ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พรวนา เตียวศิริทรัพย์

ชื่อเรื่อง/Title: การอบรมเลี้ยงดูบุตรก่อนวัยเรียนของมารดาที่ทำงานในสถานีโทรทัศน์

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การอบรมเลี้ยงดูบุตรก่อนวัยเรียนของมารดาที่ทำงานในสถานีโทรทัศน์,พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง”วิธีการอบรมเลี้ยงดูบุตรก่อนวัยเรียนของมารดาที่ทำงานในสถานีโทรทัศน์” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาวิธีการอบรมเลี้ยงดูบุตรก่อนวัยเรียน โดยเน้นในเรื่องการปลูกฝังพฤติกรรมการกินและการให้ความรักของมารดาที่ทำงานในสถานีโทรทัศน์ ตลอดจนสาเหตุปัจจัยที่สำคัญ ซึ่งเกี่ยวข้องกับวิธีการดังกล่าว การศึกษาเรื่องนี้เป็นการศึกษาแบบเฉพาะเจาะจง (PURPOSIVE STYDY) โดยศึกษาจากแบบสอบถามประกอบการสัมภาษณ์ด้วยตนเอง กับกลุ่มประชากรทุกราย ซึ่งเป็นมารดาที่กำลังมีบุตรอายุ 0-5 ปี และทำงานอยู่ในสถานีโทรทัศน์เขตกรุงเทพมหานคร รวมทั้งสิ้น 53 ราย และวิเคราะห์ข้อมูลโดยค่าสถิติพื้นฐานคือ ร้อยละ ประกอบกับคำตอบอิสระจากคำถามปลายเปิด ผลการศึกษา พบว่ามารดาที่ทำงานในสถานีโทรทัศน์และบิดาส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร และพักอาศัยอยู่บ้านที่อยู่ปัจจุบันเป็นเวลามากกว่า 5 ปี มีสถานภาพสมรสที่มั่นคงคืออยู่ด้วยกันเกือบทั้งหมด (ร้อยละ 94.3) บิดามารดาเหล่านี้ส่วนใหญ่มีอายุในช่วง 31-40 ปี (ร้อยละ 75.5) ขณะมารดาตั้งครรภ์คนแรกในช่วงอายุ 26-35 ปี เป็นส่วนมาก (ร้อยละ 81.1) และตั้งครรภ์บุตรคนสุดท้องในช่วงอายุ 26-35 ปี (ร้อยละ 75.0) อย่างไรก็ตามส่วนใหญ่ยังคงมีบุตรเพียงคนเดียว (ร้อยละ 54.7) จากจำนวนบุตรก่อนวัยเรียนทั้งหมด 62 คน ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 0-2 ปี 29 คน และอายุ 2-5 ปี 33 คน และทั้ง 62 คนนี้อยู่ในภาวะโภชนาการเกินกว่าปกติ (ร้อยละ 64.5) เมื่อเปรียบเทียบน้ำหนักอายุหรือคิดเป็นร้อยละ 46.8 เมือเทียบส่วนสูงตามอายุ มารดาและบิดาส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ (ร้อยละ 94.3 และร้อยละ 96.2 ตามลำดับ) และจบการศึกษาในระดับปริญญาตรี โดยบิดาทำงานในบริษัทเอกชน ส่วนมารดาทำงานในสถานีโทรทัศน์เป็นเวลามากกว่า 5 ปีแล้ว สำหรับข้อมูลด้านปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่สำคัญ คือ สัมพันธภาพในครอบครัวพบว่า มารดาและบิดาขัดแย้งกันอย่างรุนแรง 1-2 ครั้ง ต่อปี (ร้อยละ 43.4) และอย่างไรก็ตามหากมารดาเกิดความเครียดก็มักจะปรึกษาสามี (ร้อยละ 73.6) ส่วนสัมพันธภาพกับเพื่อนบ้านนั้นมีมาก (ร้อยละ 96.2) โดยมีการพบปะพูดคุย ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือปัจจัยทางเศรษฐกิจพบว่าครอบครัวส่วนใหญ่ มีรายได้ในเกณฑ์เฉลี่ยที่ดีมาก คือ 10,001-30,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 60.4) นอกนั้นมีรายได้สูงกว่านี้ และมักมีเงินออมตั้งแต่1,001-3,000 บาท/เดือน (ร้อยละ 35.8) ส่วนในเรื่องของการทำอาหารให้บุตรกินด้วยตนเองนั้น มักทำให้ในช่วงที่บุตรอยู่ในวัยทารก พอโตขึ้นประมาณ 2-5 ปี ก็ฝึกพี่เลี้ยงหรือให้ญาติทำอาหารให้โดยมารดาออกไปทำงานนอกบ้านเพื่อเศรษฐกิจของครอบครัว ในด้านพฤติกรรมการกินและการให้อาหารบุตร ในช่วง 1-5 ปี มักยึดหลักความรู้จากแพทย์และบุคลากรทางสาธารณสุข เช่น ความเชื่อเรื่องอาหารแสลงในขณะเจ็บป่วย ตั้งครรภ์หรือระยะให้นมบุตร (ร้อยละ 64.2) ซึ่งส่วนใหญ่มีความเชื่อที่ถูกต้อง เช่น ห้ามกินอาหารรสจัดและอาหารที่ไม่มีประโยชน์ เช่น อาหารหมักดอง กาแฟ เป็นต้น ประกอบกับมารดาส่วนใหญ่ก็ได้รับการปลูกฝังมาจากผู้ใหญ่ด้วย และทุกคนคิดว่าควรมีการปลูกฝังในเรื่องนี้ ตลอดจนให้ความรักความเข้าใจแก่บุตรก่อนวัยเรียนของตนด้วย คือหากเกิดปัญหา เช่น การเบื่ออาหาร ซึ่งพบมากในจำนวนบุตรทั้ง 62 คนนี้ มารดาแก้ไขโดยค้นคว้าหาความรู้เพื่อนำมาคิดวิธีการฝึกสอนบุตร นอกจากนี้ยังสอนในเรื่อง สุขลักษณะอื่น ๆ ด้วย เช่น ให้ล้างมือก่อนและหลังกินอาหาร เคี้ยวอาหารให้ละเอียดก่อนกลืน ฯลฯ ตลอดจนควบคุมพฤติกรรมของบุตรให้อยู่ในขอบเขตที่ถูกต้องเหมาะสมและในท้ายที่สุดก็เสนอแนะวิธีการปลูกฝังพฤติกรรมการกินและการให้ความรักแก่บุตรก่อนวัยเรียนซึ่งสรุปได้ดังนี้คือ 1. พยายามให้เวลาอยู่ใกล้ชิดกับบุตรให้มากที่สุด 2. จัดอาหารที่มีคุณค่าไว้ 3. ควบคุมการให้ความรักที่ถูกต้องเหมาะสม 4. ควรมีหลักในการยืดหยุ่นบ้าง 5. เป็นแบบอย่างที่ดี 6. ให้ความยุติธรรม 7. ส่งเสริมความถนัด 8. สอนในเรื่องการปรับตัว 9. ส่งเสริมให้มีคุณธรรมและจริยธรรม จากการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาเห็นว่านักสังคมเคราะห์ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กและการอบรมเลี้ยงดูเด็กนั้น สามารถจะมีบทบาทในการให้บริการทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม สำหรับทางตรงนั้นอาจกระทำหน้าที่ทั้งในด้านการป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟูเด็กก่อนวัยเรียนที่ได้รับผลกระทบจากการอบรมเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสม ตลอดจนพัฒนาวิธีการอบรมเลี้ยงดูและพัฒนาเด็กในช่วงวัยนี้ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป ส่วนบทบาทในการให้บริการโดยทางอ้อมนั้น อาจให้บริการแก่คนทั่วไปที่เลี้ยงดูเด็กก่อนวัยเรียน สนับสนุนการศึกษาโดยอาจเสนอแนะแนวทางในการศึกษาหรือเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นฐานสะสมไว้ให้แก่ผู้สนใจและศึกษาเพิ่มเติมเพื่อสานต่อโครงการเป็นขั้นตอนและต่อ ๆ มา อันจะเป็นการพัฒนาในด้านนี้ให้เอื้อต่อการพัฒนาเด็กและเยาวชนของชาติสืบไปเป็นต้น

Keywords: child, child psychiatry, psychiatry, เด็ก, จิตเวช, จิตเวชเด็ก, จิตเวชศาสตร์, มารดา, สตรี

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372340000039

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -