ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อุมาพร รักษทิพย์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยบางประการที่มีอิทธิพลต่อพฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มารับคำปรึกษาจากพยาบาล โรงพยาบาลนครพิงค์

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2537

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดของผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่มารับคำปรึกษาจากพยาบาลกับปัจจัยบางประการได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา ฐานะทางเศรษฐกิจ และสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในครอบครัวกลุ่มตัวอย่าง คือผู้ที่ได้รับการตรวจเลือดและวินิจฉัยว่าติดเชื้อเอชไอวี และมารับคำปรึกษาจากพยาบาล โรงพยาบาลนครพิงค์ ระหว่างเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2536 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2537 จำนวน 60 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์ ประกอบด้วยแบบบันทึกข้อมูลทั่วไป แบบสัมภาษณ์สัมพันธภาพระหว่างบุคคลในครอบครัว และแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมเผชิญภาวะเครียด โดยผู้วิจัยดัดแปลงมาจากแบบวัดพฤติกรรมการปรับตัวของนิตยา โรจน์ทินกร ซึ่งดัดแปลงมาจากแบบวัดพฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดของ จาโลวิค ผู้วิจัยนำเครื่องมือไปหาความเที่ยงตรงด้านเนื้อหาโดยให้ผู้ทรงคุณวุฒิตรวสอบ และนำไปหาค่าความเชื่อมั่นของเครื่องมือโดยใช้สัมประสิทธิ์แอลฟาของครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสัมภาษณ์สัมพันธภาพระหว่างบุคคลในครอบครัว เท่ากับ 0.87 และได้ค่าความเชื่อมั่นของแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดเท่ากับ 0.85 วิเคราะห์ข้อมูลใช้การแจกแจงความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน หาความสัมพันธ์ โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และวิเคราะห์การถดถอยพหุคูณแบบขั้นตอน ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า 1. ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมีพฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดอยู่ในระดับปานกลาง และมีการใช้พฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดด้านมุ่งแก้ปัญหามากกว่าด้านการจัดการกับอารมณ์ 2. พฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดโดยรวมของผู้ติดเชื้อเอชไอวี มีความสัมพันธ์ทางบวกกับระดับการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนพฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดด้านมุ่งแก้ปัญหา มีความสัมพันธ์ทางบวกกับระดับการศึกษาและสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในครอบครัวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 และ .01 ตามลำดับ พฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดด้านการจัดการกับอารมณ์มีความสัมพันธ์ทางลบกับสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในครอบครัว อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ส่วนเพศ อายุ สถานภาพสมรส และฐานะทางเศรษฐกิจพบว่าไม่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดของผู้ติดเชื้อเอชไอวี 3. ไม่มีปัจจัยตัวใดสามารถพยากรณ์พฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดโดยรวมของผู้ติดเชื้อเอชไอวีได้ แต่พบว่าสัมพันธภาพระหว่างบุคคลในครอบครัวสามารถพยากรณ์พฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดด้านมุ่งแก้ปัญหาได้ร้อยละ 9.22 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณเท่ากับ .30356 ส่วนพฤติกรรมเผชิญภาวะเครียดด้านการจัดการกับอารมณ์ไม่มีปัจจัยตัวใดสามารถร่วมพยากรณ์ได้

Keywords: AIDS, behavior, behaviour, HIV, psychiatry, stress, เครียด, เอดส์, โรคเอดส์, ความเครียด, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, พฤติกรรม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 373370000003

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -