ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: คนึงนิตย์ ประจงกิจ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ระหว่างบุตรวัยก่อนเรียน ที่มีน้องเกิดใหม่ และที่เป็นบุตรคนเดียวของครอบครัว ตามการรับรู้ของมารดา.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2534

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมไม่ถึงประสงค์ตามการรับรู้ของมารดาของบุตรวัยก่อนเรียนที่มีน้องเกิดใหม่และที่เป็นบุตรคนเดียวของครอบครัว กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาเป็นมารดาของบุตรวัยก่อนเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนอนุบาลในเขตอำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่มๆ ละ 30 คน กลุ่มที่ 1 เป็นมารดาของบุตรวัยก่อนเรียนที่มีน้องเกิดใหม่และกลุ่มตัวอย่างที่ 2 เป็นมารดาของบุตรคนเดียววัยก่อนเรียน เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย เป็นแบบสอบถาม ซึ่งประกอบด้วย 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 เป็นแบบบันทึกข้อมูลทั่วไปของบิดามารดาและบุตร ส่วนที่ 2 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ของบุตรวัยก่อนเรียน ซึ่งประกอบด้วยพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ 6 ด้านดังนี้ พฤติกรรมก้าวร้าวดื้อดึง พฤติกรรมถดถอย พฤติกรรมที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหาร พฤติกรรมที่มีปัญหาเกี่ยวกับการนอน พฤติกรรมความวิตกกังวลจากการพรากจาก และพฤติกรรมแยกตัวซึมเศร้า เก็บรวบรวมข้อมูล 2 ครั้ง โดยกลุ่มตัวอย่างที่ 1 เป็นข้อมูลครั้งที่ 1 เมื่อตั้งครรภ์บุตรคนที่สอง อายุครรภ์ระหว่าง 36-40 สัปดาห์ และเก็บข้อมูลครั้งที่ 2 ภายหลังคลอดบุตรคนที่สองนาน 4 สัปดาห์ สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่ 2 เก็บข้อมูลครั้งที่ 1 และครั้งที่ 2 ห่างกัน 4 สัปดาห์ สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัยมีดังต่อไปนี้ 1. พฤติกรรมไม่พึงประสงค์รวมทุกด้านของบุตรวัยก่อนเรียนก่อนการมีน้องเกิดใหม่ 4 สัปดาห์กับของบุตรคนเดียวที่ได้จากการเก็บข้อมูลครั้งที่ 1 ตามการรับรู้ของมารดาไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 แต่เมื่อพิจารณาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์รายด้าน พบว่า บุตรวัยก่อนเรียนที่มีน้องเกิดใหม่มีพฤติกรรมแยกตัวซึมเศร้ามากกว่าบุตรคนเดียวอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนพฤติกรรมด้านอื่นไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 2. ก่อนการมีน้องเกิดใหม่ 4 สัปดาห์บุตรวัยก่อนเรียนมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์รวมทุกด้านตามการรับรู้ของมารดาแตกต่างจากภายหลังการมีน้องเกิดใหม่ 4 สัปดาห์ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ทุกด้านเพิ่มขึ้นภายหลังการมีน้องเกิดใหม่ 3. ในระยะเวลาห่างกัน 4 สัปดาห์ บุตรคนเดียววัยก่อนเรียนมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์รวมทุกด้านตามการรับรู้ของมารดาแตกต่างกัน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยมีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์รวมทุกด้านเพิ่มขึ้น แต่เมื่อพิจารณาพฤติกรรมไม่พึงประสงค์รายด้านพบว่า พฤติกรรมก้าวร้าวดื้อดึง พฤติกรรมที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนพฤติกรรมด้านอื่นไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 4. พฤติกรรมไม่พึงประสงค์รวมทุกด้านของบุตรวัยก่อนเรียนหลังการมีน้องเกิดใหม่ 4 สัปดาห์ กับ ของบุตรคนเดียวที่ได้จากการเก็บข้อมูลครั้งที่ 2 ตามการรับรู้ของมารดาแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 โดยบุตรวัยก่อนเรียนที่มีน้องเกิดใหม่ มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์รวมทุกด้านมากกว่าบุตรคนเดียว แต่เมื่อพิจารณาพฤติกรรมรายด้านพบว่า บุตรวัยก่อนเรียนที่มีน้องเกิดใหม่และที่เป็นบุตรคนเดียว มีพฤติกรรมที่มีปัญหาเกี่ยวกับการรับประทานอาหารไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 ส่วนพฤติกรรมด้านอื่นแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05

Keywords: พฤติกรรมไม่พึงประสงค์, เด็กวัยก่อนเรียน, เด็ก, พฤติกรรม, พฤติกรรมแยกตัว ซึมเศร้า, จิตวิทยา, การรับรู้, perception, behavior, psychology, child,

ปีที่เผยแพร่/Year: 2534

Address: มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 375340000021

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -