ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิระภา ศิริวัฒนเมธานนท์, กฤตยา แสวงเจริญ

ชื่อเรื่อง/Title: ความคิด ความเชื่อทางศาสนา และการรักษาโรคแผนโบราณ : กรณีศึกษาที่วัดชัยภูมิพิทักษ์ จังหวัดชัยภูมิ.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง ความคิด ความเชื่อทางศาสนา และการรักษาโรคแผนโบราณฯ , พ.ศ. 2537

รายละเอียด / Details:

การวิจัยเรื่อง ความคิด ความเชื่อทางศาสนา และการรักษาโรคแผนโบราณ : กรณีศึกษาที่วัดชัยภูมิพิทักษ์ จังหวัดชัยภูมิ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระบบความคิดความเชื่อทางศาสนาและการปฏิบัติตัวในการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพรของผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตลอดจนการศึกษากระบวนการการรักษาโรคของผู้ให้บริการ การวิจัยเชิงคุณภาพครั้งนี้เป็นการศึกษาเฉพาะกรณีในผู้ให้บริการที่ทำการรักษา และผู้รับบริการที่มารับการรักษา ที่วัดชัยภูมิพิทักษ์ (ผาเกิ้ง) อำเภอหนองบัวแดง จังหวัดชัยภูมิ โดยการทำสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วมและการติดตามถามความคิด ความเชื่อทางศาสนา และการปฏิบัติตัวในการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพร ตลอดจนกระบวนการรักษาโรค นำมาวิเคราะห์เชิงเนื้อหา การวิจัยครั้งนี้ใช้เวลา 12 เดือน ระหว่างเดือนกันยายน 2537 ถึงเดือนสิงหาคม 2538 ผลการวิจัยพบว่า ผู้ให้บริการที่ทำการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพรและพิธีกรรมนั้น ใช้ระบบความคิด ความเชื่อทางศาสนา และการปฏิบัติตัวในการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพร ตลอดจนกระบวนการการรักษาโรคที่ได้จากการสะสมสืบทอดประสบการณ์จากผู้ที่รู้มาก่อน ซึ่งทำให้บางครั้งไม่สามารถอธิบายได้ในเชิงเหตุผล ผู้ให้บริการใช้ประสบการณ์ที่ค่อย ๆ สะสมโดยผ่านการสังเกต การทดลองปฏิบัติเอง การรักษา การนั่งทางในร่วมกับการสั่งสอนทางพุทธศาสนาและการแสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากตำราตามกำลังความสามารถของตนเอง เพื่อหวังให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพมากขึ้น ดังนั้น วิธีการรักษาที่ใช้จึงรวมไปถึงยาสมุนไพร น้ำมันมนต์ ประกอบกับเวทมนต์คาถาอาคม พุทธมนต์ ซึ่งใช้เฉพาะในการรักษาผู้ป่วยแต่ละราย การศึกษาชี้ให้เห็นชัดถึงความคิด ความเชื่อทางศาสนาของผู้ให้บริการกับกระบวนการรักษาโรคโดยใช้สมุนไพรและพิธีกรรม เป็นระบบการรักษาที่มีระบบวัฒนธรรมของชุมชนเข้ามามีอิทธิพลอย่างมาก ผู้รับบริการที่มารับการรักษา มีระบบความคิดความเชื่อทางศาสนาและการรักษาโรค โดยใช้สมุนไพรและพิธีกรรม ตลอดจนการใช้น้ำมันมนต์นั้น อยู่ที่ความเชื่อและความศรัทธาต่อชื่อเสียงของผู้ให้บริการที่ทำการรักษาโรค ซึ่งความเชื่อ และความศรัทธาเป็นสิ่งที่ก่อให้เกิดความรู้สึกแก่ผู้มารับบริการในรูปของกำลังใจ โดยเกิดกำลังใจว่า ตนเองได้รับการรักษาจากหมอผู้มีความสามารถ และได้ผ่านกระบวนการทำพิธีกรรมต่าง ๆ ที่สามารถช่วยให้การรักษามีประสิทธิภาพมากขึ้น และสุดท้ายเป็นความเชื่อมั่นว่าตนกำลังจะหาย รวมทั้งบรรยากาศของการรักษาที่ผู้ป่วยและญาติพี่น้องสามารถมีส่วนร่วมในการรักษา มีลักษณะเป็นกระบวนการแก้ปัญหาความเจ็บป่วยที่ผ่านการวินิจฉัยร่วมกันระหว่างผู้ป่วย ญาติ พี่น้อง ชุมชน และเครือข่ายของสังคมรอบข้าง เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับลักษณะทางสังคม วัฒนธรรมและวิถีการดำเนินชีวิตของผู้รับบริการ

Keywords: ความคิด ความเชื่อ, จิตวิทยา, ศาสนา, ภูมิปัญญาท้องถิ่น, believe, thought, psychology

ปีที่เผยแพร่/Year: 2537

Address: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 375370000053

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -