ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: กฤตยา แสวงเจริญ, จิระภา ศิริวัฒนเมธานนท์, สุชาดา สุวรรณคำ, สร้อย อนุสรณ์ธีรกุล, ดรุณี รุจกรกานต์

ชื่อเรื่อง/Title: แนวทางการให้ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยแก่หมอลำผีฟ้า.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง แนวทางการให้ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยแก่หมอลำผีฟ้า , พ.ศ. 2536

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยเรื่อง แนวทางการให้ความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยแก่หมอลำผีฟ้า มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความรู้ ความเชื่อ และการปฏิบัติตนทางด้านสุขภาพอนามัยของหมอลำผีฟ้าและผู้รับบริการ จากนั้นให้ความรู้เกี่ยวกับสุขภาพอนามัยแก่หมอลำผีฟ้า และศึกษาผลการให้ความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพอนามัยต่อการปฏิบัติของหมอลำผีฟ้า วิธีการวิจัยเป็นการวิจัยเชิงคุณภาพและเชิงปฏิบัติการ โดยศึกษาจากหมอลำผีฟ้าทั้งหมด 34 คน ผู้รับบริการที่เคยรักษาหาย (ศิษย์ของหมอลำผีฟ้า) ตลอดจนประชาชนในชุมชนที่หมอลำทั้ง 34 คน อาศัยอยู่ รวมกันทั้งหมด 18 หมู่บ้าน ในท้องที่ 4 อำเภอของจังหวัดชัยภูมิ การศึกษาใช้วิธีการศึกษาเชิงคุณภาพ โดยใช้การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม สัมภาษณ์แบบเจาะลึก การทำสนทนากลุ่ม เพื่อศึกษาความรู้ ความเชื่อ และการปฏิบัติตนทางด้านสุขภาพอนามัยของหมอลำผีฟ้า ผู้รับบริการและประชาชนทั่วไปในหมู่บ้าน ก่อน-หลังการอบรม การใช้แบบทดสอบความรู้และการปฏิบัติตนก่อน-หลังการ อบรมให้ความรู้แก่หมอลำผีฟ้า และการสัมภาษณ์โดยใช้แบบสัมภาษณ์โดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการติดตามสัมภาษณ์หลังการอบรม การศึกษาครั้งนี้ใช้เวลา 12 เดือน โดยใช้ระยะเวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลระหว่างเดือน มีนาคม 2536 ถึง กุมภาพันธ์ 2537 ผลของการศึกษาวิจัยพบว่า หมอลำผีฟ้ามีความรู้ ความเชื่อ และการปฏิบัติตัวทางด้านสุขภาพใน 2 ฐานะ ในฐานะที่เป็นหมอลำผีฟ้า หมอลำเชื่อว่าตนมีความสามารถปฏิบัติการรักษาโรคอย่างเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะโรคผีทำและผีแปลง ทำให้มีลูกศิษย์ซึ่งตนรักษาหายและอยู่ด้วยโดยความผูกพันทางพิธีการมากมาย ทั้งนี้ได้รับการยอมรับจากญาติพี่น้องและคนในชุมชน และในฐานะที่เป็นบุคคลทั่วไปในชุมชน หมอลำผีฟ้าเคยได้รับการรักษาโดยวิธีการแพทย์แผนปัจจุบันและวิธีของหมอลำผีฟ้า และเชื่อว่าอาการโรคหายไปเพราะวิธีการของหมอลำผีฟ้าช่วย จึงเข้าเป็นผู้รักษา จากนั้นพบว่าตนมีอารมณ์ดีขึ้น สังคมกว้างขึ้น ฐานะทางเศรษฐกิจดีขึ้น บุคลิกภาพดีขึ้น บ้านเรือนสะอาดและมีระเบียบดีขึ้น ด้านความรู้ทางสุขภาพอนามัย หมอลำมีความรู้ที่เหมาะสมเกี่ยวกับด้านสุขภาพ มีความรู้ความเข้าใจถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยและวิธีปฏิบัติตนเมื่อมีอาการเจ็บป่วย การงดอาหารแสลงเป็นไปอย่างเหมาะสม แต่ยังมีทัศนคติว่าวิธีการรักษาด้วยหมอลำยังไม่ถูกยอมรับจากบุคลากรสาธารณสุข การรักษาจึงไม่อยากบอกให้เจ้าหน้าที่รู้ ความรู้ส่วนใหญ่จึงเป็นการแสวงหาเอง จากความรู้ดังกล่าวจึงได้จัดอบรมหมอลำผีฟ้า ใช้เวลา 1 วันเพื่อให้เกิดความรู้ ทัศนคติที่ดีต่อการรักษาแผนปัจจุบัน และสามารถเผยแพร่ความรู้และช่วยเหลือผู้รับบริการได้อย่างเหมาะสม ในการเข้าร่วมอบรมเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย หมอลำผีฟ้ายินดีเข้าร่วม เพราะถือว่าศักดิ์สิทธิ์ มอบหมายให้ตนทำหน้าที่เกี่ยวกับสุขภาพ จึงไม่สามารถปฏิเสธได้ แม้ว่าจะติดธุระอย่างไรก็ต้องมา เมื่อทดสอบความรู้เกี่ยวกับสิ่งที่ก่อปัญหาทางด้านสุขภาพในกลุ่มตัวอย่าง พบว่าความรู้ทางด้านสุขภาพอนามัยของหมอลำผีฟ้าก่อนและหลังการอบรมไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ จากนั้นศึกษาและติดตามประเมินผลการให้ความรู้ทางสุขภาพอนามัยแก่หมอลำผีฟ้า พบว่าหมอลำสามารถนำความรู้ไปผสมผสานกับวิธีการรักษาของหมอลำผีฟ้า โดยให้ความรู้คำแนะนำต่อผู้รับบริการได้ทั้งก่อนและหลังการรักษาด้วยวิธีการของหมอลำผีฟ้า หมอลำผีฟ้าส่วนใหญ่พอใจและนำความรู้ไปปฏิบัติได้ถูกต้อง ในการให้การแนะนำ ดูแล และส่งต่อผู้ป่วยอย่างเหมาะสม ศิษย์และญาติ ตลอดจนประชาชนในชุมชนพึงพอใจที่รู้ว่าหมอลำได้รับการอบรมเกี่ยวกับสุขภาพอนามัย

Keywords: ไสยศาสตร์, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, หมอลำผีฟ้า, ความเชื่อ, ผีฟ้า, ทัศนคติ, จิตวิทยา, psychology, attitude, magic, believe

ปีที่เผยแพร่/Year: 2536

Address: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 375360000057

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -