ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ธิดา มีศิริ

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความว้าเหว่ของผู้สูงอายุในชุมชนแออัดในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัยเรื่อง การศึกษาความว้าเหว่ของผู้สูงอายุในชุมชนแออัดในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ , พ.ศ. 2540

รายละเอียด / Details:

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยายโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาความว้าเหว่ของผู้สูงอายุในชุมชนแออัดในเขตเทศบาล จังหวัดสุรินทร์ และความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยส่วนบุคคล ภาวะสุขภาพ สัมพันธภาพในครอบครัวและชุมชน และความสูญเสีย กับความว้าเหว่ของผู้สูงอายุในชุมชนแออัดในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ ประชากรในการศึกษาเป็นผู้สูงอายุในชุมชนแออัดในเขตเทศบาลเมืองสุรินทร์ จำนวนทั้งสิ้น 109 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์ และการสังเกตขณะเข้าไปในชุมชน โดยเก็บข้อมูลตั้งแต่วันที่ 1-30 กันยายน 2540 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 2 ส่วน คือ แบบสังเกตและแบบสัมภาษณ์ ซึ่งประกอบด้วย ข้อมูลทั่วไป แบบวัดภาวะสุขภาพ แบบวัดสัมพันธภาพในครอบครัวและชุมชน แบบวัดความว้าเหว่ และแบบวัดความสูญเสีย โดยแบบวัดดังกล่าวได้ตรวจสอบคุณภาพโดยผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบด้านเนื้อหา และหาความเชื่อมั่นของเครื่องมือ วิเคราะห์ข้อมูลโดยหาค่าร้อยละ และอธิบายคุณลักษณะของตัวแปรที่ศึกษา โดยวิเคราะห์การจำแนกพหุ และวิเคราะห์การถดถอยพหุเชิงเส้น ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้ 1. ผู้สูงอายุในชุมชนแออัดส่วนใหญ่มีความว้าเหว่อยู่ในระดับปานกลางร้อยละ 45 2. ผู้สูงอายุที่มีเพศแตกต่างกัน มีความว้าเหว่แตกต่างกันโดยผู้สูงอายุเพศหญิงมีค่าเฉลี่ยคะแนนความว้าเหว่มากกว่าผู้สูงอายุเพศชาย 3. ผู้สูงอายุที่มีสถานภาพสมรสแตกต่างกัน มีความว้าเหว่แตกต่างกัน โดยที่ผู้สูงอายุที่มีสถานภาพ โสด หม้าย หย่า แยก มีค่าเฉลี่ยคะแนนความว้าเหว่มากกว่าผู้สูงอายุที่มีสถานภาพสมรสคู่ 4. ผู้สูงอายุที่มีลักษณะการอยู่อาศัยแตกต่างกัน มีความว้าเหว่แตกต่างกัน โดยผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่คนเดียวมีค่าเฉลี่ยคะแนนความว้าเหว่มากกว่าผู้สูงอายุที่อาศัยอยู่กับบุตร หลาน 5. ผู้สูงอายุที่มีแหล่งที่มาของรายได้แตกต่างกัน มีความว้าเหว่แตกต่างกันโดยผู้สูงอายุที่มีแหล่งรายได้จากบุตรหลานมีค่าเฉลี่ยคะแนนความว้าเหว่มากกว่าผู้สูงอายุที่หารายได้ด้วยตนเอง 6. รายได้มีความสัมพันธ์ทางลบกับความว้าเหว่ (ค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยเท่ากับ -.16) 7. ภาวะสุขภาพมีความสัมพันธ์ทางลบกับความว้าเหว่ (ค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยเท่ากับ -.54) 8. สัมพันธภาพในครอบครัวและชุมชนมีความสัมพันธ์ทางลบกับความว้าเหว่ (ค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยเท่ากับ -.03) 9. ความสูญเสียมีความสัมพันธ์ทางบวกกับความว้าเหว่ (ค่าสัมประสิทธิ์ถดถอยเท่ากับ .05) จากการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัยเสนอแนะให้ผู้ที่รับผิดชอบทั้งภาครัฐ และทีมสุขภาพหาแนวทางในการป้องกัน และส่งเสริมสุขภาพจิตผู้สูงอายุ โดยจัดกิจกรรมที่หลากหลายและส่งเสริมสัมพันธภาพในครอบครัวและชุมชน โดยการทำกลุ่มประคับประคอง ให้คำปรึกษากับครอบครัว และเยี่ยมบ้านเป็นต้นและคัดกรองผู้สูงอายุที่มีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพจิตโดยเฉพาะตัวแปรเพศ เพศหญิง สถานภาพสมรสโสด หม้าย หย่า แยก อาศัยอยู่คนเดียว และมีแหล่งที่มาของรายได้จากบุตรหลานและมีปัญหาสุขภาพมาประกอบการพิจารณา

Keywords: ความว้าเหว่, ผู้สูงอายุ, ชุมชนแออัด, จิตวิทยา, สุขภาพจิต, สุขภาพจิตผู้สูงอายุ, ความสูญเสีย, elderly, psychology, mental health, loss, loneliness

ปีที่เผยแพร่/Year: 2540

Address: บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 375400000033

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -