ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จงรัก อินทร์เสวก

ชื่อเรื่อง/Title: ผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริงต่อการเพิ่มระดับการควบคุมตนเองและการลดการติดยาเสพติดซ้ำ ของผู้ติดยาเสพติดที่เข้ารับการรักษาในระยะถอนพิษยา.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2539

รายละเอียด / Details:

การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาผลของการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริงต่อการเพิ่มระดับการควบคุมตนเอง และการลดการติดยาเสพติดซ้ำของผู้ติดยาเสพติดที่เข้ารับการรักษาในระยะถอนพิษยา โดยมีสมมติฐานการวิจัย คือ 1) หลังการทดลองผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริงจะมีระดับการควบคุมตนเองสูงกว่าก่อนการเข้ารับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม 2) หลังการทดลอง ผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริงจะมีระดับการควบคุมตนเองสูงกว่าผู้ติดยาเสพติดที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม 3) ในระยะติดตามผลผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริงจะมีจำนวนการติดยาเสพติดซ้ำน้อยกว่า ผู้ติดยาเสพติดที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงทดลองแบบมีกลุ่มควบคุมทดสอบก่อนและหลังการทดลอง (Pretest-Posttest Control Group Design) กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ติดยาเสพติดที่เข้ารับการรักษาในระยะถอนพิษของโรงพยาบาลธัญญารักษ์ จำนวน 20 คน คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยพิจารณาผู้ที่มีค่าคะแนนความเชื่อในการควบคุมตนเองต่ำกว่า -1SD และมีคุณสมบัติตามเกณฑ์ กลุ่มตัวอย่างแยกเป็นกลุ่มทดลอง 10 คน กลุ่มควบคุม 10 คน โดยการสุ่มอย่างง่าย กลุ่มทดลองได้เข้าร่วมโปรแกรมการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริงทั้งหมด 10 ครั้ง ครั้งละประมาณ 2 ชั่วโมง 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ รวมทั้งสิ้นประมาณ 20 ชั่วโมง โดยผู้วิจัยเป็นผู้นำกลุ่ม เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย คือ แบบวัดความเชื่อในการควบคุมตนเอง ซึ่งผู้วิจัยพัฒนาจากแบบวัดการควบคุมตนเอง (The Self-Control Schedule) ของโรเชนบัม และเครื่องมือตรวจหาสารเสพติดในปัสสาวะ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยของคะแนนความเชื่อในการควบคุมตนเองด้วยวิธีการทดสอบค่าที และประเมินผลการเสพติดซ้ำด้วยวิธีการหาค่าไคสแควร์ ผลการวิจัยพบว่า 1. หลังการทดลองผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริงมีระดับการควบคุมตนเองสูงกว่าก่อนได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 2. หลังการทดลองผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริงมีระดับการควบคุมตนเองสูงกว่าผู้ติดยาเสพติดที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 3. ในระยะติดตามผลผู้ติดยาเสพติดที่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มตามแนวคิดพิจารณาความเป็นจริงมีจำนวนการติดซ้ำน้อยกว่าผู้ติดยาเสพติดที่ไม่ได้รับการปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01

Keywords: การปรึกษา, การปรึกษาเชิงจิตวิทยาแบบกลุ่ม, ปรึกษา, ลดการติดยาเสพติด, ผู้ติดยาเสพติด, จิตวิทยา, ระยะถอนพิษยา, group counseling psychotherapy, drug addict, abuse, withdrawal, psychiatry

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: บัณฑิตวิทยาลัย จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 374390000057

ISSN/ISBN: 974-636-406-5

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -