ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: อภิชัย มงคล

ชื่อเรื่อง/Title: การศึกษาความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตในชุมชนและระบาดวิทยาโรคจิต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

แหล่งที่มา/Source: การสัมมนาระบาดวิทยาแห่งชาติ ครั้งที่ 15, (22-24 พฤษภาคม 2545), หน้า 46-47.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อการศึกษาความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตในชุมชน โดยพิจารณาความไว ความจำเพาะ คุณค่าการทำนายผลบวก คุณค่าการทำนายผลลบ ความถูกต้องของการทดสอบเมื่อเปรียบเทียบกับการวิจัยโรคของแพทย์ และศึกษาระบาดวิทยาโรคจิต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบ่งการศึกษาออกเป็น 2 ระยะ ระยะที่ 1หาค่าพร้อม (Agreement) ในการวินิจฉัยโรคของแพทย์ 3 คน ได้ค่า Kappa statistic เท่ากับ 0.844 (Z=12.88, p‹0.01) และได้ทำการศึกษาความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตในชุมชนเมื่อเปรียบเทียบกับการวินิจฉัยโรคของแพทย์ เพื่อหาจุดตัดที่เหมาะสม โดยเก็บข้อมูลจากประชากรที่อยู่อาศัยในตำบล ท่าพระ พระลับ และเมืองเก่า อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น โดย เลือกตัวอย่างแบบเจาะจง ตามคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในการศึกษา กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 3,238 คน สำหรับกลุ่มตัวอย่างที่มีคะแนนจากแบบคัดกรอง 1 คะแนนขึ้นไป พบแพทย์ทุกคน และกลุ่มตัวอย่างที่มีคะแนน 0 คะแนน สุ่มตัวอย่างตามกลุ่มอายุ กลุ่มละ 30% พบแพทย์ โดยแพทย์ไม่ทราบคะแนนจากแบบคัดกรอง ระยะที่ 2 เป็นการศึกษาระบาดวิทยาโรคจิตใช้วิธีสุ่มตัวอย่างแบบ multistage cluster sampling โดยขั้นที่ 1 สุ่มจังหวัด 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเลย ชัยภูมิ ศรีสะเกษ และมุกดาหาร จากนั้นสุ่มหมู่บ้านในอำเภอเมือง และอำเภอนอก เก็บข้อมูลหมู่บ้านในสัดส่วนอำเภอเมืองต่ออำเภอรอบนอก เท่ากับ 1: 5 และเก็บข้อมูลตามคุณสมบัติที่กำหนด ขนาดของกลุ่มตัวอย่างในการศึกษาระยะที่ 2 ได้จากการคำนวณจากสูตร เท่ากับ 11,813 คน แต่เก็บได้จริง 12,119 คน ใช้เวลาในการเก็บรวบรวมข้อมูลระยะที่ 1-2 ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2541 ถึงกรกฎาคม 2542 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบคัดกรอง ของอภิชัย มงคล และคณะ และจิตแพทย์และแพทย์จำนวน 3 คน (gold standard) สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล ได้แก่ การแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการวิเคราะห์ความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตกับการวินิจฉัยโรคของแพทย์ ผลการศึกษา 1. ค่าความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิตในชุมชน มีจุดตัดที่เหมาะสมที่ 1 คะแนน โดยให้ค่าความไวร้อยละ 92.0 ความจำเพาะ ร้อยละ 98.8 คุณค่าการทำนายผลบวก ร้อยละ 63.9 คุณค่าการทำนายผลลบ ร้อยละ 99.8 ความถูกต้องของการทดสอบ ร้อยละ 98.6 ความชุกของโรคจิต ร้อยละ 2.3 2. ระบาดวิทยาภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ผลการศึกษาพบว่าความชุกของโรคจิตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เท่ากับ ร้อยละ 1.2 โดยพบผู้ป่วยโรคจิตมากที่สุดในจังหวัดศรีสะเกษ ร้อยละ 43.9 รองลงมาจังหวัดเลย ร้อยละ 25.0 มีอายุอยู่ในช่วง 25-34 ปี ร้อยละ 26.4 รองลงมา 35-44 ปี และ 45-54 ปี มีจำนวนเท่าๆ กัน ร้อยละ 21.6 เป็นเพศหญิง ร้อยละ 51.4 จบการศึกษาประถมศึกษา ร้อยละ 78.3 สถานภาพสมรสคู่ ร้อยละ 46.6 อาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 53.3 มีลักษณะครอบครัวขยาย ร้อยละ 48.6 รองลงมาเป็นครอบครัวเดี่ยว ร้อยละ 46.6 เป็นสมาชิกในครอบครัว ร้อยละ 67.6 ไม่เคยมีประวัติใช้สารเสพติด ร้อยละ 41.9 เคยมีอาการหรือการเจ็บป่วยทางจิต ร้อยละ 52.7 รองลงมาไม่เคยมีอาการ ร้อยละ 45.9 สรุป ผลการศึกษาที่ได้รับเป็นข้อมูลเชิงระบาดวิทยา ซึ่งสามารถนำไปวางแผนในการดำเนินงานด้านสุขภาพจิตและจิตเวช รวมทั้งการอ้างอิงเชิงวิชาการ และควรมีการศึกษาระบาดวิทยาทางโรคจิตในประเทศไทย โดยใช้แบบคัดกรองฉบับนี้ เนื่องจากได้ศึกษาความถูกต้องของเครื่องมือเรียบร้อยแล้ว

Keywords: โรคจิต แบบคัดกรอง, ระบาดวิทยา, ความชุก, จิตเวช, จิตเวชศาสตร์, ชุมชน, ระบาดวิทยาโรคจิต, ความถูกต้องของแบบคัดกรองโรคจิต, psychiatry, psychosis

ปีที่เผยแพร่/Year: 2545

Address: โรงพยาบาลจิตเวชขอนแก่น กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

Code: 460000173

ISSN/ISBN: -

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: Paper ที่ได้รับคัดเลือกในที่ประชุมวิชาการระบาดวิทยาแห่งชาติ

Download: -