ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ฐิติมา สุริยาพันธ์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม อารมณ์จิตใจที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ รวมทั้งศึกษาความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์เกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ โดยกลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษามี 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มารับบริการ ณ หน่วยต่อมไร้ท่อ สาขาอายุรกรรมวชิรพยาบาล จำนวน 100 ราย กลุ่มที่ 2 บุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการทั้งทางด้านสุขภาพอนามัย เศรษฐกิจ สังคม อารมณ์ จิตใจ แก่ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่มารับบริการ ณ หน่วยต่อมไร้ท่อ สาขาอายุรกรรม วชิรพยาบาล ซึ่งบุคลากรทางการแพทย์ดังกล่าว ได้แก่ แพทย์และพยาบาลประจำหน่วยต่อมไร้ท่อ จำนวน 3 และ 2 อัตรา ตามลำดับ นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ จำนวน 1 อัตรา และนักสังคมสงเคราะห์ จำนวน 6 อัตรา รวมทั้งสิ้น 12 อัตรา การเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือแบบสอบถามแบ่งออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 เป็นแบบสอบถามที่ใช้สัมภาษณ์ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ ส่วนที่ 2 เป็นแบบสอบถามที่ใช้สัมภาษณ์บุคลากรทางการแพทย์ การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้วิธีการทางสถิติในการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน การวิเคราะห์ ความแปรปรวนทางเดียวเพื่อทดสอบสมมุติฐานที่ระดับนัยสำคัญ .05 และการทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีของ Scheffe ผลการศึกษาสรุปได้ดังนี้ 1. การศึกษาการยอมรับตนเอง สัมพันธภาพในครอบครัวการสนับสนุนทางสังคม และพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ โดยเฉลี่ยมีสัมพันธภาพในครอบครัวอยู่ในระดับสูง การยอมรับตนเองและพฤติกรรมการเผชิญ ภาวะเครียดอยู่ในระดับปานกลาง โดยมักจะนิยมใช้พฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในรูปของการแก้ไขตามปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นอันดับแรก การใช้กลไกป้องกันทางจิตเป็นอันดับที่สอง และการแก้ไขอารมณ์ที่เป็นทุกข์เป็นอันดับสุดท้าย ส่วนการสนับสนุนทางสังคมนั้น พบว่าผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ ส่วนใหญ่มักจะได้รับการสนับสนุนทางสังคมน้อย 2. การศึกษาปัจจัยต่าง ๆ ทั้งทางด้านประชากร เศรษฐกิจ สังคม อารมณ์ จิตใจที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ มีดังนี้ 2.1 ปัจจัยทางด้านประชากร ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา และระยะเวลาในการเจ็บป่วย ไม่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ 2.2 ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ คือ รายได้ มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ 2.3 ปัจจัยทางด้านสังคม อารมณ์ จิตใจ ได้แก่ การยอมรับตนเอง สัมพันธภาพในครอบครัว และการสนับสนุนทางสังคมนั้นต่างมีอิทธพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ โดยผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่มีการยอมรับตนเองอยู่ในระดับสูง จะมีพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดดีกว่า ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่มีการยอมรับตนเองอยู่ในระดับต่ำ ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่มีสัมพันธภาพในครอบครัวอยู่ในระดับสูง จะมีพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดได้ดีกว่าผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่มีสัมพันธภาพในครอบครัวอยู่ในระดับปานกลางส่วนผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมปานกลางและมากจะมีพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดได้ดีกว่าผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุที่ได้รับการสนับสนุนทางสังคมน้อย 3. ความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์ที่ให้บริการแก่ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุเกี่ยวกับปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ พบว่า ปัจจัยทางด้านประชากร ได้แก่ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา ระยะเวลาในการเจ็บป่วย ปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจ คือ รายได้ ส่วนปัจจัยทางด้านสังคม อารมณ์ จิตใจ ได้แก่ สัมพันธภาพในครอบครัวและการสนับสนุนทางสังคม 4. บุคลากรทางการแพทย์ทั้งแแพทย์ พยาบาล นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ และนักสังคมสงเคราะห์ที่ให้บริการด้านต่าง ๆ แก่ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ในปัจจุบันที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุสามารถเผชิญภาวะเครียดได้ดีขึ้นโดยเรียงตามลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย ดังนี้ อันดับที่หนึ่ง การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคเบาหวานและการปฏิบัติตนแก่ผู้ป่วย อันดับที่สอง การให้คำปรึกษาแนะนำแก่ผู้ป่วยและการสร้างความเข้าใจแก่ญาติผู้ป่วยได้รับการจัดให้เป็นบทบาทหน้าที่ในปัจจุบันของบุคลากรทางการแทพย์ ซึ่งมีความสำคัญ อยู่ในลำดับเดียวกัน และอันดับที่สาม การให้กำลังใจแก่ผู้ป่วย 5. บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ และนักสังคมสงเคราะห์ที่ให้บริการด้าน ต่าง ๆ แก่ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ มีความคิดเห็นเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ที่คาดหวังที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุสามารถเผชิญภาวะเครียดได้ดีขึ้นโดยเรียงตามลำดับความสำคัญจากมากไปหาน้อย ดังนี้ อันดับที่หนึ่ง การขยายบทบาทการปฏิบัติงานทั้งทางด้านการป้องกัน การบำบัดรักษาหรือการแก้ไขปัญหา ตลอดจนการฟื้นฟูและพัฒนาสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุจากโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน อันดับที่สอง การจัดกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุเพื่อศึกษาปัญหาตลอดจนให้ความรู้ด้านต่าง ๆ แก่ผู้ป่วย และอันดับที่สามการจัดกลุ่มญาติผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ เพื่อศึกษาปัญหาของผู้ป่วยและครอบครัว ตลอดจนให้ความรู้ด้านต่าง ๆ แก่ญาติผู้ป่วย 6. บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ และนักสังคมสงเคราะห์ที่ให้บริการด้านต่าง ๆ แก่ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุมีความคิดเห็นเกี่ยวกับข้อจำกัดต่าง ๆ ที่ทำให้ไม่อาจดำเนินบทบาทหน้าที่ตามที่คาดหวังไว้ มีดังนี้ จำนวนบุคลากรไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนผู้ป่วย งานประจำมีปริมาณมากเกินไป และสถานที่คับแคบ 7. บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ และนักสังคมสงเคราะห์ที่ให้บริการด้านต่าง ๆ แก่ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุมีความคิดเห็นเกี่ยวกับบุคลากรวิชาชีพต่าง ๆ ที่ควรมีบทบาทหน้าที่เพื่อให้ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุสามารถเผชิญภาวะเครียดได้ดีขึ้น โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้แพทย์ พยาบาล นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ และนักสังคมสงเคราะห์ได้รับการจัดให้เป็นบุคลากรทางการแพทย์ที่มีความสำคัญในลำดับเดียวกัน และนักโภชนาการ ได้รับการจัดให้มีความสำคัญอยู่ในลำดับสุดท้าย 8. บุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ พยาบาล นักวิชาการส่งเสริมสุขภาพ และนักสังคมสงเคราะห์มีความเห็นว่า ยังมีบุคคลหรือหน่วยอื่นในสังคมที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุสามารถเผชิญภาวะเครียดได้ โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ดังนี้ ญาติ เพื่อน สื่อมวลชน และผู้ป่วยโรคเดียวกันได้รับการจัดให้มีความสำคัญอยู่ในลำดับเดียวกัน ส่วนลำดับสุดท้าย คือ บุคคลที่ผู้ป่วยให้ความเคารพนับถือ เช่น ญาติผู้ใหญ่ ฯลฯ จากผลการศึกษาครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า นักสังคมสงเคราะห์ควรคำนึงถึงความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับลักษณะพื้นฐานของผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุให้มากขึ้นกว่าเดิม ทั้งในด้านพัฒนาการตามวัยซึ่งเสื่อมลง มีการเปลี่ยนแปลงทางกาย จิต สังคม และลักษณะการเจ็บป่วย จะช่วยให้นักสังคมสงเคราะห์ยอมรับสภาพของผู้ป่วยในสภาวะการณ์ที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ (Person insituation) ท่าทียอมรับและแสดงออกถึงความเข้าใจ จริงใจของนักสังคมสงเคราะห์จะช่วยให้ผู้ป่วยเกิดความรู้สึกอบอุ่นใจขึ้น ผ่อนคลายความตึงเครียดทางอารมณ์ จิตใจ ให้ทุเลาเบาบางลง มีความมั่นใจในตนเองมากขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ป่วยในการพัฒนาศักยภาพเพื่อช่วยเหลือตนเองให้มีพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดได้ดีชึ้น นอกจากนี้นักสังคมสงเคราะห์ควรมีการพัฒนาความรู้ความเข้าใจในศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งทางสังคมสงเคราะห์และศาสตร์อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนนโยบายและข้อจำกัดของหน่วยงาน รวมทั้งมีทัศนคติที่ดีต่อวิชาชีพ และมีทักษะในการทำงานซึ่งทักษะในการทำงานให้เกิด ประสิทธิภาพนั้นนักสังคมสงเคราะห์ควรปรับใช้วิธีการต่าง ๆ ทางสังคมสงเคราะห์ ทั้งวิธีการสังคมสงเคราะห์เฉพาะราย สังคมสงเคราะห์กลุ่ม หรือสังคมสงเคราะห์ชุมชน วิธีการใดวิธีการหนึ่งหรือหลายวิธีการผสมผสานกันในลักษณะ Integrated Social Work Methods และต้องมีใจกว้างพอที่จะยอมรับฟังความคิดเห็นของบุคลากรทางการแพทย์วิชาชีพอื่น มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างนักสังคมสงเคราะห์ด้วยกัน หรือบุคลากรวิชาชีพอื่น ๆ ด้วย ในด้านปัจจัยต่าง ๆ ที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุนั้นพบว่า ปัจจัยด้านรายได้การยอมรับตนเอง สัมพันธภาพในครอบครัว และการสนับสนุนทางสังคมเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดได้อย่างเหมาะสมนั้น นักสังคมสงเคราะห์ควรทำหน้าที่เผยแพร่ความรู้และให้การศึกษา (Educator) ในเรื่องนี้แก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุและครอบครัวตลอดจนประชาชนในชุมชน ซึ่งสามารถดำเนินการได้ในหลายรูปแบบ นักสังคมสงเคราะห์สามารถแสดงบทบาทเป็นผู้ส่งเสริมสนับสนุน (Promotor and Supportor) ให้ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุได้รับปัจจัยในด้านรายได้ การยอมรับตนเอง สัมพันธภาพในครอบครัว และการสนับสนุนทางสังคม โดยรวบรวมและให้ข้อมูลข่าวสารงานอาชีพ และงานบริการสังคมต่าง ๆ จากทรัพยากรทั้งในและนอกชุมชน ในด้านบทบาทที่คาดหวังของบุคลากรทางการแพทย์ที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุสามารถเผชิญภาวะเครียดได้ดีขึ้น บุคลากรทางการแพทย์มีความคิดเห็นตรงกันว่า การขยายบทบาทหน้าที่ในด้านการป้องกันบำบัดรักษาหรือแก้ไขปัญหา ฟื้นฟูสมรรถภาพ และพัฒนาผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุจากโรงพยาบาลไปสู่ชุมชน จัดเป็นบทบาทที่คาดหวังลำดับแรก รองลงมา ได้แก่ การจัดกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ และการจัดกลุ่มญาติผู้ป่วย ตามลำดับ ซึ่งบทบาทดังกล่าวอยู่ในวิสัยที่บุคลากรทางการแพทย์จะกระทำได้โดยนักสังคมสงเคราะห์ควรมีบทบาทเป็นผู้บริหารงานและวางแผน (Administrater and planner) นำเสนอผลการศึกษาครั้งนี้สู่ผู้บริหารในลักษณะของโครงการ ซึ่งงานจะบรรลุเป้าหมายได้ด้วยความร่วมมือของบุคลากรทางการแพทย์ต่าง ๆ ในรูปของสหวิชาชีพ (Interdisciplinary) เป็นทีมสุขภาพและในการปฏิบัติงานในชุมชนนั้นทีมสุขภาพจากโรงพยาบาลควรประสานงานกับเจ้าหน้าที่อื่น ในชุมชน และผู้นำในชุมชนด้วย ในด้านบุคคลและหน่วยอื่นในสังคมที่มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุสามารถเผชิญภาวะเครียดได้ดีขึ้นนั้น บุคลากรทางการแพทย์มีความคิดเห็นว่า ญาติ เพื่อนสื่อมวลชน ผู้ป่วยและบุคคลที่ผู้ป่วยให้ความเคารพนับถือนั้น มีส่วนช่วยให้ผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุสามารถเผชิญภาวะเครียดได้ดีขึ้น ซึ่งนักสังคมสงเคราะห์สามารถมีบทบาทหน้าที่เป็นผู้ประสานงาน (Co-ordinator) จัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อให้บุคคลหรือหน่วยอื่นในสังคมตระหนักในความสำคัญของตนต่อพฤติกรรมการเผชิญภาวะเครียดในผู้ป่วยเบาหวานสูงอายุ

Keywords: geriatrics, psychiatry, stress, เครียด, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นักศึกษา, ผู้สูงอายุ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372340000037

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -