ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ไพลิน คำไพรินทร์

ชื่อเรื่อง/Title: สัมพันธภาพในครอบครัวกับการปรับตัวทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนหลังการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลราชานุกูล

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง สัมพันธภาพในครอบครัวกับการปรับตัวทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนหลังการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลราชานุกูล, พ.ศ. 2537

รายละเอียด / Details:

การศึกษาสัมพันธภาพในครอบครัวกับการปรับตัวทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนหลังการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลราชานุกูล มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาสัมพันธภาพในครอบครัวของบุคคลปัญญาอ่อนหลังการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลราชานุกูล ศึกษาถึงทักษะการปรับตัวทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อน หลังการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลราชานุกูล และเพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธภาพในครอบครัวกับการปรับตัวทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนหลังการจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลราชานุกูล ผู้ศึกษาได้ทำการเก็บข้อมูล โดยการออกเยี่ยมบ้านและสัมภาษณ์ตามแนวแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นญาติของบุคคลปัญญาอ่อนที่มีอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ซึ่งมีระดับเชาวน์ปัญญาตั้งแต่ 35-49 ที่เคยได้รับการฝึกอบรมจากโรงพยาบาลราชานุกูล เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 ปี และได้จำหน่ายออกจากโรงพยาบาลราชานุกูลกลับมาอยู่กับครอบครัวนาน 4-6 ปี การเก็บข้อมูลใช้เวลา 2 เดือน เป็นจำนวนทั้งสิ้น 40 คน คิดเป็นร้อยละ 100 การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ในการหาค่าร้อยละ (Percentage) ค่าเฉลี่ย(Mean) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน(Standard Deviation) ค่าสถิติไคสแควร์ (Chi Square) และวัดค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามด้วยวิธี Coefficient of Alpha ซึ่งอยู่ในระดับ 0.8291 ผลการศึกษา ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างเป็นสมาชิกในครอบครัวที่ใกล้ชิด และทำหน้าที่ดูแลปัญญาอ่อน จำนวนทั้งสิ้น 40 คน เป็นเพศชาย ร้อยละ 42.5 และเพศหญิง ร้อยละ 57.5 เพศหญิงเป็นผู้ที่ใกล้ชิดและทำหน้าที่ดูแลบุคคลปัญญาอ่อนมากกว่าเพศชาย โดยเฉพาะในช่วงอายุ 24.34 ปี ร้อยละ 24.5 ส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 97.5 และมี สถานภาพการสมรสแล้วและยังอยู่ด้วยกัน ร้อยละ 60 มีระดับการศึกษามัธยมศึกษา ร้อยละ 50 ประกอบอาชีพค้าขายร้อยละ 27.5 ส่วนใหญ่มีฐานะทางการเงินของครอบครัวอยู่ในระดับพอกินพอใช้ ร้อยละ 77.5 มีจำนวนสมาชิกในครอบครัวอยู่ระหว่าง 4-6 คน และมีจำนวนสมาชิกในครอบครัวที่มีรายได้อยู่ในกลุ่ม 1-3 คนมีความเกี่ยวข้องกับบุคคลปัญญาอ่อน คือ เป็นบิดามารดา ร้อยละ 55 แต่พบว่าส่วนใหญ่ผู้ที่ดูแลบุคคลปัญญาอ่อนเมื่ออยู่บ้าน คือ พี่น้อง ร้อยละ 52.5 ข้อมูลทั่วไปของบุคคลปัญญาอ่อน จำนวน 40 คน เป็นเพศชาย ร้อยละ 40 และเพศหญิง ร้อยละ 60 มีระดับเชาวน์ปัญญาอยู่ระหว่าง 35-49 ร้อยละ 52.2 ระยะเวลาที่บุคคลปัญญาอ่อนได้รับการฝึกอบรมจากโรงพยาบาลราชานุกูล อยู่ระหว่าง 2-5 ปี ร้อยละ 50 และจำหน่ายออกจากโรงพยาบาลราชานุกูลเป็นระยะเวลานาน 6 ปี ร้อยละ 67.5 สัมพันธภาพระหว่างสมาชิกในครอบครัวกับบุคคลปัญญาอ่อน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง คือมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 3.19 และพบว่าส่วนใหญ่สมาชิกในครอบครัวมีความรู้สึกรังเกียจบุคคลปัญญาอ่อน แต่ในขณะเดียวกันก็พบว่ายังแสดงความเห็นใจและให้ความช่วยเหลือเมื่อบุคคลปัญญาอ่อนขอความช่วยเหลือ และแสดงความชื่นชมและให้กำลังใจแก่บุคคลปัญญาอ่อน มีการวางแผนเกี่ยวกับกิจกรรมหรือการดำเนินชีวิตให้แก่บุคคลปัญญาอ่อนและมีสันพันธภาพระดับปานกลางในเรื่องของการพาบุคคลปัญญาอ่อนไปพบแพทย์ การรับประทานอาหารพร้อมกับบุคคลปัญญาอ่อน และพบว่ามีการแสดงออกทางอารมณ์ต่าง ๆ อยู่ในระดับปานกลาง เช่น การแสดงความรู้สึกโกรธไม่พอใจขัดแย้ง ไม่ลงรอยกับบุคคลปัญญาอ่อน แสดงท่าทีรำคาญเบื่อหน่ายบุคคลปัญญาอ่อน ไม่ยอมรับในการแสดงความคิดเห็นของบุคคลปัญญาอ่อน และนอกจากนี้ยังพบว่ามีลักษณะสัมพันธภาพในระดับต่ำในการชักชวนบุคคลปัญญาอ่อนเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคม ทักษะการปรับตัวทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อน แบ่งเป็น 7 ทักษะ คือ ทักษะการรับรู้ทักษะการสื่อความหมาย ทักษะในชีวิตประจำวัน ทักษะสังคม ทักษะชุมชน ทักษะด้านวิชาการและทักษะด้านอาชีพ จากการศึกษาพบว่าทักษะการปรับตัวทางสังคมบุคคลปัญญาอ่อน มีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับปานกลาง คือ 2.16 และเมื่อพิจารณาในแต่ละทักษะ พบว่ามีค่าเฉลี่ยในระดับมาก คือ ทักษะในชีวิตประจำวัน และทักษะการสื่อความหมาย และมีทักษะการปรับตัวทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนมีค่าเฉลี่ยในระดับปานกลาง คือ ทักษะด้านอาชีพ ทักษะการรับรู้ ทักษะทางสังคม ทักษะด้านวิชาการ และทักษะชุมชนของบุคคลปัญญาอ่อนมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับต่ำ ผลการวิเคราะห์สมมุติฐาน พบว่า สัมพันธภาพของสมาชิกในครอบครัวบุคคลปัญญาอ่อนที่ดีมีความสัมพันธ์เชิงบวก กับการปรับตัวทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนที่ดีร้อยละ 40 และพบว่าสัมพันธภาพที่ไม่ดี ของสมาชิกในครอบครัวมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับการปรับตัวทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนที่ไม่ดี ร้อยละ 32.67 สรุปว่าสัมพันธภาพของสมาชิกในครอบครัวบุคคลปัญญาอ่อนที่แตกต่างกันมีผลต่อการปรับตัวทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.01 ข้อเสนอแนะต่อนักสังคมสงเคราะห์ จากการศึกษาดังกล่าว แสดงให้เห็นถึงรูปแบบการปฏิบัติงานสังคมสงเคราะห์เพื่อบุคคลปัญญาอ่อน โดยใช้ครอบครัวและชุมชนเป็นพื้นฐาน (Family and community base) ซึ่งผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะดังต่อไปนี้ คือ - การที่สมาชิกในครอบครัวไม่ชักชวนหรือพาบุคคลปัญญาอ่อนเข้าร่วมกิจกรรมทางสังคมเนื่องจากมีความรู้สึกรังเกียจบุคคลปัญญาอ่อน นักสังคมสงเคราะห์สามารถมีบทบาทในการช่วยแก้ไขหรือลดความวิตกกังวลของญาติที่มีต่อบุคคลปัญญาอ่อนลงได้ เพื่อช่วยสร้างความเข้าใจและความรู้สึกที่ดีต่อกัน โดยจัดทำกลุ่มสัมพันธ์ระหว่างผู้ปกครองกับบุคคลปัญญาอ่อนและมีการติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง - การที่บุคคลปัญญาอ่อนมีทักษะชุมชนอยู่ในระดับต่ำ นักสังคมสงเคราะห์ควรจัดทำโครงการส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกในครอบครัวกับบุคคลปัญญาอ่อน เพื่อให้เกิดความใกล้ชิด ความรักใคร่ ตลอดจนสนับสนุนให้สมาชิกในครอบครัวมีความเข้าใจสภาพบุคคลปัญญาอ่อนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้บุคคลปัญญาอ่อนมีทักษะการปรับตัวทางสังคมที่ดีต่อไป - นักสังคมสงเคราะห์มีบทบาทเป็นผู้จัดทำหลักสูตรทักษะชุมชน เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวได้นำไปใช้ในการฝึกทักษะชุมชนให้แก่บุคคลปัญญาอ่อน - ประชาสัมพันธ์รูปแบบการทำงานกับครอบครัวบุคคลปัญญาอ่อน โดยเฉพาะการให้ความรู้เกี่ยวกับการฝึกอบรมทักษะชุมชน ให้นักสังคมสงเคราะห์จากหน่วยงานต่าง ๆ ทั่วประเทศสามารถให้บริการแก่ครอบครัวบุคคลปัญญาอ่อนในชุมชนต่าง ๆ อย่างทั่วถึง - ประสานงานกับองค์การสวัสดิการสังคมภาคเอกชนในชุมชนต่าง ๆ ที่ให้บริการแก่บุคคลปัญญาอ่อนและครอบครัวทั้งในด้านวิชาการและการให้บริการ ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือชุมชน ควรมีการจัดทำโครงการส่งเสริมสัมพันธภาพระหว่างสมาชิกในครอบครัวกับบุคคลปัญญาอ่อน และให้คำปรึกษาแนะนำแก่สมาชิกในครอบครัวและบุคคลปัญญาอ่อน รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูล ข่าวสาร ประชาสัมพันธ์ภาพความรู้เกี่ยวกับภาวะปัญญาอ่อน การป้องกันและฟื้นฟูปรับสภาพ ข้อเสนอแนะต่อการทำวิจัยครั้งต่อไป ควรทำวิจัยในเรื่อง สัมพันธภาพในครอบครัวกับการปรับตัวทางสังคมของบุคคลปัญญาอ่อนในหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สถานสงเคราะห์เด็กพิการทางสมองและปัญญาองค์กรเอกชนที่ให้บริการแก่บุคคลปัญญาอ่อน เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อจะได้เปรียบเทียบผลการศึกษาในครั้งนี้ด้วย

Keywords: การปรับตัวทางสังคม, ครอบครัว, สังคม, ปัญญาอ่อน, family, social, mental retardation, MR, child

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372370000045

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -