ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นิจวรรณ ไกรสิงห์เดชา

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยทางจิต สังคม ในผู้ป่วยชายที่มาขอรับบริการผ่าตัดแปลงเพศ.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ.2535

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาปัจจัยทางจิต-สังคมในผู้ชายที่มาขอรับบริการผ่าตัดแปลงเพศ กลุ่มประชากรศึกษามีจำนวน 40 คน ซึ่งมารับบริการที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และคลินิกชลลดา ระหว่างเดือนตุลาคม 2534 มกราคม 2535 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยได้แก่แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยผ่านการตรวจสอบความเที่ยงตรงของเนื้อหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ และแบบสำรวจสุขภาพจิตเอส ซี แอล 90 การวิเคราะห์ข้อมูลทำโดยหาค่าร้อยละ ค่าคะแนนเฉลี่ย ค่าส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบทางสถิติโดยวิธีไค-สแควร์ ผลการวิจัยพบว่า 1. อายุของประชากรศึกษาอยู่ในช่วง 15-38 ปี ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้าง (นักแสดงระบำ ทำงานบาร์ ฯลฯ) (ร้อยละ 70.0) ระดับการศึกษา ระดับมัธยมศึกษา (ร้อยละ 50.0) ระดับอนุปริญญา (ร้อยละ 20.0) และระดับปริญญาตรี (ร้อยละ 20.0) รายได้ 1,500 - 10,000 บาทต่อเดือน สถานภาพสมรส โสด (ร้อยละ 90.0) บิดามารดายังมีชีวิตอยู่และอยู่ด้วยกัน เคยมีความสัมพันธ์ทางเพศกับเพศชาย (ร้อยละ 87.5) และกับทั้งเพศชายและหญิง (ร้อยละ 10.0) ผู้ที่มาขอรับบริการนั้น แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มรักร่วมเพศ 11 คน กลุ่มมีความต้องการแปลงเพศ (Transsexuals) 13 คน และกลุ่มที่ไม่สามารถจัดอยู่ในประเภทใด 16 คน 2. ปัจจัยทางจิตใจ ซึ่งประกอบด้วย อัตมโนทัศน์, ความสัมพันธ์ในครอบครัว และความสนใจเรื่องคู่ร่วมเพศ พบว่า 2.1 มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรศึกษา เรื่องอัตมโนทัศน์ ด้านความวิตกกังวลเกี่ยวกับอวัยวะเพศของตนเองก่อนรับการผ่าตัดแปลงเพศ 2.2 มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรศึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001 เรื่องอัตมโนทัศน์ด้านความสุข-ความพอใจเกี่ยวกับอวัยวะเพศของตนเองก่อนรับการผ่าตัดดัดแปลงเพศ 2.3 ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรศึกษา เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวและความสนใจเรื่องคู่ร่วมเพศ 3.ผลสำรวจสุขภาพจิต (แบบ เอส ซีแอล 90) ส่วนใหญ่อยู่ในระดับปกติ 4. ปัจจัยทางสังคม ซึ่งประกอบด้วย อิทธิพลของสังคมรอบข้าง และทัศนคติต่อสังคม พบว่า 4.1 ไม่พบความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรศึกษา เรื่องอิทธิพลของสังคมรอบข้าง 4.2 มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มประชากรศึกษา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ .001 เรื่องทัศนคติต่อสังคม ข้อวิจารณ์ผลการวิจัย 1. การแบ่งกลุ่มประชากรศึกษาอาจคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากข้อคำถามที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการแบ่งยังไม่สมบูรณ์เพียงพอ 2. ประชากรศึกษาน้อยเกินไป จึงเห็นความแตกต่างได้ไม่ชัดเจน

Keywords: psychiatry, psychology, SCL-90, sex, social, จิตวิทยา, ปัจจัยทางจิต สังคม ผู้ป่วยชายที่มาขอรับบริการผ่าตัดแปลงเพศ, จิตเวชศาสตร์, เพศ, สังคม

ปีที่เผยแพร่/Year: 2535

Address: ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Code: 374350000009

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -