ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ตรึงเนตร พรรณดวงเนตร

ชื่อเรื่อง/Title: บริการสังคมที่หญิงตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนาต้องการ

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง บริการสังคมที่หญิงตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนาต้องการ, พ.ศ.2534

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง "บริการสังคมที่หญิงตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนาต้องการ" มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาภูมิหลังและกระบวนการตัดสินใจในการเลือกใช้บริการของหญิงตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนา และเพื่อศึกษาบริการสังคมที่หญิงตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนาต้องการวิธีการศึกษาเป็นการวิจัยเชิงสำรวจ (Exploratory Research) ตัวอย่างที่ศึกษา ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบหลายขั้นตอน ( Multi-stage Sampling) ประกอบด้วยกลุ่มตัวอย่าง 2 กลุ่ม คือ หญิงตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนาที่เลือกตั้งครรภ์ต่อไป และใช้บริการในที่พักชั่วคราวระหว่างตั้งครรภ์และพักฟื้นหลังคลอด จำนวน5 แห่ง คือ บ้านสายสัมพันธ์ บ้านพักฉุกเฉิน บ้านพระคุณ สำนักภคินีศรีชุมพาบาลและบ้านพักเด็กและครอบครัว รวมทั้งสิ้นจำนวน 57 ราย และหญิงตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนาที่เลือกยุติการตั้งครรภ์ และใช้บริการในคลินิกเอกชน จำนวน 1 แห่ง รวมทั้งสิ้นจำนวน 68 ราย เป็นการศึกษาเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานคร ในระหว่างวันที่ 30 มกราคม - 3 มีนาคม พ.ศ.2538 การเก็บรวบรวมข้อมูล โดยใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือ เก็บข้อมูลโดยผู้ศึกษาและบุคลากรที่ปฏิบัติงานด้านการปรึกษาในคลินิกเอกชน การวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติพรรณา(Descriptive Statistics) ในรูปจำนวน ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน ผลการศึกษาพบว่า ภูมิหลังของหญิงทั้งสองกลุ่ม คือ มีอายุอยู่ในช่วงวัยรุ่นถึงวัยผู้ใหญ่หรือ 15-24 ปี มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ต่างจังหวัด อพยพเข้ามาอยู่ในกรุงเทพมหานครเพื่อหางานทำและเพื่อหาทางออกของการตั้งครรภ์ครั้งนี้ พื้นฐานความสัมพันธ์ภายในครอบครัวไม่ดี ทั้งลักษณะการใช้ชีวิตภายในครอบครัว เช่น ครอบครัวแตกแยก รวมทั้งวัฒนธรรมการเลี้ยงดูที่ไม่สามารถถ่ายทอดความรู้เกี่ยวกับเรื่องเพศ ส่วนใหญ่ตั้งครรภ์แรกและเป็นการตั้งครรภ์นอกสมรสที่เกิดจากการไม่ตั้งใจตั้งครรภ์ เพราะขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องเพศศึกษา ความผิดพลาดในการคุมกำเนิดหรือการถูกข่มขืนกระทำชำเรา มักทราบว่าตั้งครรภ์เมื่ออายุครรภ์อยู่ในช่วง 1-13 สัปดาห์และไม่สนใจฝากครรภ์ ระหว่างตั้งครรภ์จะพบปัญหาด้านเศรษฐกิจและการประกอบอาชีพ สามีไม่รับผิดชอบต่อการตั้งครรภ์และแนะนำให้ไปทำแท้ง การตั้งครรภ์ไม่เป็นที่ยอมรับของสังคม หากมีบุคคลอื่นทราบ เกรงว่าจะถูกประนามและเป็นที่อับอาย นอกจากนี้บุคคลที่มีส่วนรับรู้ในการตั้งครรภ์ คือ สามี เพื่อน ญาติ พี่น้อง บิดามารดาของหญิงตั้งครรภ์ และบิดามารดาของสามี หญิงทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่ไม่เคยรับรู้บริการช่วยเหลือตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนามาก่อนเมื่อเกิดปัญหาตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนาการตัดสินใจด้วยตัวเอง ส่วนใหญ่มักเลือกวิธีการทำแท้งและมักจะได้รับคำแนะนำไปทำแท้ง จากการศึกษาพบว่าประเด็นสนับสนุนให้เกิดการตัดสินแก้ไขปัญหาว่าควรเลือกตั้งครรภ์ต่อไปหรือยุติการตั้งครรภ์ คือ หญิงตั้งครรภ์ สามี ระบบเกื้อหนุนจากครอบครัวของหญิงตั้งครรภ์ ครอบครัวสามีและเพื่อนสนิท รวมทั้งภาวะเศรษฐกิจ การไม่ยอมรับในสถานศึกษา ความเชื่อพื้นฐานเกี่ยวกับการทำแท้ง การรับรู้เกี่ยวกับบริการสังคม และให้การคุณค่าของสังคมในเรื่องค่านิยมพฤติกรรมทางเพศของผู้หญิง หลังจากการตัดสินใจเลือกทางออกและมีความต้องการใช้บริการสังคม พบว่าหญิงกลุ่มนี้จะแสวงหาบริการเหล่านี้ด้วยตนเอง ส่วนการสนับสนุนและได้รับความช่วยเหลือจากครอบครัวหรือบุคคลใกล้ชิด เช่น สามี เพื่อนสนิท จะเป็นการแนะนำหรือช่วยเหลือเพื่อให้สามารถใช้บริการต่าง ๆ มากกว่าการยอมรับ และแก้ไขปัญหาภายในครอบครัวเอง เหตุผลส่วนใหญ่ที่ประกอบการตัดสินใจเลือกใช้บริการ จะเกี่ยวข้องกับปัญหาทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยเฉพาะการประทับรอยมลทินหรือการถูกประนามให้เป็นที่อับอาย หากมีผู้ทราบว่าเกิดการตั้งครรภ์โดยไม่ถูกต้องตามประเพณี กฎหมาย และค่านิยมในสังคมไทย ระยะของกระบวนการตัดสินใจเลือกใช้บริการพบว่าบุคคลที่ให้ความช่วยเหลือมากที่สุดและพื้นฐานความเชื่อเกี่ยวกับการทำแท้ง จะมีอิทธิพลในการตัดสินใจเลือกใช้บริการครั้งแรกว่าจะใช้บริการช่วยเหลือเพื่อให้สามารถตั้งครรภ์ต่อไปหรือยุติการตั้งครรภ์ ถึงแม้ว่าหญิงทั้งสองกลุ่มตกลงเลือกใช้บริการตามที่ต้องการแล้ว แต่มีบางส่วนที่ต้องการสวัสดิการสังคมในด้านอื่น เช่น สวัสดิการช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์และบุตร การยอมรับหญิงตั้งครรภ์ในการประกอบอาชีพและในสถานศึกษา หรือสามารถยุติการตั้งครรรภ์ได้ในกรณีที่การตั้งครรภ์เกิดจากปัญหาสังคม และเศรษฐกิจ นอกจากนี้ยังต้องการความเข้าใจ การยอมรับจากบิดา มารดา และสังคมในปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ซึ่งทั้งสองกลุ่มมีความคิดเห็นว่า บริการสังคมเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น รวมทั้งป้องกันการเกิดปัญหาสังคมในรูปอื่น เช่น การทอดทิ้งเด็ก การทำแท้งผิดกฎหมาย ดังนั้น หญิงทั้งสองกลุ่มจึงมีความต้องการในระดับสูงทั้งบริการช่วยเหลือเพื่อให้สามารถตั้งครรภ์ต่อไปและยุติการตั้งครรภ์ โดยมีความต้องการบริการในแต่ละด้านทั้งหมด 7 ด้าน เรียงตามอันดับความต้องการจากมากไปน้อยในแต่ละด้าน ดังนี้ 1. หญิงที่เลือกตั้งครรภ์ต่อไป ต้องการบริการในอันดับแรกคือ ด้านความช่วยเหลือต่าง ๆ เช่น ที่พักชั่วคราวระหว่างตั้งครรภ์และพักฟื้นหลังคลอด ความช่วยเหลือในการดูแลบุตร การฝากครรภ์และการคลอด ส่วนอันดับรองลงมา คือ ความต้องการด้านอื่น ๆ ได้แก่ การที่จะได้รับการปฏิบัติจากสังคมและการปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ยังมีความต้องการด้านข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงานด้านความรู้เกี่ยวกับการตั้งครรภ์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ด้านการส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการวางแผนดำเนินชีวิตต่อไป และด้านการปรึกษา 2. หญิงที่เลือกยุติการตั้งครรภ์ ต้องการบริการในอันดับแรก คือ ด้านข้อมูลเกี่ยวกับหน่วยงาน รองลงมาคือด้านอื่น ๆ ได้แก่ การที่จะได้รับการปฏิบัติจากสังคม และการปฏิบัติธรรมนอกจากนี้ยังมีความต้องการในด้านความช่วยเหลือต่าง ๆ เกี่ยวกับการทำแท้งด้านส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ด้านการวางแผนดำเนินชีวิตต่อไป ด้านความรู้เกี่ยวกับการทำแท้ง และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และด้านการปรึกษา ถึงแม้ความต้องการดังกล่าวจะมีค่ามากน้อย หรือ ประเด็นย่อยในเนื้อหาบริการที่แตกต่างกันในแต่ละกลุ่ม เพราะแนวทางในการแก้ไขปัญหาไม่เหมือนกัน แต่ก็เป็นความต้องการในระดับสูงทุกด้านของแต่ละบริการ และมีค่าการกระจายของความต้องการมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความต้องการหลากหลายในการเลือกใช้บริการ ดังนั้นบริการสังคมจึงไม่ควรจำกัดเฉพาะการจัดบริการใดบริการหนึ่ง บริการควรถูกรับผิดชอบจัดบริการทั้งหน่วยงานรัฐบาลและเอกชน โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือเสียค่าใช้จ่ายแบบเหมาจ่ายโดยไม่แสวงหากำไรเพราะบริการสังคมยังเป็นสิ่งจำเป็นที่ช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเดือดร้อนเฉพาะหน้า เช่น ที่พักความช่วยเหลือทั้งมารดาและบุตร รวมทั้งเป็นแนวทางป้องกันในระยะยาว เช่น การให้ความรู้เรื่องเพศศึกษาและการวางแผนครอบครัว ทั้งนี้ควรมีการประชาสัมพันธ์ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง เช่น กลุ่มอาชีพรับจ้าง นักเรียน นักศึกษา ที่สำคัญครอบครัวและสังคมควรมีทัศนคติที่ดี ยอมรับ เข้าใจและตระหนักในปัญหาเพื่อที่จะเป็นพื้นฐานในการช่วยเหลือ แก้ไขและป้องกันการเกิดปัญหา

Keywords: สังคม, สตรี

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372370000046

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -