ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ดรุณี รุจกรกานต์, พร้อมจิตร ห่อนบุญเหิม, สร้อย อนุสรณ์ธีรกุล, จิระภาพ ศิริวัฒนเมธานนท์, อุสาห์ ศุภรพันธ์, จินตนา ตั้งวรพงศ์ชัย, วิไล เกิดผล, โสภิดา ทัดพินิจ, โสมภัทร ศรไชย

ชื่อเรื่อง/Title: รูปแบบใหม่ในการให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ แก่นักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 ในชนบท.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2538

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยกึ่งทดลอง มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์แก่เยาวชนโดยใช้รูปแบบการอบรมที่ได้รับการพัฒนาให้มีความเหมาะสมกับเยาวชนก่อนวัยรุ่น ในการส่งเสริมให้ปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอดส์ได้ มีทัศนคติที่ดีต่อผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์และสามารถอยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยเอดส์ในชุมชนได้อย่างผาสุก กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนระดับประถมศึกษาปีที่ 6 อำเภอหนองสองห้อง จังหวัดขอนแก่น ปีการศึกษา 2537 ทั้งชายและหญิง จำนวน 1,287 คน โดยจัดการอบรมแยกเป็น 11 กลุ่ม ใช้เวลาอบรมกลุ่มละ 2 วัน คือวันเสาร์และวันอาทิตย์ กิจกรรมการอบรมประกอบด้วยการสนทนากลุ่ม การอภิปราย การสาธิต การเขียนโครงการ การฝึกทักษะ การแสดงบทบาทสมมุติ และสนทนากับผู้ติดเชื้อ การเก็บรวบรวมข้อมูลทั้งเชิงคุณภาพ จากกิจกรรมการอบรมและเชิงปริมาณโดยใช้แบบสอบถามความรู้ ทัศนคติและการปฏิบัติเกี่ยวกับโรคเอดส์ วิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ความถี่ร้อยละ สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการทดสอบค่าที ผลการวิจัยพบว่า การใช้รูปแบบการอบรมที่ประกอบด้วยกิจกรรมหลากหลายช่วยส่งเสริมการให้ความรู้เรื่องโรคเอดส์ให้มีประสิทธิภาพ นักเรียนที่เข้ารับการอบรมมีความกระตือรือร้นในการร่วมทำกิจกรรมตลอดการอบรมเนื่องจากระยะเวลาทใช้ในแต่ละกิจกรรมเหมาะสมกับช่วงความสนใจ การใช้เกมส์สนุกช่วยให้นักเรียนมีความตื่นตัวที่จะเรียนรู้ข้อมูลต่าง ๆ ได้เป็นอย่างดี พบว่าคะแนนความรู้เกี่ยวกับโรคเอดส์หลังอบรมสูงกว่าก่อน อบรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 สำหรับทัศนคติเกี่ยวกับโรคเอดส์ พบว่า นักเรียนมีทัศนคติเปลี่ยนแปลงภายหลัง ได้มีประสบการณ์สนทนากับผู้ติดเชื้อ โดยพบว่าคะแนนทัศนคติภายหลังอบรมสูงกว่าก่อนอบรม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ความรู้เรื่องโรคเอดส์ มีความสัมพันธ์ทางบวกกับทัศนคติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 ความรู้เกี่ยวกับความจริงเรื่องโรคเอดส์ การติดต่อและการรักษา มีความสัมพันธ์ทางบวกกับความรู้ในการป้องกันโรคเอดส์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.001 รูปแบบการอบรมในการวิจัยนี้พัฒนาเพื่อใช้กลุ่มเยาวชนก่อนวัยรุ่นโดยเฉพาะ ผลการอบรมแสดงให้เห็นว่าเยาวชนก่อนวัยรุ่นแม้จะมีอายุน้อยและขาดประสบการณ์ทางเพศสัมพันธ์ก็สามารถเรียนรู้เรื่องโรคเอดส์ได้อย่างดี โดยผ่านกิจกรรมและเกมส์ที่สนุก นอกจากนี้เยาวชนยังมีทัศนคติในทางบวกต่อผู้ติดเชื้อภายหลังที่ได้มีประสบการณ์ในการสนทนากับผู้ติดเชื้อ เอช ไอ วี

Keywords: รูปแบบการอบรม, โรคเอดส์, วัยรุ่น, ทัศนคติ, จิตวิทยา, ผู้ติดเชื้อเอดส์, ชุมชน, นักเรียน, attitude, psychology, aids, HIV, adolescence, student

ปีที่เผยแพร่/Year: 2538

Address: คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 375380000005

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -