ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุนีรัตน์ อนันทวุฒิกานนท์

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยด้านจิตใจของสตรีที่มีบุตรยากในคลินิกผู้มีบุตรยาก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2535

รายละเอียด / Details:

การมีบุตรเป็นความปรารถนาอย่างหนึ่งในชีวิตสมรส และเป็นปัจจัยที่แสดงถึงความรักและความผูกพันระหว่างสามีภรรยา ดังนั้นการไม่มีบุตรจึงก่อให้เกิดปัญหาแก่คู่สมรสได้ สาเหตุของการมีบุตรยากนั้นอาจมีปัจจัยทางร่างกายและทางจิตใจ ในปัจจุบันมีผู้มารับบริการเพื่อขอความช่วยเหลือเกี่ยวกับปัญหานี้ตามโรงพยาบาลต่าง ๆ มากขึ้น และการศึกษาส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับปัจจัยทางด้านร่างกาย ส่วนการศึกษาปัจจัยทางด้านจิตใจของสตรีที่มีบุตรยากนั้นยังมีน้อยมาก การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา เก็บข้อมูลจากสตรีที่มารับบริการ ณ คลินิกรักษาผู้มีบุตรยากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์เฉพาะรายใหม่ และตรวจร่างกายสามีแล้วปกติ จำนวน 100 ราย ระหว่างเดือนตุลาคมถึงเดือนธันวาคม 2534 เก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้กลุ่มประเมินจากการตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง วัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงภาวะจิตใจของสตรีที่มีบุตรยากในด้านต่าง ๆ ได้แก่ สภาวะทางอารมณ์ การปรับตัวในชีวิตสมรส เอกลักษณ์ทางเพศ ความรู้ในเรื่องเพศและบุคลิกภาพ ผลการศึกษาพบว่า อายุเฉลี่ยฝ่ายหญิง 31.0 ปี ชาย 35.4 ปี ทั้งฝ่ายหญิงและชายมีการศึกษาอยู่ในเกณฑ์ดี อาชีพมั่นคง รายได้อยู่ ในเกณฑ์ ระยะเวลาของการสมรสอยู่ในช่วง 1-5 ปี ร้อยละ 62 มีประวัติคุมกำเนิดด้วยวิธีต่าง ๆ และร้อยละ 38 ไม่เคยคุมกำเนิดเลย ร้อยละ 30 มีสุขภาพปกติและร้อยละ 62 ให้ประวัติภาวะสุขภาพทางกายที่เกี่ยวข้องกับปัญหาการมีบุตรยาก ปัจจัยด้านจิตใจ จากแบบสอบถามสุขภาพ CMI พบว่า ร้อยละ 46 มีความวิตกกังวล และร้อยละ 17 มีความรู้สึกเศร้าหมองนอกจากนี้ยังพบว่า สตรีที่มีบุตรยากมีปัญหาเกี่ยวกับสภาวะทางอารมณ์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีบุตรยาก มีการปรับตัวในชีวิตสมรสไม่ดี มีปัญหาเรื่องเอกลักษณ์ทางเพศ และขาดความรู้ในเรื่องเพศ จากแบบทดสอบบุคลิกภาพ 16 PF พบว่า สตรีที่มีบุตรยากมีบุคลิกภาพที่เบี่ยงเบนไปจากค่าปกติ เป็นแบบที่มีความวิตกกังวลและมีความสนใจแคบอยู่เฉพาะเรื่องในปัจจุบัน ปัจจัยด้านจิตใจมีผลกระทบต่อชีวิตสมรสในคู่สมรสที่มีบุตรยากอย่างชัดเจน ดังนั้นในการให้การบำบัดรักษาบุคลากรทางการแพทย์ ต้องคำนึงถึงทางร่างกาย จิตใจ พร้อมที่จะเข้าใจในปัญหาของคู่สมรสและสามารถให้คำแนะนำและการแก้ไข

Keywords: 16PF, CMI, personality, psychology, stress, mental health, ความเครียด, เครียด, จิตวิทยา, บุคลิกภาพ, สตรี, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2535

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Code: 374350000005

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -