ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เด่นสุรางค์ ภิรมย์สวัสดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: อัตมโนทัศน์ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่หลังการได้รับคำปรึกษาทางโทรศัพท์, ศึกษาเฉพาะกรณีผู้ใช้บริการสายนี้ปลอดบุหรี่ ของมูลนิธิหมอชาวบ้าน

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง อัตมโนทัศน์ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่หลังการได้รับคำปรึกษาทางโทรศัพท์, ศึกษาเฉพาะกรณีผู้ใช้บริการสายนี้ปลอดบุหรี่ ของมูลนิธิหมอชาวบ้าน, พ.ศ. 2538

รายละเอียด / Details:

เอกสารการวิจัยเรื่อง อัตมโนทัศน์ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่หลังการได้รับคำปรึกษาทางโทรศัพท์:ศึกษาเฉพาะกรณีผู้ใช้บริการสายนี้ปลอดบุหรี่ ของมูลนิธิหมอชาวบ้าน, พ.ศ. 2538 ‹P>Abstract
การศึกษาเรื่อง “อัตมโนทัศน์ต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่หลังการได้รับคำปรึกษาทางโทรศัพท์:ศึกษาเฉพาะกรณีผู้ใช้บริการ สายนี้ปลอดบุหรี่ ของมูลนิธิหมอชาวบ้าน” มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาอัตมโนทัศน์เกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ของผู้ใช้บริการรับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ และเพื่อศึกษาความสัมพันธระหว่างอัตมโนทัศน์กับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ของผู้รับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ โดยมีขอบเขนการวิจัย คือ ศึกษาอัตมโนทัศน์ของผู้รับคำปรึกษาทางโทรศัพท์ ในด้านที่เกี่ยวกับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ศึกษาถึงปัจจัยที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ หลังการได้รับคำปรึกษาทางโทรศัพท์แล้วประมาณ 1 เดือน และเป็นการศึกษาผู้ใช้บริการให้คำปรึกษาทางโทรศัพท์ ในโครงการสายนี้ปลอดบุหรี่ของมูลนิธิหมอชาวบ้าน ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร ระเบียบวิธีวิจัยครั้งนี้ ใช้แบบสัมภาษณ์เป็นเครื่องมือในการศึกษาโดยใช้การสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Quota Slampling) โดยพิจารณาจากบัญชีรายชื่อของผู้ใช้บริการ เพื่อความทั่วถึงของกลุ่มประชากร ซึ่งผู้ให้สัมภาษณ์จะได้แก่ ตัวผู้ใช้บริการรับคำปรึกษาทางโทรศัพท์เพื่อตนเอง จำนวน 40 ราย ผลการศึกษาพบว่า สาเหตุของการสูบบุหรี่จากการอยากรู้ อยากลองทำร้อยละ 27.5 ส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่มองไปในแง่ดี ร้อยละ 55 ความพยายามในการเลิกสูบบุหรี่ของผู้ใช้บริการ 5-6 ครั้ง ร้อยละ 30 อุปสรรคของการเลิกสูบบุหรี่ คือ อาการขาดบุหรี่ ร้อยละ 75 และปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการเลิกสูบบุหรี่คือ ความเป็นห่วงสุขภาพของตนเองร้อยละ 65 อัตมโนทัศน์ของกลุ่มตัวอย่างก่อนการได้รับคำปรึกษา มีอัตมโนทัศน์ที่หลากหลายเป็นไปในทางบวก เช่น การสูบบุหรี่ไม่ใช่การผ่อนคลายอารมณ์ทางที่ดี และในทางลบ เช่น การสูบบุหรี่มาเป็นเวลานานจนไม่สามารถเลิกสูบบุหรี่ได้ แต่จากการได้รับคำปรึกษาแล้วพบว่า ผู้รับคำปรึกษาได้รับแรงสนับสนุนในด้านอารมณ์ การให้กำลังใจ ความสนใจในการเลิกสูบบุหรี่ และในด้านข่าวสารข้อมูลเกี่ยวกับกับการเลิกสูบบุหรี่ วิธีการเลิกสูบแนวทางการปฏิบัติตนในการเลิกสูบบุหรี่อย่างถูกต้อง ทำให้มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอัตมโนทัศน์ต่อการสูบและเลิกสูบ มีอัตมโนทัศน์เป็นไปในทางบวก และมีผลให้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมสูบบุหรี่ พบว่า มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ร้อยละ 71.5 ประกอบด้วย ลดปริมาณการสูบบุหรี่ ร้อยละ 57.5 และเลิกสูบบุหรี่ ร้อยละ 20 นอกนั้นไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ร้อยละ 22.5 การทดสอบสมมติฐานการศึกษาโดยการหาความสัมพันธ์ได้แก่ อัตมโนทัศน์ ด้านแรงจูงใจ ด้านความรู้เกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ที่เหมาะสม และการรับรู้ปัจจัยทางสังคมต่อการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า อัตมโนทัศน์ทางบวกของกลุ่มที่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการสูบบุหรี่หลังการได้รับคำปรึกษา ได้แก่ - แรงจูงใจในการเลิกสูบบุหรี่ อัตมโนทัศน์ทางบวก เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เลิกสูบบุหรี่ได้ คือ เป็นห่วงสุขภาพตนเอง ร้อยละ 93.5 - การได้รับความรู้เกี่ยวกับการเลิกสูบบุหรี่ที่ถูกต้อง อัตมโนทัศน์ทางบวก เช่นการเลิกสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ไม่ยากจนเกินความสามารถร้อยละ 90.3 - การรับรู้ปัจจัยทางสังคม อัตมโนทัศน์ทางบวก เช่น การสูบบุหรี่เป็นเรื่องที่สังคมรังเกียจ ร้อยละ 87.1 ในส่วนของผู้ศึกษาได้ให้ข้อเสนอแนะว่า หน่วยที่เกี่ยวข้องควรจัดให้มีการเผยแพร่ความรู้ในเรื่องอันตรายของบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพอย่างต่อเนื่อง ควรมีการให้บุคคลในครอบครัว ผู้อยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ได้ทราบถึงความสำคัญ และตระหนักถึงบทบาทที่พึงมีต่อผู้สูบบุหรี่ ในการให้กำลังใจและควรมีการรณรงค์ในการให้ความรู้ สร้างความเข้าใจเกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่แก่เด็ก เพื่อเป็นการป้องกันมิให้เริ่มสูบบุหรี่ ซึ่งคาดว่าจะเป็นการลดปริมาณผู้สูบบุหรี่ในสังคมได้ ในส่วนของผู้ให้คำปรึกษาควรสร้างความเข้าใจในกลวิธีระดับการรับรู้และระดับพฤติกรรมให้เกิดผลสูงสุด โดยการแนะนำหรือสร้างทักษะเฉพาะสำหรับผู้ใช้บริการให้คำปรึกษานั้น สิ่งสำคัญคือ ความตั้งใจอย่างแน่วแน่ในการเลิกสูบบุหรี่ และการสร้างความเชื่อมั่นในตนเอง การสร้างแรงจูงให้ตนเองอยู่เสมอในทุกวัน ในขณะที่เลิกสูบบุหรี่หากเกิดความเครียด วิตกกังวล มีความอ่อนแอทางจิตใจ การเพิ่มพลังจิตให้เข้มแข็งด้วยการบริหารจิต ทำสมาธิ ช่วยเพิ่มความเข้มแข็ง ให้มีสติ มีจิตใจมั่นคง และมีการแก้ปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

Keywords: บุหรี่, ยาเสพติด, drug

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372380000049

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -