ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: จิดารัตน์ พิมพ์ดีด

ชื่อเรื่อง/Title: กระบวนการการดูแลตนเองของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทที่กลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารวิจัยเรื่อง กระบวนการการดูแลตนเองของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทที่กลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น, พ.ศ.2541

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงบรรยาย มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษากระบวนการ การดูแลตนเองของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทที่กลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นครั้งที่ 2 ขึ้นไป กรอบแนวคิดที่ใช้ในการศึกษาประยุกต์มาจากแนวคิดของ Chrisman (1977) Kleinman(1980) จากการทบทวนวรรณกรรม และจากประสบการณ์พยาบาลผู้ที่เป็นโรคจิตเภทของผู้วิจัย เพื่อใช้เป็นแนวทางในการศึกษาเกี่ยวกับกระบวนการการดูแลตนเองของผู้ที่เป็นโรคจิตเภท กลุ่มตัวอย่างคือ ผู้ที่เป็นโรคจิตเภททั้งเพศชายและหญิงจำนวน 10 ราย และญาติของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทจำนวน 10 รายโดยการสุ่มอย่างเจาะจง เก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างเดือนสิงหาคมถึงกันยายน 2540 โดยการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกเกี่ยวกับกระบวนการการดูแลตนเองโดยครอบคลุม 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ระยะรับรู้อาการผิดปกติทางจิต ระยะที่ 2 ระยะมารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นครั้งแรก และระยะที่ 3 ระยะมารับการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่นครั้งที่ 2 ขึ้นไป ในแต่ละระยะจะศึกษาถึงกิจกรรมดูแลตนเองของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทและญาติในขั้นตอนต่าง ๆ 5 ขั้นตอนคือ 1) การให้คำจำกัดความอาการผิดปกต 2) การปรึกษาหารือกับบุคคลรอบข้าง 3) การปรับเปลี่ยนบทบาท 4) การรักษาและ 5) การปฏิบัติตามการรักษาและการประเมินผล เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยประกอบด้วย 1) แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล 2) แนวคำถามการสัมภาษณ์กระบวนการการดูแลตนเอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการวิเคราะห์เนื้อหา และตรวจสอบผลการวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ ผลการวิจัยสามารถสรุปกิจกรรมการดูแลตนเองของผู้ที่เป็นโรคจิตเภทและญาติในขั้นตอนต่าง ๆ 5 ขั้นตอน โดยเปรียบเทียบทั้ง 3 ระยะ ดังนี้ 1. ขั้นตอนการให้คำจำกัดความอาการผิดปกติ กิจกรรมการดูแลตนเองที่เกิดขึ้นในทั้ง 3 ระยะ การวินิจฉัยอาการผิดปกติ ในระยะที่ 1 ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทและญาติจะให้การวินิจฉัยอาการผิดปกติเป็น 3 ลักษณะคือ 1) อาการผิดปกติทางด้านร่างกาย 2) อาการผิดปกติทางจิต “ประสาท” และ 3) อาการผิดปกติทางจิต “บ้า” หรือ “ป่วง” ในระยะที่ 2 จะให้การวินิจฉัยเป็น 2 ลักษณะคือ 1) อาการผิดปกติทางจิต “ประสาท” และ 2) อาการผิดปกติทางจิต “บ้า” หรือ “ป่วง” และในระยะที่ 3 จะให้การวินิจฉัยเป็น 2 ลักษณะคือ 1) การเริ่มผิดปกติ “แป่” และ 2) อาการผิดปกติทางจิต “บ้า” หรือ “ป่วง” 2. ขั้นตอนการปรึกษาหารือกับบุคคลรอบข้าง กิจกรรมการดูแลตนเองในทั้ง 3 ระยะ เป็นการแสวงหาการปรึกษาบุคคลใกล้ชิด ซึ่งจะมีขอบเขตหรือเครือข่ายของการปรึกษาแตกต่างกันใน 3 ระยะ โดยใน ระยะที่ 1 การปรึกษาบุคคลรอบข้างจากครอบครัวไปสู่เครือญาติ และชุมชน ในระยะที่ 2 พบว่ามีการปรึกษาบุคคลในครอบครัวและระหว่างเครือญาติ ส่วน ในระยะที่ 3 จะปรึกษาเฉพาะครอบครัวเท่านั้น แต่พบว่าการปรึกษาเจ้าหน้าที่ตำรวจพบทั้ง 3 ระยะ 3. ขั้นตอนการปรับเปลี่ยนบทบาท กิจกรรมการดูแลตนเองในขั้นตอนนี้คือ การกระทำบทบาทด้านต่างๆได้แก่ บทบาทด้านอาชีพและการทำงาน บทบาทด้านสังคม บทบาทในครอบครัว และบทบาทการเจ็บป่วย พบว่าผู้ที่เป็นโรคจิตเภทส่วนใหญ่เมื่อมีอาการทางจิตสงบในทั้ง 3 ระยะจะสามารถประกอบอาชีพและทำงานได้ตามปกติ แต่จะมีปฏิสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้างลดลงและมีพฤติกรรมแยกตัวเองมากขึ้น ตลอดจนมีสัมพันธภาพกับบุคคลภายในครอบครัวไม่ดีสำหรับบทบาทการเจ็บป่วย พบว่า ใน ระยะที่ 1 ถ้ามีอาการทางจิตผู้ที่เป็นโรคจิตเภทรับรู้ว่ามีอาการผิดปกติเกิดขึ้น แต่จะไม่คิดว่าอาการผิดปกตินั้นเป็นอาการของโรคจิต ในระยะที่ 2 ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทส่วนใหญ่ยอมรับว่าป่วยเป็น “ประสาท” แต่ญาติส่วนใหญ่ยอมรับว่าป่วยเป็น “บ้า” และในระยะที่ 3 ถ้าระดับอาการผิดปกติทางจิตรุนแรงผู้ที่เป็นโรคจิตเภทและญาติจึงจะยอมรับว่ามีการเจ็บป่วยเป็น “บ้า” 4. ขั้นตอนการรักษา กิจกรรมดูแลตนเองในขั้นตอนนี้คือ การรักษาโดยตนเองและการไปรักษาตามแหล่งต่าง ๆ พบว่าผู้ที่เป็นโรคจิตเภทและญาติมีการรักษากันเองก่อนเสมอ เมื่อ อาการไม่ดีขึ้นจึงจะไปรักษากับหมอพื้นบ้าน แพทย์ฝ่ายกาย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแพทย์ทางจิตเวช 5. ขั้นตอนการปฏิบัติตามการรักษาและการประเมินผล กิจกรรมการดูแลตนเองที่เกิดขึ้นในทั้ง 3 ระยะ คือ ประเมินการรักษาและตัดสินใจเลือกแหล่งรักษา พบว่าการรักษากับหมอพื้นบ้าน ผู้ที่เป็นโรคจิตเภทจะเคร่งครัดในการปฏิบัติตามการรักษาเพราะอยากหายป่วย ญาติและผู้ที่เป็นโรคจิตเภทมีความพึงพอใจผู้รักษาและวิธีการรักษา แต่ไม่พึงพอใจผลการรักษา การรักษากับแพทย์ฝ่ายกายหรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข พบว่าเมื่อมีอาการผิดปกติทางจิตจะปฏิบัติตามไม่สม่ำเสมอและผลการรักษาไม่ดีขึ้น แต่ญาติและผู้ที่เป็นโรคจิตเภทมีความพึงพอใจผู้รักษาและวิธีการรักษา ส่วนการรักษาในโรงพยาบาลจิตเวชจะเคร่งครัดต่อการปฏิบัติตามการรักษาในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เมื่อมีอาการดีขึ้นมักจะไม่ปฏิบัติตามการรักษา ซึ่งญาติและผู้ที่เป็นโรคจิตเภทมีความพึงพอใจต่อผู้รักษา วิธีการรักษาและผลลัพธ์ของการรักษา จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า ญาติและผู้ที่เป็นโรคจิตเภทมีประสบการณ์มากขึ้นเกี่ยวกับการดูแลตนเองและดูแลผู้ที่เป็นโรคจิตเภทในด้านการใช้ยาจิตเวช การสังเกตอาการนำก่อนอาการกำเริบ สามารถให้การดูแลตนเองได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะถึงการพัฒนาทักษะและเครือข่ายการดูแลตนเองของผู้ป่วยและญาติในชุมชน และความจำเป็นในการพัฒนางานสุขภาพจิตในการดูแลรักษาเบื้องต้น โดยการพัฒนาศักยภาพของสถานบริการในชุมชนที่จะเป็นทางเลือกใหม่ให้ประชาชน เพื่อที่จะช่วยป้องกันภาวะเรื้อรังและการกลับซ้ำของโรค อีกทั้งให้สามารถดูแลตนเองได้ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป ส่วนบุคลากรพยาบาลควรพัฒนาเทคโนโลยีทางการพยาบาลที่เหมาะสมในการส่งเสริมความสามารถในการดูแลตนเอง

Keywords: psychiatry, readmission, schizophrenia, self care, psychiatric nursing, โรคจิตเภท, จิตเภท, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, กระบวนการการดูแลตนเอง, การพยาบาลจิตเวช, กิจกรรมพยาบาล, ผู้ป่วยโรคจิต, การพยาบาลผู้ป่วยโรคจิตเภท

ปีที่เผยแพร่/Year: 2541

Address: สาขาวิชาการพยาบาลสุขภาพจิตและจิตเวช บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยขอนแก่น

Code: 375410000032

ISSN/ISBN: 974-675-686-9

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -