ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นีรา พรเดชวงศ์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพยายามฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพยายามฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร, พ.ศ. 2538

รายละเอียด / Details:

การศึกษาเรื่อง “ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพยายามฆ่าตัวตายของผู้ป่วยโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร” เป็นการศึกษาเชิงคุณภาพโดยมีวัตถุประสงค์ในการศึกษาเพื่อศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพยายามฆ่าตัวตาย ลักษณะของประชากรและสภาวะทางสังคมของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย อีกทั้งต้องการศึกษาหาแนวทางการปฏิบัติงานด้านสังคมสงเคราะห์เพื่อป้องกันปัญหาการพยายามฆ่าตัวตาย โดยการศึกษาครั้งนี้มุ่งประเด็นของตัวแปรในการศึกษา 3 ด้าน คือ 1. ปัจจัยทางด้านสังคม ไดแก่ เพศ อายุ การศึกษา อาชีพ ภูมิลำเนาเดิม สภาพครอบครัว สภาวะการเลี้ยงดูในครอบครัว ฯลฯ 2. ปัจจัยทางด้านร่างกาย ได้แก่ภาวะพันธุกรรม การเกิดโรคเรื้อรัง ความพิการของร่างกาย เป็นต้น 3. ปัจจัยทางด้านจิตใจ ได้แก่ การปรับตัวต่อปัญหาภาวะโรคจิตโรคประสาทเป็นต้น การศึกษาครั้งนี้ ทำการศึกษาโดยใช้การสัมภาษณ์ตามแบบสัมภาษณ์แบบเจาะลึก ถึงข้อมูล ทั่วไปของประชากร ข้อมูลเกี่ยวกับคู่สมรสและความสัมพันธ์ระหว่างผู้ป่วยกับสิ่งแวดล้อม ทำการศึกษากับผู้ป่วยที่พยายามฆ่าตัวตายและมารับการรักษาในโรงพยาบาลสังกัดกรุงเทพมหานคร 4 แห่งคือ วชิรพยาบาล โรงพยาบาลเจริญกรุงประชารักษ์ โรงพยาบาลกลาง และโรงพยาบาลตากสิน ในช่วงเดือนธันวาคม 2538 –มีนาคม 2539 รวมระยะเวลาในการศึกษาทั้งสิ้น 4 เดือน ได้ประชากรในการศึกษาจำนวน 20 ราย และได้ทำการศึกษาเป็นรายกรณี (Case Study) จำนวน 5 ราย การนำเสนอผลการศึกษาใช้สถิติพรรณนาาประกอบตาราง อธิบายด้วยค่าร้อยละ (Percentage) ผลการศึกษาพบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการพยายามฆ่าตัวตายในด้านปัจจัยทางสังคมนั้นส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงมากกว่าเพศชาย มีอายุระหว่าง 15-19 ปี การศึกษาอยู่ในระดับมัธยมต้น มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร อาชีพรับจ้างรายวัน รับจ้างทั่วไปส่วนใหญ่มีสถานภาพเป็นบุตรในครอบครัว ไม่มีภาระรับผิดชอบในครอบครัว ยังอาศัยอยู่รวมกันกับบิดามารดา ซึ่งลำดับที่การเป็นบุตรพบว่าเป็นบุตรคนสุดท้องมากที่สุด ความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาในวัยเด็กไม่ดี ไม่มีภาระหนี้สิน และส่วนใหญ่มีปัญหาในด้านความสัมพันธ์ในครอบครัว ในปัจจัยทางด้าน ร่างกาย พบว่าไม่มีโรคประจำตัวหรือโรคเรื้อรัง ไม่มีภาวะโรคทางพันธุกรรมหรือความพิการทางด้านร่างกาย แต่พบว่าเป็นโรคของความเครียดและโรคติดเชื้อ HIV ไม่มีโรคจากการใช้สารเสพติด ส่วนปัจจัยทางจิตใจพบว่ามีภาวะของโรคจิตประสาท และจะมีภาวะของความคิด ความรู้สึกน้อยใจ เกรงต่อสังคมรอบข้างและมีวิธีการแก้ไขปัญหาด้วยตัวเองโดยไม่ปรึกษากับผู้ใด มีทัศนคติในทางบวกต่อการพยายามฆ่าตัวตาย ในด้านลักษณะของประชากรและสภาวะทางสังคมพบว่าลักษณะประชากรมีสถานภาพเป็นบุตรที่มีความเป็นอยู่แบบครอบครัว แต่เป็นครอบครัวขนาดเล็ก ลักษณะความเป็นอยู่มีเฉพาะด้านกายภาพที่เป็นครอบครัว แต่ในด้านความสัมพันธ์ในครอบครัวออกมาในรูปของการแตกแยก ขัดแย้ง ประชากรมีภาวะการปรับตัวต่อปัญหาเป็นไปในลักษณะที่ผิดปกติ มีการติดสินใจอย่างรวดเร็ว ใช้กลไกการป้องกันของจิตมากแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ เนื่องจากนำไปใช้ในทางไม่เหมาะสม ผู้ศึกษาได้ให้ข้อเสนอแนะใน 2 ประเด็นใหญ่ ๆ คือ 1. ข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติงาน 2. ข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาครั้งต่อไป สำหรับข้อเสนอแนะเพื่อการปฏิบัติ ได้เสนอแนะในด้านของการปฏิบัติงานกับครอบครัวของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย คู่สมรสของผู้ที่พยายามฆ่าตัวตายให้ได้รับความเอาใจใส่ สร้างความสัมพันธ์ที่ดีในครอบครัว การพยายามลดความขัดแย้งและสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาในชีวิต ข้อเสนอแนะต่อนักสังคมสงเคราะห์ ผู้ปฏิบัติงานร่วมและผู้บริหารงานให้เกิดความรู้ความเข้าใจ การรับรู้สาเหตุ รูปแบบ ระบบงานที่ปฏิบัติงานกับผู้ที่พยายามฆ่าตัวตาย รวมถึงการพยายามสร้างเครือข่าย การสนับสนุนทางสังคมในการให้ความช่วยเหลือและป้องกันการพยายามฆ่าตัวตาย ข้อเสนอแนะเพื่อการศึกษาครั้งต่อไปควรมีการศึกษาและป้องกันการพยายามฆ่าตัวตายในวัยรุ่น เพื่อเป็นการลดอัตราการพยายามฆ่าตัวตายในอนาคต

Keywords: ฆ่าตัวตาย, suicide

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

Code: 372380000051

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -