ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พิมผกา สุขกุล

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยด้านการทำงานและปัจจัยส่วนบุคคลของพยาบาลห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2535

รายละเอียด / Details:

การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความเครียดของพยาบาลห้องผ่าตัด ในโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยด้านการทำงานและปัจจัยส่วนบุคคล กลุ่มตัวอย่างคือ พยาบาลวิชาชีพที่ปฏิบัติงานในห้องผ่าตัดโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 แห่ง คือ โรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา จังหวัดนครราชสีมา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี โรงพยาบาลขอนแก่น จังหวัดขอนแก่นและโรงพยาบาลอุดรธานี จังหวัดอุดรธานี จำนวน 73 คน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วยแบบสอบถาม 2 ส่วน ซึ่งแบ่งเป็นปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยด้านการทำงานที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเองและแบบประเมินความเครียด ซึ่งดัดแปลงจากแบบประเมินความเครียดของฐานฯ ธรรมคุณ นำเครื่องมือไปตรวจสอบความเที่ยงตรงด้านเนื้อหาและนำไปหาความเชื่อมั่น ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามปัจจัยด้านการทำงานเท่ากับ 0.90 และแบบประเมินความเครียดเท่ากับ 0.96 ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า 1. ความเครียดของพยาบาลห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 4 โรงพยาบาลอยู่ในระดับที่มีความเครียดน้อย 2. ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยด้านการทำงานในด้านลักษณะงานสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงาน การบริหารและการสนับสนุนในหน่วยงานของพยาบาลห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้าม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05, .01 และ .001 ตามลำดับ ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยด้านการทำงานในด้านสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงานของพยาบาลห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีความสัมพันธ์กัน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยด้านการทำงานของแต่ละโรงพยาบาล พบว่า 2.1 ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยด้านการทำงานในด้านลักษณะงานของพยาบาลห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ มีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้าม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลขอนแก่นและโรงพยาบาลอุดรธานี ไม่มีความสัมพันธ์กัน 2.2 ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยด้านการทำงานในด้านสภาพแวดล้อมในสถานที่ทำงานของพยาบาลห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมามีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้าม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลขอนแก่นและโรงพยาบาลอุดรธานี ไม่มีความสัมพันธ์กัน 2.3 ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยด้านการทำงานในด้านสัมพันธภาพระหว่างเพื่อนร่วมงานของพยาบาลห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา มีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้าม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ โรงพยาบาลขอนแก่นและโรงพยาบาลอุดรธานี ไม่มีความสัมพันธ์กัน 2.4 ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยด้านการทำงานในด้านการบริหารและการสนับสนุนในหน่วยงานของพยาบาลห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลขอนแก่น มีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ และโรงพยาบาลอุดรธานีไม่มีความสัมพันธ์กัน 3. ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยส่วนบุคคลด้านระยะเวลาการปฏิบัติงาน อายุ สถานภาพสมรส และภาระครอบครัวของพยาบาลห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลศูนย์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือไม่มีความสัมพันธ์กัน เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยส่วนบุคคลของแต่ละโรงพยาบาลพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างความเครียดกับปัจจัยส่วนบุคคลด้านอายุของพยาบาลห้องผ่าตัดในโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ มีความสัมพันธ์ในทางตรงกันข้ามอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนในโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา โรงพยาบาลขอนแก่นและโรงพยาบาลอุดรธานีไม่มีความสัมพันธ์กัน

Keywords: nurse, mental health, stress, เครียด, ความเครียด, พยาบาลห้องผ่าตัด, สุขภาพจิต, พยาบาล

ปีที่เผยแพร่/Year: 2535

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 373350000008

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -