ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อรุณรัศมิ์ ปกมนตรี

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาสุขภาพจิตของทหารผ่านศึกพิการ ที่รับการบำบัดรักษาในแผนกผู้ป่วยใน ณ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2537

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยเรื่อง “การศึกษาสุขภาพจิตของทหารผ่านศึกพิการที่เข้ารับการบำบัดรักษาในแผนกผู้ป่วยใน ณ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงลักษณะสุขภาพจิตของทหารผ่านศึกพิการ และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสุขภาพจิตของทหารผ่านศึกพิการกับปัจจัยในด้านระดับอายุ สถานภาพสมรส รายได้ต่อเดือนที่มีผลกระทบต่อสุขภาพจิต ทั้งนี้เพื่อจะได้ทราบความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพจิตที่เกิดขึ้นเมื่อระยะเวลาผ่านไป กลุ่มประชากรที่ใช้ในการศึกษา คือ ทหารผ่านศึกพิการ เพศชายทุกคนที่เข้ารับการบำบัดรักษาแผนกผู้ป่วยใน ตึกผู้ป่วยอัมพาตบำบัด 1 จำนวน 29 คน ตึกผู้ป่วยอัมพาตบำบัด 2 จำนวน 21 คน รวมประชากรที่ใช้ในการศึกษาทั้งสิ้น 50 คน ณ โรงพยาบาลทหารผ่านศึก วิธีการศึกษาเป็นการศึกษาสุขภาพจิตของทหารผ่านศึกพิการ 3 กลุ่มที่มีระยะเวลาที่พิการต่างกัน คือ กลุ่มทหารผ่านศึกพิการที่มีระยะเวลาที่พิการต่ำกว่า 5 ปี จำนวน 15 คน กลุ่มทหารผ่านศึกพิการที่มีระยะเวลาที่พิการ 6-11 ปี จำนวน 17 คน และกลุ่มทหารผ่านศึกพิการที่มีระยะเวลาที่พิการ 12 ปีขึ้นไป จำนวน 18 คน โดยใช้การสัมภาษณ์ในระยะเวลาที่ใกล้เคียงกัน คือภายใน 1 สัปดาห์ เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาแบ่งเป็น 2 ตอน คือ แบบสอบถามเกี่ยวกับภูมิหลังและข้อมูลส่วนตัวของผู้ตอบและแบบทดสอบสุขภาพจิต Symptom Distress Checklists 90 (SCL.90) ซึ่งจำแนกลักษณะสุขภาพจิตออกเป็น 9 ด้าน ได้แก่ สุขภาพจิตด้านความรู้สึกผิดปกติของร่างกาย (Somatization) สุขภาพจิตด้านย้ำคิดย้ำทำ (Obsessive Compulsive) สุขภาพจิตด้านความรู้สึกไม่ชอบการติดต่อกับผู้อื่น (Interpersonal Sensitivity) สุขภาพจิตด้านซึมเศร้า (Depressive) สุขภาพจิตด้านความวิตกกังวล (Anxiety) สุขภาพจิตด้านความเกลียดชังไม่เป็นมิตร (Hostility) สุขภาพจิตด้านความกลัว โดยไม่มีเหตุผล (Phobic Anxiety) สุขภาพจิตด้านความหวาดระแวง (Paranoid Ideation) และสุขภาพจิตด้านโรคจิต (Psychoticism) โดยใช้วิธีการเปรียบเทียบแบบ Cross-Sectional Method คือให้ประชากรทั้ง 3 กลุ่มทำแบบทดสอบ SCL.90 แล้วนำคะแนนสุขภาพจิตที่ได้จากแต่ละกลุ่มมาเปรียบเทียบกัน สรุปผลการศึกษาได้ดังนี้ 1. ทหารผ่านศึกพิการโดยทั่วไปจะมีปัญหาสุขภาพจิตทางด้านความรู้สึกผิดปกติของร่างกาย ด้านย้ำคิดย้ำทำ ซึมเศร้า ความหวาดกลัวโดยไม่มีเหตุผลและด้านโรคจิต และเมื่อนำมาเปรียบเทียบกับสุขภาพจิตด้านต่างๆ ของทหารผ่านศึกพิการทั้ง 3 กลุ่ม ที่มีระยะเวลาที่พิการต่างกัน พบว่ามีผลเช่นเดียวกับลักษณะสุขภาพจิตโดยทั่วไปของทหารผ่านศึกพิการ 2. การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่พิการกับปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อสุขภาพจิตของทหารผ่านศึกพิการ สรุปผลการศึกษาได้ดังนี้ 2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่พิการกับระดับอายุ พบว่าทหารผ่านศึกพิการที่มีระยะเวลาที่พิการต่างกันในกลุ่มอายุ 41 ปีขึ้นไป มีสุขภาพจิตด้านความวิตกกังวล และสุขภาพจิตด้านความเกลียดชังไม่เป็นมิตร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนสุขภาพจิตด้านอื่นๆ พบว่าไม่แตกต่างกัน 2.2 ความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่พิการกับสถานภาพสมรสพบว่า ทหารผ่านศึกพิการที่มีระยะเวลาที่พิการต่างกัน ในกลุ่มที่สมรสแล้วและอยู่ด้วยกัน มีคะแนนสุขภาพจิตด้านความเกลียดชังไม่เป็นมิตร แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนสุขภาพจิตด้านอื่นๆ พบว่าไม่แตกต่างกัน 2.3 ความสัมพันธ์ระหว่างระยะเวลาที่พิการกับรายได้ พบว่าไม่มีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 จากผลการศึกษา ผู้ศึกษาขอเสนอแนะแนวทางในการส่งเสริมสุขภาพจิตของทหารผ่านศึกพิการ ดังนี้ 1. ด้านการบริหาร ควรมีการเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งแพทย์ จิตแพทย์ พยาบาล นักจิตวิทยาและนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์ เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการบำบัดรักษาอย่างใกล้ชิดและทั่วถึง 2. ด้านการบริการ การให้ความช่วยเหลือทหารผ่านศึกพิการให้มีสุขภาพจิตที่ดี อาศัยวิธีการหลายอย่างตามความเหมาะสมทั้งในระดับบุคคลและระดับกลุ่ม ได้แก่ การให้คำปรึกษา จิตบำบัด กลุ่มบำบัด โดยบุคลากรทางการแพทย์ที่ทำงานเป็นทีมหรือจัดแบ่งหน้าที่กันอย่างเด่นชัด ภายใต้สภาพแวดล้อมของโรงพยาบาลที่ดี มีเครื่องมือในการบำบัดรักษาที่มีคุณภาพ เช่น กายอุปกรณ์ เป็นต้น และควรจัดให้มีนักสังคมสงเคราะห์ทางการแพทย์เป็นผู้รับผิดชอบในการให้ความช่วยเหลือผู้ที่มีปัญหาทางจิตใจ อารมณ์และสังคม เพราะทหารผ่านศึกพิการที่เข้ารับการบำบัดรักษา ณ โรงพยาบาลทหารผ่านศึกโดยเฉลี่ยจะใช้เวลาพักรักษาตัวนาน 1.82 ปี ซึ่งภายในช่วงเวลาดังกล่าวผู้ป่วยอาจประสบกับปัญหาต่างๆ และต้องการผู้ช่วยเหลือ นอกจากนี้ในด้านการฝึกอาชีพให้แก่ทหารผ่านศึกพิการควรมีการเตรียมความพร้อมของทหารผ่านศึกพิการ ทั้งก่อนและหลังการฝึกอาชีพ เพื่อจะได้สามารถประกอบอาชีพด้วยตนเองได้ตามความถนัดและความสามารถ 3. ด้านชุมชน ควรมีการประชาสัมพันธ์ให้ทราบถึงบริการของโรงพยาบาลแก่ทหารผ่านศึกและประชาชนโดยทั่วไป นอกจากนี้ควรประชาสัมพันธ์ให้ชุมชนต่างๆ ทราบถึงปัญหา ความต้องการของทหารผ่านศึกพิการและครอบครัวของทหารผ่านศึกพิการ รวมไปถึงการจัดให้มีสถานพักฟื้นทหารผ่านศึกพิการโดยกระจายไปสู่ชุมชน 4. ด้านการวิจัย ควรศึกษาเปรียบเทียบสุขภาพจิตของทหารผ่านศึกพิการที่มีระยะเวลาพิการที่ต่างกัน คือ มีระยะเวลาพิการต่ำกว่า 1 เดือน, 2-6 เดือน และ 7-12 เดือน เพื่อศึกษาความเปลี่ยนแปลงของสุขภาพจิตของทหารผ่านศึกพิการที่ประสบกับความพิการในช่วง 1 ปีแรก ศึกษาปัญหาและความต้องการของทหารผ่านศึกพิการและครอบครัว เช่น ปัญหา SEXUAL LIFE ของทหารผ่านศึกพิการ ระดับของความพิการที่มีผลต่อสุขภาพจิตของทหารผ่านศึกพิการ ศึกษาปัญหาและความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาลทหารผ่านศึก เป็นต้น

Keywords: anxiety, IPD, psychiatry, SCL-90, stress, เครียด, คนพิการ, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ทหาร, ผู้ป่วยใน, ผู้พิการ, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: คณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372370000007

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -