ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ประไพศรี ซ่อนกลิ่น และคณะ

ชื่อเรื่อง/Title: การป้องกันและควบคุมการใช้สารเสพติดในนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในโรงเรียนมัธยม 6 แห่ง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2530

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การป้องกันและควบคุมการใช้สารเสพติดในนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหาในโรงเรียนมัธยม 6 แห่ง จังหวัดเชียงใหม่ พ.ศ. 2530

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อลดอัตราการใช้สารเสพติดในนักเรียนชั้น ม.1-ม.3 ในโรงเรียนมัธยม 6 แห่ง ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยความร่วมมือจากสถาบันการศึกษาและสถาบันครอบครัว รูปแบบการวิจัย เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ ประชากรที่ศึกษาได้แก่นักเรียนชั้น ม.1-ม.3 ซึ่งเป็นนักเรียนที่มีพฤติกรรมที่เป็นปัญหา จำนวน 42 คน บิดามารดาหรือผู้ปกครองของนักเรียนจำนวน 27 คน เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการใช้แบบสำรวจพฤติกรรมของนักเรียน แบบทดสอบความพึ่งพิงกลุ่มเพื่อนและความไม่เป็นอิสระที่แท้จริง แบบทดสอบความรู้สึกส่วนตน การสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม การสังเกตการณ์ การตรวจสุขภาพ และการตรวจทางห้องทดลอง บันทึกจากระเบียนของคลินิกแนะแนวผู้มีปัญหาสังคมทางการแพทย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน สถิติที่ใช้ได้แก่ ค่าร้อยละ และ T-test ผลการวิจัยพบว่า อัตราการใช้สารเสพติดของนักเรียนชั้น ม.1-ม.3 ใน 6 โรงเรียน เท่ากับร้อยละ 0.43 (23 คน ใน 5,326 คน) เป็นเพศชายทั้งหมด สารเสพติดที่นิยมใช้ทั้งหมดเป็นสารระเหย ได้แก่ กาว 3 เค แลกเกอร์ ทินเนอร์ และเบนซินตามลำดับ อัตราการเสพสารระเหยสูงขึ้นตามชั้นเรียน คือ ม.1 , ม.2 , ม.3 ร้อยละ 4.35 , 43.48 และ 52.17 ตามลำดับ บิดามารดาของเด็กทั้งสองกลุ่มส่วนใหญ่อยู่ด้วยกัน แต่เป็นครอบครัวที่เป็นปัญหา นักเรียนอาศัยอยู่กับบิดามารดา ร้อยละ 52 คณะผู้วิจัยและคณาจารย์ในโรงเรียนได้ร่วมมือกันวางแผนจัดกิจกรรม ดำเนินกิจกรรมและประเมินผลกิจกรรมการป้องกันและควบคุมการใช้สารเสพติดในนักเรียนทั้ง 2 กลุ่ม กิจกรรมการป้องกันได้แก่ การให้คำแนะนำปรึกษาเป็นรายกลุ่มและรายบุคคล การเสริมสร้างความรู้เรื่องโทษและพิษภัยของสารระเหย การจัดให้มีการเรียนซ่อมเสริมวิชาที่เรียนไม่ดี การสอนแบบกลุ่มสัมพันธ์ กิจกรรมด้านการควบคุมได้แก่ การตรวจสุขภาพ การ X-rays ทรวงอก , การทดสอบทางด้านจิตวิทยา การเยี่ยมนักเรียนที่โรงเรียนและที่บ้าน การนัดให้นักเรียนมาที่คลินิกแนะแนว ฯ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน กิจกรรมที่จัดให้แก่บิดามารดาหรือผู้ปกครองของนักเรียน ได้แก่ การให้คำปรึกษาแนะนำเป็นรายบุคคล การเสริมสร้างความรู้เรื่องโทษและพิษภัยของสารระเหย การเยี่ยมบ้านและสถานที่ทำงาน การนัดให้มาที่คลินิกแนะแนว ฯ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน ผลจากการจัดกิจกรรมพบว่า จากการสำรวจพฤติกรรมของนักเรียนโดยครูก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรมของนักเรียน พบว่าพฤติกรรมที่เป็นปัญหาได้ลดลง พฤติกรรมที่ลดลงมากที่สุดได้แก่ การเสพสารระเหย การก่อการทะเลาะวิวาท การดื่มสุราเบียร์ ตามลำดับ และจากการทดสอบทางด้านจิตวิทยาก่อนและหลังการเข้าร่วมกิจกรรมฯ ของนักเรียน พบว่ามีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในด้านต่าง ๆ 7 ด้าน ได้แก่ การมีชีวิตที่เป็นสุขในปัจจุบัน การเป็นตัวของตัวเอง การนับถือตนเอง การยอมรับตนเอง การมองโลกในแง่ดี การไม่ยึดถือการเป็นปฏิปักษ์ ความสามารถในการสร้างความใกล้ชิดกับผู้อื่น สำหรับด้านอื่น ๆ ที่ไม่พัฒนาขึ้นนั้นได้แก่ ค่านิยมของการบรรลุภาวะแห่งตน การมีความยืดหยุ่นในตนเอง และความไวต่อความรู้สึกของตนเอง การวิจัยครั้งนี้ นอกจากจะได้ข้อมูลพื้นฐานที่มีความสำคัญในการนำไปประยุกต์ใช้ในการวางแผนงานแก้ไขปัญหาการใช้สารเสพติดในนักเรียนแล้ว ยังได้มีการรวมพลังชุมชนเข้ามามีส่วนในการแก้ปัญหาสิ่งเสพติดในชุมชน วิธีการเช่นนี้สามารถจะนำไปประยุกต์ใช้ในจังหวัดอื่น ๆ ได้อีกด้วย

Keywords: adolescence, adolescent, drug, psychiatry, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, นักเรียน, ยาเสพติด, วัยรุ่น, สารระเหย

ปีที่เผยแพร่/Year: 2530

Address: มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 373320000014

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -