ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นาฏยา เอื้องไพโรจน์

ชื่อเรื่อง/Title: ผลการให้ข้อมูลอย่างมีแบบแผนต่อความวิตกกังวลของคู่สมรสของผู้ป่วยที่อยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยหนักศัลยกรรม

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ผลการให้ข้อมูลอย่างมีแบบแผนต่อความวิตกกังวลของคู่สมรสของผู้ป่วยที่อยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยหนัก , พ.ศ. 2535

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการให้ข้อมูลอย่างมีแบบแผนต่อความวิตกกังวลของคู่สมรสของผู้ป่วยที่อยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยหนักศัลยกรรม กลุ่มตัวอย่างมีอายุระหว่าง 28-65 ปี ทั้งเพศชายและเพศหญิง เป็นคู่สมรสของผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในหออภิบาลผู้ป่วยหนักศัลยกรรม โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 20 ราย เลือกตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนตัวของคู่สมรสของผู้ป่วย แบบประเมินความวิตกกังวลในสถานการณ์ขณะนั้นของ สปิลเบอร์เกอร์ ชื่อ STAI From X-I ได้รับการแปรเป็นภาษาไทยโดย นิตยา คชภักดี และคณะ และแบบแผนการให้ข้อมูลแก่คู่สมรสของผู้ป่วยที่อยู่ในหออภิบาลผู้ป่วยหนักศัลยกรรม ความเที่ยงตรงด้านเนื้อหาโดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบ และนำไปทดลองใช้กับกลุ่มที่คล้ายคลึงกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 5 ราย เพื่อประเมินความสามารถในการเข้าใจและนำมาปรับปรุงก่อนใช้ให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น แบบประเมินความวิตกกังวลนำไปทดลองใช้กับคู่สมรสที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มตัวอย่างจำนวน 6 ราย ได้ค่าสัมประสิทธิ์ความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 วิเคราะห์ข้อมูลโดยนำข้อมูลส่วนตัวของกลุ่มตัวอย่างมาแจกแจงความถี่และคำนวณร้อยละ ข้อมูลเกี่ยวกับความวิตกกังวลก่อนและหลังได้รับข้อมูลอย่างมีแบบแผนนำมาวิเคราะห์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า 1. ความวิตกกังวลก่อนได้รับข้อมูลและหลังได้รับข้อมูลอย่างมีแบบแผนครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 โดยใช้การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวแบบวัดซ้ำ พบว่า มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 กล่าวคือ ความวิตกกังวลหลังได้รับข้อมูลอย่างมีแบบแผนครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ต่ำกว่าก่อนได้รับข้อมูล 2. ทดสอบค่าเฉลี่ยของคะแนนความวิตกกังวลเป็นรายคู่โดยใช้ตูกี้ พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนนความวิตกกังวลก่อนได้รับข้อมูลและหลังได้รับข้อมูลครั้งที่ 1 มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และค่าเฉลี่ยของคะแนนความวิตกกังวลก่อนได้รับข้อมูลและหลังได้รับข้อมูลครั้งที่ 2 มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนค่าเฉลี่ยของคะแนนความวิตกกังวลหลังได้รับข้อมูลครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ไม่แตกต่างกัน

Keywords: anxiety, psychiatry, stress, เครียด, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์

ปีที่เผยแพร่/Year: 2535

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม

Code: 373350000017

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -