ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: พัชราภรณ์ มรรควัลย์

ชื่อเรื่อง/Title: พฤติกรรมเผชิญความเครียดของครอบครัวที่มีบุตรป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2537

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยายที่มุ่งศึกษาปฏิกิริยาและการแสดงความรู้สึกของสมาชิกครอบครัวเมื่อทราบการวินิจฉัยโรคครั้งแรกจากแพทย์ ปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียดครอบครัวและพฤติกรรมเผชิญความเครียดของครอบครัวที่มีบุตรป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ใช้กรอบแนวคิดพฤติกรรมเผชิญความเครียดของครอบครัวตามทฤษฎีความเครียดของครอบครัวของแมคดับบิ้น กลุ่มตัวอย่างคือบิดาหรือมารดาของเด็กป่วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลัน ที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลศรีนครินทร์และโรงพยาบาลศูนย์ขอนแก่น จำนวน 68 ราย ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2536 ถึงเดือนเมษายน 2537 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสัมภาษณ์พฤติกรรมเผชิญความเครียดของครอบครัวที่มีบุตรป่วยด้วยโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวชนิดเฉียบพลันสร้างขึ้น ตามกรอบแนวคิดพฤติกรรมเผชิญความเครียดของครอบครัวของแมคดับบิ้นและคณะ แบบสัมภาษณ์เป็นคำถามปลายเปิด หาความตรงตามเนื้อหา โดยผู้ทรงคุณวุฒิ 8 ท่าน ทำการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ความถี่ ร้อยละ และการวิเคราะห์เนื้อหา ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ เมื่อทราบการวินิจฉัยโรคครั้งแรก สมาชิกครอบครัวมีปฏิกิริยาและการแสดงความรู้สึกโดยตกใจ ร้อยละ 70.59 เสียใจ ร้อยละ 47.06 ไม่เชื่อ ร้อยละ 44.12 กล่าวโทษ ร้อยละ 16.18 ปฏิเสธ ร้อยละ 12.50 รู้สึกผิด ร้อยละ 5.88 และโกรธ ร้อยละ 2.94 ปัญหาที่ก่อให้เกิดความเครียดแก่ครอบครัวคือ ปัญหาการเจ็บป่วยของบุตร รองลงมาคือ ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาการเจริญเติบโตและพัฒนาการของบุตร ปัญหาการเรียนของบุตร ปัญหาการทำงานของบิดามารดา และปัญหาสัมพันธภาพระหว่างสามี-ภรรยา ตามลำดับ เมื่อเผชิญปัญหาการเจ็บป่วยของบุตรครอบครัวมีพฤติกรรมเผชิญความเครียด 4 รูปแบบ คือ การแก้ไขปัญหา ร้อยละ 88.24 การใช้แหล่งประโยชน์ของครอบครัว ร้อยละ 88.24 การลดอารมณ์ตึงเครียด ร้อยละ 66.18 และการให้ความหมายต่อสถานการณ์ในทางที่ดี ร้อยละ 47.06 มีการแก้ไขปัญหา โดยแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วยของบุตร ร้อยละ 88.24 ช่วยกันดูแลป้องกันภาวะติดเชื้อในบุตรที่ป่วยร้อยละ 52.94 มีการใช้แหล่งประโยชน์ของครอบครัวจากภายนอกครอบครัว ร้อยละ 88.24 และจากภายในครอบครัว ร้อยละ 80.88 การลดอารมณ์ตึงเครียด โดยร้องไห้ ร้อยละ 66.18 ทำกิจกรรมสันทนาการในครอบครัว ร้อยละ 48.53 มีการให้ความหมายต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยเชื่อว่าบุตรจะมีอาการดีขึ้น ร้อยละ 47.06 เชื่อว่าการเจ็บป่วยเป็นเรื่องของโชคชะตา กรรมเก่า ร้อยละ 30.88 เชื่อว่าบุตรจะได้รับการดูแลรักษาที่ดีจากแพทย์ ร้อยละ 30.88 เมื่อเผชิญปัญหาเศรษฐกิจ ครอบครัวมีพฤติกรรมเผชิญความเครียด คือ การใช้แหล่งประโยชน์ของครอบครัว โดยขอสังคมสงเคราะห์ของโรงพยาบาล ร้อยละ 69.09 การแก้ไขปัญหาโดยทำงานหารายได้เพิ่มขึ้น ร้อยละ 39.71 เมื่อเผชิญปัญหาการเจริญเติบโตและพัฒนาการของบุตรที่ป่วย ครอบครัวมีพฤิตกรรมเผชิญความเครียด คือ การแก้ไขปัญหาโดยจัดหาอาหารเพิ่มขึ้นให้บุตร ร้อยละ 73.33 การใช้แหล่งประโยชน์โดยสมาชิกครอบครัวพูดคุยปรึกษากันถึงปัญหาและแนวทางแก้ไข ร้อยละ 26.67 เมื่อเผชิญปัญหาการเรียนของบุตรที่ป่วยครอบครัวมีพฤติกรรมเผชิญความเครียด ที่พบมากคือ การแก้ไขปัญหาโดยให้บุตรไปโรงเรียนได้เมื่อมีอาการดีขึ้น ร้อยละ 88.46 การใช้แหล่งประโยชน์ของครอบครัว โดยสมาชิกครอบครัวพูดคุยปรึกษาปัญหาและแนวทางแก้ไข ร้อยละ 53.85 เมื่อเผชิญปัญหาการทำงานของบิดามารดา ครอบครัวมีพฤติกรรมเผชิญความเครียด ที่พบมากคือ การใช้แหล่งประโยชน์โดยปรึกษาพูดคุยถึงปัญหาและแนวทางแก้ไขกับหัวหน้างาน และเพื่อนร่วมงาน ร้อยละ 87.5 การแก้ไขปัญหาโดยวางแผนและทำงานล่วงหน้า ร้อยละ 12.5 เมื่อเผชิญปัญหาสัมพันธภาพระหว่างสามีและภรรยา ครอบครัวมีพฤติกรรมเผชิญความเครียดที่พบมากคือ การลดอารมณ์ตึงเครียดโดยร้องไห้ ร้อยละ 100 การใช้แหล่งประโยชน์ของครอบครัวโดยขอความช่วยเหลือจากญาติให้ไกล่เกลี่ย ร้อยละ 66.67

Keywords: พฤติกรรม, พฤติกรรมเผชิญความเครียด, เครียด, ครอบครัว, มะเร็ง, stress, behavior, copeing, family

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 375370000023

ISSN/ISBN: 974-556-867-8

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -