ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วัลภา สบายยิ่ง

ชื่อเรื่อง/Title: ความรู้ความเข้าใจทางจริยธรรมเกี่ยวกับพฤติกรรมต่อตนเองของวัยรุ่นติดสิ่งเสพติดชนิดร้ายแรง ที่เข้ารับการรักษาในสถานบำบัดรักษา กรุงเทพมหานคร.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ความรู้ความเข้าใจทางจริยธรรมเกี่ยวกับพฤติกรรมต่อตนเองของวัยรุ่นติดสิ่งเสพติดชนิดร้ายแรง ที่เข้ารับการรักษาในสถานบำบัดรักษา กรุงเทพมหานคร , พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและสำรวจความรู้ความเข้าใจทางจริยธรรมเกี่ยวกับพฤติกรรมต่อตนเอง ของวัยรุ่นติดสิ่งเสพติดชนิดร้ายแรงในสถานบำบัดรักษากรุงเทพมหานครเพื่อเปรียบเทียบความรู้ความเข้าใจทางจริยธรรมตามตัวแปรอิสระ 5 ตัวแปร ได้แก่ ระดับการศึกษา ระยะเวลาที่ติดยาเสพติด ระยะเวลาที่บำบัดรักษา อาชีพหลักของครอบครัว และจำนวนครั้งที่บำบัดรักษา กลุ่มตัวอย่างเป็นวัยรุ่นติดเฮโรอีน อายุระหว่าง 13-21 ปี ที่มารับการบำบัดรักษาในศูนย์บำบัดรักษายาเสพติดของกรุงเทพมหานคร จำนวน 180 คน สุ่มตัวอย่างแบบง่าย เครื่องมือที่ใช้พัฒนาขึ้นตามแนวทฤษฎีเจตคติของฟิชไบน์ สถิติที่ใช้คือ ค่าที (t-test) การวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียวและการเปรียบเทียบพหุคูณด้วยวิธีของเชฟเฟ (Scheffe’) ผลการวิจัยพบว่า 1. พฤติกรรมต่อตนเองที่กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีความรู้ความเข้าใจว่าเป็นพฤติกรรมที่ดี ถูกและควรอย่างมาก เป็นจำนวน 3 พฤติกรรม ได้แก่ การศึกษาความขยันหมั่นเพียร การมีวินัยในตนเอง และการตั้งมาตรฐานของตนเอง ส่วนพฤติกรรมที่กลุ่มตัวอย่างทั้งหมดมีความรู้ความเข้าใจว่า เป็นพฤติกรรมที่ไม่ดี ผิดและไม่ควรอย่างมากคือ การลุ่มหลงอบายมุข สำหรับการลงโทษตนเองและการให้คุณค่าแก่ตนเองเป็นพฤติกรรมที่กลุ่มตัวอย่างไม่สามารถตัดสินได้ว่าดีหรือไม่ดี ถูกหรือผิด ควรหรือไม่ควร 2. ตัวแปรอิสระทั้ง 5 ตัวแปร ได้แก่ ระดับการศึกษา ระยะเวลาที่ติดยาเสพติด ระยะเวลาที่บำบัดรักษา อาชีพหลักของครอบครัว และจำนวนครั้งที่บำบัดรักษา มีนัยสำคัญต่อความรู้ความเข้าใจทางจริยธรรมเกี่ยวกับพฤติกรรมต่อตนเองของกลุ่มตัวอย่าง ในระดับความมีนัยสำคัญทางสถิติ (p ‹ .05 หรือต่ำกว่า) โดยที่ระดับการศึกษาเป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่อความรู้ความเข้าใจทางจริยธรรมของกลุ่มตัวอย่างมากที่สุด รองลงมาเป็นระยะเวลาที่ติดยาเสพติด ระยะเวลาที่เข้ารับการบำบัดรักษาและจำนวนครั้งที่เข้ารับการบำบัดรักษา ส่วนอาชีพของครอบครัวเป็นตัวแปรที่มีนัยสำคัญต่อความรู้ความเข้าใจทางจริยธรรมน้อยที่สุด

Keywords: adolescence, adolescent, drug, psychiatry, จริยธรรม, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ยาเสพติด, วัยรุ่น

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 374340000090

ISSN/ISBN: 974-579-102-4

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -