ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อรศรี เสงี่ยมศักดิ์

ชื่อเรื่อง/Title: รูปแบบการดำเนินงานสุขภาพจิตชุมชนในตำบลน้ำปลีก อำเภออำนาจเจริญ จังหวัดอุบลราชธานี.

แหล่งที่มา/Source: เอกสารการวิจัย พ.ศ. 2536

รายละเอียด / Details:

การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทำความเข้าใจและเสนอรูปแบบการดำเนินงานในการให้บริการทางด้านสุขภาพจิตชุมชน ตลอดจนการวิเคราะห์หาปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน โดยพิจารณาจากปัจจัย 3 ปัจจัยคือ ปัจจัยนำ ปัจจัยเอื้อ และปัจจัยเสริม โดยกำหนดปัจจัยนำ ได้แก่ เจตคติต่อสุขภาพจิตชุมชนและการรับรู้บทบาทของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ปัจจัยเอื้อได้แก่ ขนาดของชุมชน จำนวนบุคลากร การได้รับการนิเทศงานสุขภาพจิตชุมชน การได้รับการอบรมด้านสุขภาพจิตของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ปัจจัยเสริมได้แก่ พฤติกรรมสนับสนุนการดำเนินงานของผู้บังคับบัญชาแต่ละระดับ ทั้งนี้เพื่อเสนอแนวทางแก้ไข ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการบริการสุขภาพจิตชุมชน ในการศึกษาครั้งนี้ ได้ทำการศึกษาที่ตำบลน้ำปลีก อ.อำนาจเจริญ จ.อุบลราชธานี กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าสถานีอนามัยทุกแห่งใน อ.อำนาจเจริญ จำนวน 22 คน กรรมการสภาตำบล 30 คน อาสาสมัครสาธารณสุข จำนวน 30 คน ประชาชนทั่วไปในตำบลทดลอง 100 คน และตำบลควบคุม 54 คน การเก็บข้อมูล ใช้วิธีการเก็บข้อมูลโดยการอภิปรายกลุ่มแบบ Norminal Group และแบบ Focus Group สัมมนาหารูปแบบการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และศึกษาสังเกตพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายด้วยวิธีการทางมนุษยวิทยา ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์ เจ้าหน้าที่และประชาชน วิธีการวิเคราะห์ข้อมูลจะใช้การวิเคราะห์ทั้งเชิงคุณภาพและปริมาณ ผลการศึกษาครั้งนี้พบว่า การให้บริการสุขภาพจิตชุมชนมี 4 กลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มวัยเรียน กลุ่มวัยรุ่นหรือเยาวชน กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มผู้สูงอายุ จากการศึกษาวิเคราะห์ถึงรูปแบบการดำเนินการในทั้ง 4 กลุ่ม พบว่า การดำเนินงานของทั้ง 4 กลุ่มมีการแบ่งระดับการทำงาน ความรับผิดชอบ และการบริหารเป็นลำดับ คือ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้านตามลำดับ ในการดำเนินการครั้งนี้พบว่า ไม่มีปัญหาในเรื่องปัจจัยนำ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบโครงการสุขภาพจิตชุมชนมีทัศนคติที่ดีต่อโครงการและเข้าใจในบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบของตนเองดี ประชาชนก็เช่นกันมีทัศนคติที่ดีและเห็นความสำคัญของการมีสุขภาพจิตที่ดี ปัญหาที่พบเป็นเรื่องของการขาดการสนับสนุนในเรื่องของงบประมาณ และบุคลากรที่จะใช้ในการอบรมและนิเทศงานให้มากขึ้น นอกจากนี้ยังพบว่าถ้าผู้บริหารให้การสนับสนุนและเห็นความสำคัญของงานสุขภาพจิตชุมชน ก็จะมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จและคุณภาพของบริการสุขภาพจิตที่จะให้แก่ประชาชน

Keywords: สุขภาพจิตชุมชน, สุขภาพจิต, ชุมชน, เจ้าหน้าที่สาธารณสุข, พฤติกรรม, จิตวิทยา, mental health, community, behavior

ปีที่เผยแพร่/Year: 2539

Address: คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์ ทบวงมหาวิทยาลัย

Code: 378360000003

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ภาษาไทย

Category: นิพนธ์ต้นฉบับ

Download: -