ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: บุศรา ลิขิตเจริญวานิช

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาการสนับสนุนทางสังคมที่มีผลต่อการปรับตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ , ศึกษาเฉพาะกรณีหน่วยโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์สตรีโรงพยาบาลศิริราช

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาการสนับสนุนทางสังคมที่มีผลต่อการปรับตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ , ศึกษาเฉพาะกรณีหน่วยโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์สตรีโรงพยาบาลศิริราช , พ.ศ. 2538

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง “การศึกษาการสนับสนุนทางสังคมที่มีผลต่อการปรับตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อ : ศึกษาเฉพาะกรณีหน่วยโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์สตรีโรงพยาบาลศิริราช” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสนับสนุนทางสังคมกับการปรับตัวของหญิงที่ติดเชื้อเอดส์ และปัจจัยที่มีผลต่อการสนับสนุนทางสังคม และปรับตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ที่มีอายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ของครอบครัว ลักษณะครอบครัวที่แตกต่างกัน ทั้งนี้เพื่อส่งเสริมพัฒนาหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์และครอบครัวให้สามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข และเพื่อให้สังคมได้ตระหนักถึงปัญหาและร่วมมือให้ความช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ตลอดจนแนวทางการจัดบริการที่เหมาะสมต่อหญิงตั้งครรภ์ที่เชื้อเอดส์ ต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการศึกษาครั้งนี้กลุ่มเป้าหมายคือ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ ซึ่งมาฝากครรภ์ที่หน่วยโรคติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์สตรี โรงพยาบาลศิริราช การเก็บรวบรวมข้อมูลผู้วิจัยสัมภาษณ์ด้วยตนเองตามประเด็นคำถามในแบบสอบถาม ใช้ระยะเวลาในการเก็บข้อมูล 4 เดือน ระหว่าง 3 มกราคม 2538 ถึง 30 เมษายน 2538 ได้กลุ่มตัวอย่างประชากรจำนวน 45 ราย นำข้อมูลมาวิเคราะห์ โดยใช้สถิติในการหาค่าร้อยละ (Percent) ค่าเฉลี่ย (Mean) ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standardeviation) ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson Product Moment Correlation Coefficient) การทดสอบค่าที (t-rest) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One Way Analysis of Variance) ทดสอบสมมติฐานที่ระดับนัยสำคัญ 0.05 และวัดความเชื่อมั่นของแบบสอบถามด้วยวิธีหาค่าสัมประสิทธิความเชื่อมั่นแอลฟา (Reliability Coefficient Alpha) ได้ระดับความเชื่อมั่นที่ 0.864 และ 0.888 ตามลำดับ ผลการศึกษาสรุปได้ว่า 1. ข้อมูลทั่วไป พบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อที่เป็นกลุ่มศึกษาครั้งนี้มีจำนวน 45 คน ส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 20-24 ปี มากที่สุด ร้อยละ 40 กลุ่มตัวอย่างมีสภาพสมรสคู่ทั้งหมด ระดับการศึกษาส่วนใหญ่ ร้อยละ 77.8 อยู่ในระดับประถมศึกษา ด้านการประกอบอาชีพ พบว่า ประกอบอาชีพรับจ้างมากที่สุด ร้อยละ 57.8 รองลงมา แม่บ้าน และค้าขาย ร้อยละ 28.9 และ 13.3 ตามลำดับ รายได้หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอดส์ที่พบมากที่สุดอยู่ในช่วง 1,000-4,000 บาท/เดือน ร้อยละ 46.7 ส่วนรายได้ของครอบครัวที่พบมากที่สุดอยู่ในช่วง 7,001-10,000 บาท/เดือน ร้อยละ 51.1 และพบว่า หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอดส์และคู่สมรสมีภูมิลำเนาภาคตะวันออกเป็นส่วนใหญ่ เข้ามากรุงเทพ ฯ เพื่อมาทำงาน และพักอาศัยบ้านเช่า , ห้องเช่า ร้อยละ 91.1 โดยเสียค่าเช่าระหว่าง 600-2,450 บาท/เดือน และมีลักษณะครอบครัวเดี่ยว ร้อยละ 68.9 2. การแพร่กระจายเชื่อเอดส์และการวางแผนครอบครัว บุคคลที่แพร่กระจายเชื้อเอดส์มาสู่หญิงตั้งครรภ์ คือ สามี ซึ่งอาจจะเป็นสามีคนแรก หรือสามีใหม่ ร้อยละ 53.3 และ 26.7 ตามลำดับ เนื่องจากทั้งสามีเก่าและสามีใหม่มีพฤติกรรมเสี่ยง เช่น เที่ยวหญิงบริการ สำส่อนทางเพศ ติดยาเสพติดชนิดฉีดเข้าเส้น นอกจากนั้นยังพบว่าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อเอดส์บางคนมีภาวะเสี่ยง เช่น เคยประกอบอาชีพหญิงบริการ มีสามีหลายคน ในการวางแผนครอบครัว หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ส่วนใหญ่ตั้งใจจะทำหมันหลังคลอดร้อยละ 77.8 3. การสนับสนุนทางสังคม 3.1. การสนับสนุนทางด้านอารมณ์ หญิงตั้งครรภติดเชื้อเอดส์ ได้รับการสนับสนุนทางด้านอารมณ์ในระดับสูง โดยได้รับจากสามีมาก ที่สุด ร้อยละ 68.90 รองลงมา กลุ่มเครือญาติ ร้อยละ 24.40 3.2. การสนับสนุนด้านการยอมรับและเห็นคุณค่า หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ได้รับการสนับสนุนด้านการยอมรับและเห็นคุณค่าในระดับปานกลาง โดยได้รับจากเครือญาติมากที่สุด ร้อยละ 62.20 รองลงมาคือ สามี ร้อยละ 22.22 3.3. การสนับสนุนด้านการเป็นส่วนหนึ่งของสังคม หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ได้รับการสนับสนุนทางด้านการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมในระดับปานกลาง โดยได้รับจากสามีมากที่สุด ร้อยละ 55.6 รองลงมาคือ กลุ่มเครือญาติ ร้อยละ 44.4 3.4. การสนับสนุนด้านข้อมูลข่าวสาร หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ได้รับการสนับสนุนทางด้านข้อมูลข่าวสารในระดับสูง โดยได้รับจากกลุ่มผู้ให้การรักษาพยาบาลมากที่สุด ร้อยละ 48.8 รองลงมาคือ สามี ร้อยละ 26.7 และน้อยที่สุดคือ กลุ่มเครือญาติ ร้อยละ 4.4 3.5. การสนับสนุนด้านเงิน สิ่งของ แรงงานและบริการ หญิงตั้งครรภ์ทติดเชื้อเอดส์ได้รับการสนับสนุนทางด้านเงิน แรงงานและบริการ ในระดับปานกลาง โดยได้รับจากสามีมากที่สุด ร้อยละ 35.5 รองลงมา กลุ่มเครือญาติ ร้อยละ 33.3 4. การปรับตัว 4.1. การปรับตัวด้านบทบาทหน้าที่ หญิงตั้งครรภ์ทติดเชื้อเอดส์ มีการปรับตัวในด้านบทบาทหน้าที่ในระดับสูง โดยรับผิดชอบภาระหน้าที่การงาน พยายามดูแลตนเองและสามีให้มีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่ต้องการเป็นภาระของครอบครัวมาตรวจตามแพทย์นัด และเมื่อมีอาการผิดปกติจะพบแพทย์ทันที 4.2. การปรับตัวด้านการพึ่งพาระหว่างกัน หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ การปรับตัวด้านการพึ่งพาระหว่างกันในระดับปานกลาง โดยหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์จะพยายามที่จะช่วยเหลือตนเองตามความสามารถ เมื่อมีความจำเป็นจึงขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ได้แก่ บิดา มารดา ญาติพี่น้อง ฯลฯ 4.3. การปรับตัวด้านมโนทัศน์ หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์มีการปรับตัวด้านมโนทัศน์ระดับปานกลาง โดยหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์จะพยายามดูแลสุขภาพอนามัยให้แข็งแรงเนื่องจากเห็นคุณค่าของตนเอง (Self Esteem) และการได้รับการยอมรับจากสามี หรือบุคคลใกล้ชิด ทำให้หญิงตั้งครรภ์ที่เชื้อเอดส์ลดความวิตกกังวล ความท้อแท้ สิ้นหวัง ผลการวิเคราะห์จากสมมติฐาน สมมติฐานที่ 1 : การสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปรับตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า การสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์ทางบวกกับการปรับตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่เชื้อเอดส์ อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 (r = 0.2777 , p = 0.065) พบว่า 1.1. ปัจจัยที่มีผลต่อการปรับตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ คือ สุขภาพร่างกายของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์และสามีที่แข็งแรงและไม่แสดงอาการของโรค รวมทั้งการตั้งครรภ์ที่ไม่มีปัญหาแทรกซ้อน 1.2. ปัจจัยที่มีผลต่อการสนับสนุนทางสังคมของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์คือ สามีและกลุ่มผู้ให้การรักษาพยาบาลได้แก่ แพทย์ พยาบาล ผู้ช่วยพยาบาล สมมติฐานที่ 2 : หญิงตั้งครรภ์ทติดเชื้อเอดส์ที่มีภูมิหลัง ได้แก่ อายุ ระดับการศึกษา รายได้ของครอบครัว สถานภาพสมรส ลักษณะครอบครัว ที่แตกต่างกันจะมีการปรับตัวต่างกัน ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า หญิงตั้งครรภ์ที่เติดเชื้อเอดส์ที่มีภูมิหลัง ได้แแก่อายุ ระดับการศึกษา รายได้ของครอบครัว สถานภาพสมรส ลักษณะครอบครัวที่แตกต่างกัน จะมีการปรับตัวไม่มีแตกต่างกัน อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ข้อเสนอแนะ จากการศึกษาครั้งนี้ แสดงให้เห็นปัจจัยที่มีผลต่อการปรับตัวของหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์ ดังนั้นการให้บริการหญิงตั้งครรภ์ทติดเชื้อเอดส์ในระดับนโยบาย กระทรวงสาธารณสุข ควรปรับปรุงระบบและรูปแบบการให้คำปรึกษาแนะนำของโรงพยาบาลทุกแห่งและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้มีมาตรฐานเดียวกัน และส่งเสริมให้หญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์มีการวางแผนครอบครัวที่ถูกต้อง นอกจากนั้นควรมีการให้คำปรึกษาที่ต่อเนื่องและมีการติดตามผล ในระดับการปฏิบัติการนั้น ควรให้คำปรึกษาทั้งหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์และสามี สำหรับครอบครัวนักสังคมสงเคราะห์ และทีมสุขภาพ จะต้องพิจารณาให้รอบคอบตามความเหมาะสม เพื่อให้ครอบครัวหรือสามีตระหนักถึงความสำคัญของตนเองในการช่วยเหลือหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อเอดส์และทารกในครรภ์ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

Keywords: สังคม, เพศ, social, sex

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372380000047

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -