ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กรองจิตต์ เมืองวุฒิ

ชื่อเรื่อง/Title: วัฒนธรรมและค่านิยมของครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชในภาคเหนือที่มีผลต่อการเลือกวิธีการบำบัดรักษา, ศึกษาเฉพาะกรณีโรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง วัฒนธรรมและค่านิยมของครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชในภาคเหนือที่มีผลต่อการเลือกวิธีการบำบัดรักษา, ศึกษาเฉพาะกรณีโรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่, พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง "วัฒนธรรมและค่านิยมของครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชในภาคเหนือที่มีผลต่อการเลือกวิธีการบำบัดรักษา:ศึกษาเฉพาะกรณีโรงพยาบาลสวนปรุงเชียงใหม่" มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาถึงวัฒนธรรมและค่านิยมของครอบครัวของผู้ป่วยจิตเวชในภาคเหนือ และเพื่อทราบถึงปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการเลือกวิธีการบำบัดรักษาผู้ป่วยจิตเวชวิธีการศึกษาเป็นการศึกษาแบบสำรวจโดยศึกษาข้อมูลจากเอกสารและภาคสนามประชากรกลุ่มตัวอย่าง คือ สมาชิกในครอบครัวหรือญาติของผู้ป่วยจิตเวชที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตจังหวัดภาคเหนือ จำนวน 200 ราย สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ คือ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน สัมประสิทธิ์สัมพันธ์แบบเพียร์สัน สัมประสิทธิ์ของการกระจาย การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว และทอสอบความแตกต่างเป็นรายคู่ด้วยวิธีเชฟเฟ โดยทดสอบความมีนัยสำคัญที่ระดับความเชื่อมั่น 95 % ผลการศึกษากลุ่มตัวอย่างสมาชิกในครอบครัวหรือญาติของผู้ป่วยจิตเวชในภาคเหนือส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิง อายุระหว่าง 36-45 ปี มากที่สุด นับถือศาสนาพุทธ และสถานภาพสมรส จบการศึกษาระดับประถมศึกษา ประกอบอาชีพเกษตรกรรม มีรายได้ไม่เกิน2,000 บาท ฐานะการเงินของครอบครัวอยู่ในระดับพอกินพอใช้ มีความสัมพันธ์กับผู้ป่วยโดยเป็นบิดามารดา และอาศัยอยู่บ้านเดียวกันมีภูมิลำเนาอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ที่อยู่อาศัยอยู่นอกเขตเทศบาลหรือเขตสุขาภิบาล สำหรับผู้ป่วยที่กลุ่มตัวอย่างพามาตรวจ ส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคจิตเภท (Schizophrenia) มีระยะเวลาในการป่วยระหว่าง 1-5 ปี และเพิ่งมารับการรักษาเป็นครั้งแรกวิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชก่อนมาตรวจที่โรงพยาบาลสวนปรุงนั้น ส่วนใหญ่ไปรักษาคือด้วยแผนปัจจุบันเป็นครั้งแรก รักษาด้วยแผนพื้นบ้านเป็นครั้งที่ 2 ใช้ระยะเวลาในการรักษาไม่เกิน 1 อาทิตย์ สาเหตุที่เปลี่ยนวิธีการเพราะรักษาด้วยวิธีการนั้นแล้วไม่หาย สำหรับผู้ป่วยที่เคยทำการรักษาหลายวิธีการพร้อมกันจะรักษาด้วยแผนปัจจุบัน ควบคู่กับแผนพื้นบ้าน เพราะมีความเชื่อว่าวิธีการรักษานั้นจะสามารถรักษาอาการเจ็บป่วยนั้นได้ สำหรับวิธีการรักษาครั้งสุดท้าย ส่วนใหญ่รักษาด้วยแผนพื้นบ้าน โดยมีสาเหตุที่เลือกเพราะมีผู้แนะนำหรือทราบจากข่าวสาร และเป็นบุคคลในครอบครัวญาติพี่น้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาไม่เกิน 50 บาท ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง สถานที่รักษาจะอยู่ในชุมชนเดียวกับที่พักอาศัย และเดินทางไปรักษาด้วยการเดินไป ผู้รักษาไม่ได้ทำการรักษาแต่จะตรวจดวงชะตาและแนะนำวิธีการแก้ปัญหาให้ วิธีการรักษาที่ได้รับจะรักษาด้วยยาแผนปัจจุบัน ผู้รักษาไม่บอกว่าผู้ป่วยป่วยเพราะเหตุใด ผลการรักษามีอาการเหมือนเดิมและหากรักษาที่โรงพยาบาลสวนปรุงแล้วอาการไม่ดีขึ้น ก็จะรักษาแผนปัจจุบันต่อไป ในด้านความคิดเห็นต่อการรักษาผู้ป่วยจิตเวช โดยเฉลี่ยสมาชิกในครอบครัวหรือญาติผู้ป่วยจิตเวชมีความเห็นด้วยน้อยต่อการรรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยตนเอง มีความเห็นด้วยปานกลางต่อการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยแผนพื้นบ้าน และมีความเห็นด้วยมากต่อการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยแผนปัจจุบัน โดยมีความคิดเห็นต่อการรักษาแผนพื้นบ้านแตกต่างกันมากที่สุด ส่วนพฤติกรรมการรักษาผู้ป่วยจิตเวชนั้น ส่วนใหญ่สมาชิกในครอบครัวหรือญาติผู้ป่วยจิตเวชมีพฤติกรรมน้อยในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยตนเอง มีพฤติกรรมปานกลางในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยแผนพื้นบ้าน และมีพฤติกรรมมากในการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยแผนปัจจุบัน ผลการทดสอบสมมติฐาน 1. วัฒนธรรมและค่านิยมของครอบครัวผู้ป่วยจิตเวชที่มีความสัมพันธ์ต่อการเลือกวิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเวช 1.1. ความคิดเห็นต่อการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยตนเองมีความสัมพันธ์ในระดับน้อยกับพฤติกรรมการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยตนเองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับ 0.05 1.2. ความคิดเห็นต่อการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยแผนพื้นบ้านมีความสัมพันธ์ในระดับปานกลางกับพฤติกรรมการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยแผนพื้นบ้านอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 1.3. ความคิดเห็นต่อการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยแผนปัจจุบันมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยแผนปัจจุบันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ 2. ผู้มีพฤติกรรมการรักษาด้วยตนเองนั้น มีภูมิหลังทางสังคมที่ไม่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยตนเอง ในขณะที่ผู้มีพฤติกรรมการรักษาด้วยแผนพื้นบ้านที่มีภูมิหลังทางสังคม ทางด้านศาสนาที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และผู้ที่พฤติกรรมการรักษาด้วยแผนปัจจุบันที่มีภูมิหลังทางสังคม ทางด้านการศึกษาที่แตกต่างกัน มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยแผนปัจจุบันที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 3. ผู้ที่มีพฤติกรรมการรักษาด้วยตนเอง มีแหล่งที่รักษาไม่มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยตนเอง ในขณะที่ผู้มีพฤติกรรมการรักษาด้วยแผนพื้นบ้านที่มีผู้แนะนำวิธีการรักษาที่แตกต่างกัน มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยแผนพื้นบ้านที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และ ผู้ที่มีพฤติกรรมการรักษาด้วยแผนปัจจุบันที่มีระยะทางของสถานที่ที่ไปรักษาที่แตกต่างกัน มีผลต่อการเลือกวิธีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชด้วยแผนปัจจุบันที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 จากการศึกษาผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะ คือ ผู้ให้การรักษาควรบอกหรือให้ความรู้เกี่ยวกับอาการเจ็บป่วยทางจิตที่เป็นอยู่แก่ผู้ป่วยและครอบครัว ควรให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสุขภาพจิตและจิตเวชอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการติดตามผลเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความเชื่อและพฤติกรรมที่ถูกต้อง ตลอดจนการศึกษาชุมชน การกระตุ้นองค์กรในชุมชน ให้สามารถมีส่วนร่วมในการป้องกันแก้ไข และฟื้นฟูปัญหาสุขภาพจิตได้ด้วยตนเอง ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างเครือข่ายทางสังคมในแง่สวัสดิการและสาธารณสุขต่อไป

Keywords: วัฒนธรรม, ครอบครัว, family, culture

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372370000044

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -