ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ภัทรพงศ์ ประกอบผล

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรม การเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรม การเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง "ความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรม การเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยเรื้อรัง และปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการเผชิญความเครียดและการสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาคือ ผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของหัวใจ ปอด และไตเรื้อรัง ซึ่งถูกรับไว้ทำการรักษา ณ แผนกอายุรศาสตร์สามัญ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล รวม 8 หอผู้ป่วยระหว่างเดือนธันวาคม 2534 ถึง มกราคม 2535 จำนวน 90 ราย การเก็บรวบรวมข้อมูลใช้วิธีสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถามเป็นเครื่องมือ แบบสอบถามประกอบด้วย 3 หมวด คือแบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แบบวัดพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และแบบวัดการสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง การวิเคราะห์ข้อมูลทำโดยใช้วิธีการทางสถิติ คือ การหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสัมประสิทธิ์ สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson Product moment correlation coefficient) การทดสอบหาค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ( One way analysis of varience) และการทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีของตูกี โดยทดสอบความมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95% ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พบว่า 1.1 ปัจจัยด้านเพศไม่มีผลต่อพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 1.2 ปัจจัยด้านลักษณะครอบครัวมีผลต่อพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในครอบครัวขยายมีพฤติกรรมการเผชิญความเครียดดีกว่าผู้ป่วยในครอบครัวเดี่ยว 1.3 ปัจจัยด้านอายุมีผลต่อพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้ป่วยอายุ 40-60 ปี มีพฤติกรรมการเผชิญความเครียดดีกว่าผู้ป่วยอายุ 20-25 ปี 1.4 ปัจจัยด้านสถานภาพสมรสไม่มีผลต่อพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 1.5 ปัจจัยด้านการศึกษามีผลต่อพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้ป่วยที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษามีพฤติกรรมการเผชิญความเครียดดีกว่าผู้ป่วยที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา และไม่ได้รับการศึกษา 1.6 ปัจจัยด้านรายได้ไม่มีผลต่อพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 1.7 ปัจจัยด้านระยะเวลาในการเจ็บป่วยไม่มีผลต่อพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2. ปัจจัยที่มีผลต่อการสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พบว่า 2.1 ปัจจัยด้านเพศไม่มีผลต่อการได้รับการสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 2.2 ปัจจัยด้านลักษณะครอบครัวมีผลต่อการได้รับการสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้ป่วยที่อาศัยอยู่ในครอบครัวขยาย ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากกว่าผู้ป่วยในครอบครัวเดี่ยว 2.2 ปัจจัยด้านอายุมีผลต่อการได้รับการสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้ป่วยที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากกว่าผู้ป่วยอายุ 26—35ปี และ36-45 ปี 2.3 ปัจจัยด้านสถานภาพสมรสมีผลต่อาการได้รับการสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้ป่วยสถานภาพสมรสคู่ ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากกว่าผู้ป่วยสถานภาพสมรสหม้าย หย่า หรือแยกกันอยู่ 2.4 ปัจจัยด้านการศึกษามีผลต่อการได้รับการสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้ป่วยที่มีการศึกษาระดับอุดมศึกษา ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากกว่าผู้ป่วยที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษาและผู้ป่วยที่ไม่ได้รับการศึกษา 2.5 ปัจจัยด้านรายได้ของครอบครัวมีผลต่อการได้รับการสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้ป่วยที่มีรายได้มากกว่า 8,000 บาทต่อเดือน ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากกว่าผู้ป่วยที่มีรายได้ของครอบครัวต่ำกว่า 2,000 บาท และ 2,001-4,000 บาทต่อเดือน และผู้ป่วยที่มีรายได้ของครอบครัว 6,001-8,000 บาทต่อเดือน ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากกว่าผู้ป่วยที่มีรายได้ต่ำกว่า 2,000 บาทต่อเดือน 2.6 ปัจจัยด้านระยะเวลาในการเจ็บป่วยมีผลต่อการได้รับการสนับสนุนทางสังคมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยผู้ป่วยที่มีระยะเวลาในการเจ็บป่วย 3 เดือน-1ปี ได้รับการสนับสนุนทางสังคมมากกว่าผู้ป่วยที่เจ็บป่วยมานาน 4 ปีขึ้นไป และมากกว่า 5 ปีขึ้นไป 3. ความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคมกับพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง พบว่า การสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรังอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r=0.4655) จากผลการศึกษาครั้งนี้ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของปัจจัยพื้นฐานที่มีผลต่อพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ดังนั้นในการในการให้บริการแก่ผู้ป่วยโรคเรื้อรังและครอบครัวนั้น นักสังคมสงเคราะห์ควรตระหนักถึงปัจจัยพื้นฐานที่มีความสำคัญหรือมีอิทธิพลต่อพฤติกรรมการเผชิญความเครียดของผู้ป่วยแต่ละคน ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา และลักษณะครอบครัวที่ผู้ป่วยอาศัยอยู่ เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวเป็นตัวแปรที่จะกำหนดทิศทางของพฤติกรรมการเผชิญความเครียดให้มีรูปแบบต่างกัน ดังนั้นการจัดบริการให้กับผู้ป่วยแต่ละราย จึงควรคำนึงถึงความเหมาะสมกับปัจจัยพื้นฐานที่ต่างกันของผู้ป่วยด้วย นอกจากนี้ นักสังคมสงเคราะห์และบุคลากรในทีมสุขภาพควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงสร้างเครือข่ายทางสังคมของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และนำกลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วย เข้ามามีส่วนร่วมในการให้บริการโดยให้คำแนะนำหรือจัดอบรมแก่กลุ่มบุคคลในเครือข่ายทางสังคมของผู้ป่วย เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเองในการช่วยเหลือผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เช่น จัดกิจกรรมให้ความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและการรับรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการดูแล ช่วยเหลือ และประคับประคองผู้ป่วยในด้านต่าง ๆ โดยนักสังคมสงเคราะห์จะประสานงานกับฝ่ายการรักษาเพื่อให้ความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับโรค และแผนการรักษา เพื่อทำให้กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วย ลดความหวาดกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ หรือลดความกลัวในสิ่งที่ไม่รู้ หรือลดความกลัวในสิ่งที่คลาดเคลื่อนไปจากความจริง ซึ่งจะยังผลให้เกิดความเข้าใจและการรับรู้ที่ตรงกันในอันที่จะดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป นอกจากนี้ นักสังคมสงเคราะห์ทำหน้าที่เป็นสื่อกลางในการประสานความเข้าใจระหว่างผู้ป่วย และบุคคลในเครือข่ายทางสังคมของผู้ป่วยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ป่วย ควรจะสนับสนุนให้กลุ่มสนับสนุนทางสังคมเหล่านี้สามารถช่วยเหลือดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ นักสังคมสงเคราะห์อาจทำหน้าที่ในการประสานงานกับแหล่งทรัพยากรในชุมชน เช่น โรงพยาบาลชุมชน สถานีอนามัย หรือศูนย์บริการสาธารณสุขต่าง ๆ สนับสนุนปัจจัยที่จะเอื้อประโยชน์ต่อการดูแลผู้ป่วย ซึ่งอาจเป็นในลักษณะของการสนับสนุนด้านข้อมูล ข่าวสาร ความรู้ สื่อในรูปแบบต่าง ๆ หรือการให้ความช่วยเหลือ คำปรึกษา แนะนำ เป็นต้น รวมไปถึงการสนับสนุนในด้านการยอมรับและเห็นคุณค่าในสิ่งที่เขาปฏิบัติอยู่ เพื่อที่ทำให้เขามีกำลังที่จะดูแลผู้ป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

Keywords: psychiatry, social, stress, เครียด, ความเครียด, , จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372340000038

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -