยกันด้วยความรัก ความเอาใจใส่ต่อกัน มีคุณธรรมประจำใจ และมีระเบียบวินัยของครอบครัว จะเป็นการช่วยป้องกันการเกิดพฤติกรรมแปรปรวนในเด็กได้อย่างดีที่สุด

Keywords: child, child psychiatry, family, psychiatry, เด็ก, ครอบครัว, จิตเวช, จิตเวชเด็ก, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372340000035

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -