ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พูนพร ศรีสะอาด

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเปรียบเทียบการสนับสนุนทางสังคม ที่มีผลต่อความวิตกกังวลของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 ของวิทยาลัยพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ อุบลราชธานี

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบการสนับสนุนทางสังคม ที่มีผลต่อความวิตกกังวลของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 ของวิทยาลัยพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ อุบลราชธานี, พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงการสนับสนุนทางสังคมและปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อความวิตกกังวลของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 ศึกษาเปรียบเทียบการสนับสนุนทางสังคมของนักศึกษาทั้งสองชั้นปี ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคมกับความวิตกกังวลของนักศึกษาทั้งสองชั้นปี และเปรียบเทียบความแตกต่างของการสนับสนุนทางสังคมในกลุ่มปฐมภูมิและกลุ่มทุติยภูมิในนักศึกษาทั้งสองชั้นปี ที่กำลังศึกษาในหลักสูตรประกาศนียบัตรพยาบาลศาสตร์ ปีการศึกษา 2534 ทุกคน นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 จำนวน 102 คน ชั้นปีที่ 4 จำนวน 98 คน เป็นนักศึกษาทั้งเพศชายและเพศหญิง เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างเอง การวิเคราะห์ข้อมูลด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป SPSS ผลการวิจัยพบว่า 1. ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความวิตกกังวลของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 ได้แก่ด้านการเรียน ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง ปัจจัยด้านสังคม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม และปัจจัยด้านครอบครัว ตามลำดับ เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของปัจจัยทุกๆ ด้านดังกล่าวมาแล้วของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 พบว่า ปัจจัยด้านการเรียน ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจัยด้านความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับตนเอง ปัจจัยด้านสังคม มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนปัจจัยด้านครอบครัวมีความแตกต่างอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 2. ศึกษาการสนับสนุนทางสังคมและปัจจัยอื่น ๆ ที่มีผลต่อความวิตกกังวลของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 ได้ผลดังนี้ 2.1 การสนับสนุนทางสังคมจากกลุ่มปฐมภูมิและกลุ่มทุติยภูมิ มีผลเชิงนิเสธกับความวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 2.2 ปัจจัยอื่น ๆ พบว่า เหตุผลสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจเลือกเรียนพยาบาลที่แตกต่างกัน และค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่นักศึกษาได้รับแตกต่างกัน มีผลแตกต่างกันต่อความวิตกกังวลของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 พบว่า ช่วงอายุที่แตกต่างกันมีผลแตกต่างกันต่อความวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 3. เปรียบเทียบความวิตกกังวลของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 พบว่านักศึกษาพยาบาลปีที่ 1 มีระดับความวิตกกังวลสูงกว่านักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 มีความแตกต่างกันของค่าเฉลี่ยอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4 .เปรียบเทียบการสนับสนุนทางสังคมของนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 พบว่า มีความแตกต่างของการสนับสนุนทางสังคม ในนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ หรือนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 ได้รับการสนับสนุนทางสังคม มากกว่านักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติหรือมีความแตกต่างเพียงเล็กน้อย อย่างไม่มีค่าความเชื่อมั่นทางสถิติ 5. เปรียบเทียบความแตกต่างของการสนับสนุนทางสังคมในกลุ่มปฐมภูมิและกลุ่มทุติยภูมิในนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 พบว่า การสนับสนุนทางสังคมที่ได้รับจากกลุ่มปฐมภูมิ นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1ด้รับการสนับสนุนทางสังคมมากกว่านักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 อย่างไม่มีค่านัยสำคัญทางสถิติ และการสนับสนุนทางสังคมที่ได้รับจากกลุ่มทุติยภูมิ นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 ไดรับการสนับสนุนทางสังคมมากกว่านักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 อย่างไม่มีค่านัยสำคัญทางสถิติ หรือมีความแตกต่างของค่าเฉลี่ยเพียงเล็กน้อย อย่างไม่มีค่าความเชื่อมั่นทางสถิติ ส่วนการเปรียบเทียบการสนับสนุนทางสังคมระหว่างปฐมภูมิกับกลุ่มทุติยภูมิในนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่ 4 พบว่า นักศึกษาพยาบาลทั้งสองชั้นปีได้รับการสนับสนุนทางสังคมจากกลุ่มปฐมภูมิมากกว่าทุติยภูมิ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 6. ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ อายุ เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเรียนพยาบาล ภูมิลำเนา สมาชิกครอบครัว รายได้ต่อเดือนของบิดามารดา ค่าใช้จ่ายต่อเดือน ของนักศึกษาพยาบาลกับการสนับสนุนทางสังคมของนักศึกษาชั้นปีที่ 1 และชั้นปีที่4 ได้ผลดังนี้คือ 6.1 กลุ่มปฐมภูมิ พบว่า ลักษณะของครอบครัวที่มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่แตกต่างกัน มีผลแตกต่างกันต่อการสนับสนุนทางสังคมจากกลุ่มปฐมภูมิอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 และพบว่าค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่แตกต่างกันที่นักศึกษาได้รับมีผลแตกต่างกันต่อการสนับสนุนทางสังคมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 6.2 กลุ่มทุติยภูมิ พบว่า ในนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 ที่มีภูมิลำเนาที่แตกต่างกันมีผลแตกต่างกันต่อการสนับสนุนทางสังคมจากกลุ่มทุติยภูมิอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ส่วนนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 พบว่า ความแตกต่างกันของปัจจัยอื่น ๆ มีผลไม่แตกต่างกันต่อการสนับสนุนทางสังคมอย่างไม่มีค่านัยสำคัญทางสถิติ 7. ศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคมกับความวิตกกังวลของนักศึกษาทั้งสองชั้นปี พบว่า นักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 มีความสัมพันธ์เชิงนิมานในระดับต่ำกับความวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4 พบว่า มีความสัมพันธ์เชิงนิมานในระดับปานกลางกับความวิตกกังวล อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 8. ค่าใช้จ่ายต่อเดือนของนักศึกษา เหตุผลที่ตัดสินใจเลือกเรียนพยาบาลการสนับสนุนทางสังคม ลักษณะของครอบครัว รายได้ต่อเดือนของครอบครัว อายุ สามารถอธิบายการผันแปรของคะแนนความวิตกกังวลได้ร้อยละ 25.5 และมีความสัมพันธ์กับคะแนนวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 1 9. การสนับสนุนทางสังคม ลักษณะครอบครัว อายุ เหตุผลที่สำคัญที่ตัดสินใจเลือกเรียนพยาบาล ภูมิลำเนา ค่าใช้จ่ายต่อเดือนที่นักศึกษาได้รับ รายได้ต่อเดือนของบิดามารดาสามารถอธิบายการผันแปรของคะแนนความวิตกกังวล ได้ร้อยละ 34.1 และมีความสัมพันธ์กับคะแนนความวิตกกังวลอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในนักศึกษาพยาบาลชั้นปีที่ 4

Keywords: anxiety, nurse, psychiatry, social, stress, เครียด, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นักศึกษา, พยาบาล, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372340000036

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -