ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: เบญจมาภรณ์ ศรีคำภา

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาสุขภาพจิตของบุคลากรทางจิตเวชในโรงพยาบาลศรีธัญญา

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาสุขภาพจิตของบุคลากรทางจิตเวชในโรงพยาบาลศรีธัญญา , พ.ศ. 2538

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง “การศึกษาสุขภาพจิตของบุคลากรทางจิตเวชในโรงพยาบาลศรีธัญญา” มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาภาวะสุขภาพจิตของบุคลากรทางจิตเวช ปัจจัยที่สัมพันธ์กับสุขภาพจิตและแนวทางการดูแลตนเองด้านสุขภาพจิตของบุคลากรทางจิตเวช โดยการเก็บรวบรวมข้อมูลจากบุคลากรทางจิตเวช ที่รับราชการในโรงพยาบาลศรีธัญญา สังกัดกรมสุขภาพจิต ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ เภสัชกร พยาบาลวิชาชีพ นักสังคมสงเคราะห์ นักจิตวิทยา พยาบาลเทคนิค ผู้ช่วยเภสัชกร เจ้าหน้าที่เภสัชกร เจ้าหน้าที่อาชีวบำบัด พนักงานอาชีวบำบัด พนักงานเวชกรรมฟื้นฟู เจ้าหน้าที่วิทยาศาสตร์การแพทย์และผู้ช่วยเหลือคนไข้ รวมทั้งสิ้น 100 คน คิดเป็นร้อยละ 100.0 ผลการศึกษา 1. ข้อมูลทั่วไป ประชากรที่ศึกษามีจำนวน 100 คน เป็นหญิงมากกว่าชาย สถานภาพสมรสคู่ มีอายุระหว่าง 30-34 ปี ส่วนใหญ่มีการศึกษาระดับมัธยมศึกษา ครึ่งหนึ่งเป็นผู้ช่วยเหลือคนไข้ กลุ่มตัวอย่างส่วนมากมีระยะเวลาในการปฏิบัติงาน 1-10 ปี เวลาในการปฏิบัติงาน เป็นเวรเช้า บ่าย ดึก ที่รายได้ระหว่าง 5,001-9,000 บาท 2. สุขภาพจิตของบุคลากรทางจิตเวช จากสมมติฐานที่ 1 บุคลากรทางจิตเวชเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี ผลการทดสอบสมมติฐานพบว่า ยอมรับสมมติฐานที่ 1 กล่าวคือ บุคลากรทางจิตเวชส่วนใหญ่มีสุขภาพจิตดี โดยมีคะแนนอยู่ในเกณฑ์ปกติ เมื่อเทียบกับคะแนนมาตรฐาน (T-score) คิดเป็นร้อยละ 72.0 คะแนนสุขภาพจิตของบุคลากรทางจิตเวช เมื่อนำมาเทียบกับคะแนนมาตรฐาน (T-score) พบว่า สุขภาพจิตด้านความเกลียดชังไม่เป็นมิตรและความหวาดระแวง มีคะแนนสูงที่สุดเท่ากับ T-score ที่ 56 จึงอาจสรุปได้ว่า บุคลากรทางจิตเวชเป็นผู้ที่มีสุขภาพจิตดี และพบว่ากลุ่มอาชีพผู้ช่วยเหลือคนไข้มีจำนวนผู้มีสุขภาพจิตดีมากที่สุด โดยเพศชายและหญิงมีสุขภาพจิตแตกต่างกันในด้านย้ำคิดย้ำทำ ความรู้สึกไม่ชอบการติดต่อกับคนอื่น ความหวาดกลัวโดยไม่มีเหตุผลและความหวาดระแวง และบุคลากรทางจิตเวชผู้ปฏิบัติงานเฉพาะเวรเช้ามีสุขภาพจิตไม่แตกต่างจากผู้ปฏิบัติงาน เป็นผลัดเช้า บ่าย ดึกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 นอกจากนี้ยังพบว่า อาชีพ ระดับการศึกษา และรายได้ จะมีผลต่อสุขภาพจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนสถานภาพสมรสและระยะเวลาในการปฏิบัติงานไม่มีผลต่อสุขภาพจิต 3. ปัจจัยที่มีความสำคัญกับสุขภาพจิตของบุคลากรทางจิตเวช จากการศึกษาปัจจัยที่สัมพันธ์กับสุขภาพจิตของบุคลากรทางจิตเวช โดยแจกแจงเป็นค่าร้อยละ พบว่า ปัจจัยที่สัมพันธ์กับสุขภาพจิตของบุคลากรทางจิตเวชมากที่สุด ในด้านการบริหารในโรงพยาบาล คือ การให้โอกาสไปอบรม ศึกษาดูงาน หรือศึกษาต่อเพื่อพัฒนาความรู้ให้ก้าวหน้าที่ยิ่งขึ้น ด้านลักษณะงานคือ งานด้านสุขภาพจิตเป็นงานที่เสี่ยงต่อการถูกผู้ป่วยที่มีอาการทางจิตทำร้ายด้านสัมพันธภาพกับผู้ร่วมงาน คือ เพื่อนร่วมงานขาดความกระตือรือร้น และด้านสถานที่ปฏิบัติงานคือ เรื่องตึกมีความห่างกันมากทำให้เกิดความไม่สะดวกในการติดต่อประสานงาน โดยเมื่อนำปัจจัยทั้ง 4 ด้าน ที่กล่าวมาข้างต้นมาทดสอบสมมติฐานที่ 2 โดยนำมาหาค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน เพื่อทดสอบความสัมพันธ์ ผลปรากฏว่า ปัจจัยด้านสถานที่ คือ เรื่องตึกมีความห่างกันมากทำให้เกิดความไม่สะดวกในการติดต่อประสานงาน ด้านลักษณะงาน เรื่องผู้ป่วยและญาติไม่ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติงาน การปฏิบัติงานด้านสัมพันธภาพกับผู้ร่วมงาน เรื่องจำนวนบุคลากรในหน่วยงานไม่คงที่ มีการย้าย ลาออก ทำให้ต้องปรับตัวเข้ากับเพื่อนร่วมงานใหม่ และด้านการบริหารงานในโรงพยาบาล เรื่องผู้บริหารให้ความสนใจในความเป็นอยู่และช่วยเหลือผู้ใต้บังคับบัญชาเมื่อประสบปัญหา มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตโดยรวมของบุคลากรทางจิตเวชมากที่สุด อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ซึ่งผลจากการทดสอบสมมติฐาน สรุปได้ว่า ปัจจัยด้านการบริหารงานในโรงพยาบาล ลักษณะงาน สัมพันธภาพกับผู้ร่วมงาน สถานที่ปฏิบัติงาน มีความสัมพันธ์กับสุขภาพจิตของบุคลากรทางจิตเวช อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 4. การดูแลตนเองทางสุขภาพจิต จากการศึกษาพบว่า บุคลากรทางจิตเวชส่วนใหญ่มีการดูแลตนเองทางสุขภาพจิตดีในระดับปานกลาง คิดเป็นร้อยละ 64.0 โดยอาชีพที่ดูแลตนเองในระดับปานกลาง ได้แก่ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาลวิชาชีพ พนักงานอาชีวบำบัด ผู้ช่วยเภสัชกร เจ้าหน้าที่เภสัชกรและผู้ช่วยเหลือคนไข้ และแนวทางที่บุคลากรทางจิตเวชส่วนใหญ่เลือกปฏิบัติในการดูแลตนเองทางสุขภาพจิต ด้านการรู้จักตนเอง คือ การให้ความสนใจกับคำพูดและกริยาท่าทางของผู้ที่สนทนาด้วย ด้านการเผชิญปัญหา คือ การพิจารณาให้รู้ถึงสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา ก่อนที่จะแก้ไขปัญหานั้น ๆ ด้านการสนับสนุนทางสังคม คือ การช่วยเหลือเพื่อนหรือบุคคลอื่น เมื่อทราบว่าเขาต้องการช่วยเหลือ ด้านการดูแลตนเองโดยทั่วไป คือ การออกกำลังกายหรือออกแรงทุกวัน

Keywords: บุคลากร, สุขภาพจิต, จิตเวช,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 372380000050

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -