ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สุมาลี สัยยะสิทธิพานิชย์

ชื่อเรื่อง/Title: การประเมินผลบริการจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ติดยาบ้าแบบผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสวนปรุง จังหวัดเชียงใหม่

แหล่งที่มา/Source: วารสารการพยาบาลจิตเวชและสุขภาพจิต, ปีที่ 17, ฉบับที่ 1, มกราคม-มิถุนายน 2546, หน้า 76-90.

รายละเอียด / Details:

การศึกษาครั้งนี้เป็น Pre-Experimental research design แบบกลุ่มเดียวทำการทดลองหลังการทดลอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพ ประสิทธิผลของบริการจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ติดยาบ้าแบบผู้ป่วยนอก และความพึงพอใจต่อบริการของผู้ติดยาบ้าที่เข้ารับการรักษาด้วยโปรแกรมจิตสังคมบำบัดในโรงพยาบาลสวนปรุง และเปรียบเทียบผลของบริการจิตสังคมบำบัดแบบผู้ป่วยนอกของผู้ติดยาบ้าที่เข้ารับการบำบัดจนครบกำหนดตามโปรแกรมและไม่ครบโปรแกรม กลุ่มตัวอย่างในการศึกษาครั้งนี้ได้แก่ ผู้ติดยาบ้าที่เข้ารับการรักษาแบบผู้ป่วยนอกด้วยโปรแกรมจิตสังคมบำบัดระหว่างเดือนเมษายน 2544 ถึงมีนาคม 2545 จำนวน 69 คน โดยดำเนินกิจกรรมตามโปรแกรม 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ครั้งละ 1-25 ชั่วโมง นาน 16 สัปดาห์ รวม 65 กิจกรรม โดยนำโปรแกรมจิตสังคมบำบัดสำหรับผู้ติดยาบ้าแบบผู้ป่วยนอก และแบบประเมินผลโปรแกรมที่กรมสุขภาพจิต และกรมการแพทย์ปรับและพัฒนาขึ้นจาก The Matrix Intensive Outpatientt Program (Matrix IOP) ของ University of California Los Angeles ซึ่งประกอบด้วย การให้คำปรึกษารายบุคคล กลุ่มฝึกทักษะ การเลิกยาระยะเริ่มต้น กลุ่มฝึกทักษะการป้องกันการกลับไปเสพซ้ำ กลุ่มครอบครัวศึกษา และกลุ่มสนับสนุนทางสังคม ซึ่งลักษณะการดำเนินกลุ่มเป็นกลุ่มเปิด โดยอาศัยหลักการเรียนรู้ด้วยกระบวนการกลุ่ม และการฝึกทักษะ จากนั้นทำการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นระยะๆ ตั้งแต่เริ่มเข้าสู่โปรแกรมด้วยแบบสอบถามเกี่ยวกับประวัติส่วนตัว ครอบครัว สุขภาพกาย/จิต การใช้สารเสพติด และในเดือนที่ 1 สำรวจการบริการในระยะแรก เดือนที่ 3 สำรวจความพึงพอใจระหว่างรับบริการ เดือนที่ 4 สำรวจความพึงพอใจในช่วงท้ายของบริการ สรุปผลการรักษา และมีการติดตามผลหลังครบโปรแกรมในเดือนที่ 1, 4, 8 จนครบ 1 ปี และข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ทางสถิติโดยหาค่า ความถี่ ร้อยละ ค่าฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทำการทดสอบความแตกต่างค่าเฉลี่ยของคะแนนประเมินผลบริการจิตสังคมบำบัดในกลุ่มที่เข้ารับการบำบัดครบตามโปรแกรม และไม่ครบตามโปแกรมที่กำหนดด้วยวิธีการทดสอบค่าที (Independent t-test) ผลการวิจัยพบว่า ด้านประสิทธิภาพ มีผู้ที่เข้ารับการบำบัดจนครบตามโปรแกรมที่กำหนด จำนวน 10 คน คิดเป็นร้อยละ 14.49 ด้านการเข้าถึงบริการมีความง่ายและรวดเร็ว ในการนัดเข้าสู่บริการอยู่ในระดับปานกลางถึงเร็วพอควร โดยระยะเวลาที่มาติดต่อจนถึงวันนัดเข้าร่วมกิจกรรมครั้งแรกใช้เวลาโดยเฉลี่ย 2-3 วัน (X=2.15) ซึ่งใกล้เคียงกับเกณฑ์ของกรมสุขภาพจิตที่กำหนดไว้ไม่เกิน 2 วันทำการ ด้านประสิทธิผล มีจำนวนผู้เข้ารับการบำบัดที่อยู่ครบตามโปรแกรมที่กำหนดและสามารถหยุดการใช้สารแอมเฟตามีน (ยาบ้า) โดยดูจากผลการตรวจสารแอมเฟตามีนในปัสสาวะครั้งสุดท้ายก่อนจำหน่ายไม่พบสารแอมเฟตามีนร้อยละ 80 และจากการติดตามต่อเนื่องหลังสิ้นสุดโปแกรมในผู้ที่อยู่ครบโปรแกรม พบว่าในเดือนที่ 1 ผลการตรวจไม่พบสารแอมเฟตามีน ร้อยละ 83.33 ของผู้มาตรวจตามนัด และในเดือนที่ 4 ไม่พบสาแอมเฟตามีนร้อยละ 100 ของผู้มาตรวจตามนัด และภาพรวมการดำเนินชีวิตในด้านอาชีพ/การเรียน ครอบครัว การใช้สารเสพติด การวางแผนจัดการในชีวิตประจำวัน ปัญหาทางจิตเวช กฎหมาย และสุขภาพกายอยู่ในระดับปานกลางถึงดี และค่าเฉลี่ยของ Global Assessment of Function ขณะเข้าสู่การรักษาของกลุ่มตัวอย่างเท่ากับ 55.98 ขณะจำหน่ายเท่ากับ 66.05 เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.07 ซึ่งผ่านเกณฑ์ที่กรมสุขภาพจิตกำหนด ด้านความพึงพอใจต่อบริการ พบว่า คุณภาพบริการ ระยะเวลาของโครงการ และองค์ประกอบของโปรแกรม อยู่ในระดับค่อนข้างพอใจถึงพอใจมาก แต่ความพึงพอใจโดยรวมมีค่าเฉลี่ยเท่ากับ 4.3 ซึ่งต่ำกว่าเกณฑ์ที่กรมสุขภาพจิตกำหนดไว้คือ 4.5

Keywords: การประเมิน, บริการจิตสังคมบำบัด, ผู้ป่วยนอก, ประสิทธิภาพ, ประสิทธิผล, ความพึงพอใจ

ปีที่เผยแพร่/Year: 2546

Address: โรงพยาบาลสวนปรุง

Code: 460000205

ISSN/ISBN: 0857-4553

Country of publication: Thailand.

Language: ภาษาไทย

Category: บทคัดย่อ: วารสารวิชาการ

Download: -