ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นพวรรณ หาญพล

ชื่อเรื่อง/Title: ความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธภาพในครอบครัว ประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในชีวิตกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2535

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสัมพันธภาพในครอบครัว ประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในชีวิต กับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่มีภูมิลำเนาอยู่ใน 4 ตำบลที่ไม่มีพื้นที่เป็นเกาะของอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด และเป็นผู้ที่ไม่มีความพิการของร่างกายที่ทำให้เกิดข้อจำกัดในการทำกิจวัตรประจำวัน จำนวน 179 ราย เป็นชาย 94 ราย หญิง 85 ราย ได้มาโดยวิธีการสุ่มแบบง่าย 2 ขั้นตอน (Two stage simple random sampling) เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ เครื่องมือที่ใช้ประกอบด้วย 4 ส่วน คือข้อมูลทั่วไป แบบวัดสัมพันธภาพในครอบครัว แบบวัดประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงชีวิต และแบบวัดคุณภาพชีวิต ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา (Content validity) จากผู้เชี่ยวชาญด้านผู้สูงอายุที่เป็นแพทย์ 2 คน พยาบาล 4 คน สำหรับแบบวัดประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในชีวิต และเพิ่มผู้เชี่ยวชาญอีก 2 คนคือ ข้าราชการบำนาญและประธานชมรมผู้สูงอายุของอำเภอแหลมงอบ จังหวัดตราด ความเที่ยง (reliability) ของเครื่องมือคำนวณโดยวิธีต่างๆ คือ แบบวัดสัมพันธภาพในครอบครัว ใช้วิธีของคูเดอร์ริชาร์ดสัน 21 (KR-21) ได้เท่ากับ 0.80 แบบวัดประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในชีวิตโดยวิธีทดสอบซ้ำ (Test-retest) ได้เท่ากับ 0.90 และแบบวัดคุณภาพชีวิตใช้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟาของครอนบาค (Cronbach’s alpha coefficient) ได้เท่ากับ 0.96 การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง สัมพันธภาพในครอบครัวและประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในชีวิตกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียรสัน (Pearson’s product moment correlation coefficient) ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. สัมพันธภาพในครอบครัวมีความสัมพันธ์ในทางบวกกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ 0.8904 (p ‹ 0.01) 2. ประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในชีวิต มีความสัมพันธ์ในทางลบกับคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยมีค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เท่ากับ -0.7233 (p < 0.01) ผู้วิจัยได้มีข้อเสนอแนะให้เจ้าหน้าที่ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดูแล ผู้สูงอายุ ตระหนักถึงความสำคัญของสัมพันธภาพในครอบครัวและประสบการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงในชีวิต ซึ่งอาจจะส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ นอกจากนั้นควรส่งเสริมและสนับสนุนให้ครอบครัวมีบทบาทในการดูแลผู้สูงอายุ โดยเน้นการสร้างสัมพันธภาพที่ดีในครอบครัว เพื่อให้เอื้อต่อการดำรงชีวิตของผู้สูงอายุ ซึ่งอาจจะมีผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีด้วย

Keywords: คุณภาพชีวิต, ผู้สูงอายุ, สัมพันธภาพในครอบครัว, จิตวิทยา, สุขภาพจิต, family, quality of life, elderly, psychology, mental health

ปีที่เผยแพร่/Year: 2535

Address: มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 375350000017

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -