ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: ปรีชา เรืองจันทร์

ชื่อเรื่อง/Title: สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา มาตรการรณรงค์โดยผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้นำที่ต้องทำ.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 3 สุราไม่ใช่สินค้าธรรม, วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 ณ. โรงแรมริชมอนด์ แคราย นนทบุรี, หน้า 47.

รายละเอียด / Details:

จากการจัดอันดับโลกโดยองค์กรอนามัยโลก พบว่า ประเทศไทยมีปริมาณการดื่มแอลกอฮอล์สูงเป็นอันดับ 40 ของโลก โดยเฉพาะเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดกลั่นสูงเป็นอันดับ 5 ของโลก จำนวนเงินที่ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าค่าก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิเสียอีก ในปี 2548 ประมาณการว่าคนไทยดื่มแอลกอฮอล์ถึง 10,000 ล้านลิตร และจ่ายเงินเป็นค่าซื้อเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ถึง 187,000 ล้านบาท โดยปริมาณการดื่มจะมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปี ในปี 2532 อัตราการดื่ม 20.2 ลิตร ต่อคน ต่อปีและในปี 2546 มีอัตราการบริโภคเฉลี่ย 58 ลิตรต่อคนต่อปีหรือเพิ่มเกือบ 3 เท่าตัว สถานการณ์และผลกระทบ สุราหรือเหล้า หมายถึง เครื่องดื่มที่มีเอทิลแอลกอฮอล์ผสมอยู่ในปริมาณไม่เกิน 60% ซึ่งถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่คนเราสามารถดื่มได้ เกณฑ์นี้เป็นข้อกำหนดของสากลทั่วไป แต่สำหรับประเทศไทยครอบคลุมถึงปริมาณไม่เกิน 80% เครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เช่น สุรา เบียร์ ไวน์ แชมเปญ วิสกี้ เมื่อพิจารณาจำนวนประชากรที่ดื่ม จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2547 พบว่า คนไทยอายุ 15 ปี ขึ้นไป ดื่มแอลกอฮอล์จำนวน 16.1 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นผู้ดื่มสุราเป็นประจำหรือดื่มสม่ำเสมอประมาณ 8.8 ล้านคน โดยมีนักดื่มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นปีละอย่างน้อย 260,000 คน หรือประมาณวันละ 700 คน ปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้สถิติการดื่มเพิ่มขึ้นคือกลยุทธ์ทางการตลาดของบริษัทที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่พยายามสร้างภาพของการดื่มที่เป็นเรื่องของแฟชั่น ดื่มแล้วเท่ โก้เก๋ เข้าสังคมได้และมีราคาถูกลงทำให้หาซื้อได้ง่าย ดังนั้นปัจจุบันอายุเฉลี่ยของนักดื่มหน้าใหม่จึงมีเพิ่มเรื่อยๆ อย่างน่าใจหาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยาวชนที่เป็นสตรีจะหันมาดื่มเบียร์เพิ่มขึ้น สำหรับผลกระทบจากการบริโภคแอลกอฮอล์ ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับอุบัติเหตุจราจรมีการประมาณไว้ในระดับร้อยละ 2-3 ของรายได้ประชาชาติ หรือประมาณ 1 แสนล้านบาทต่อปี ถ้ารวมความสูญเสียทางเศรษฐกิจทั้งหมด คิดเป็นมูลค่าไม่ต่ำกว่า 5 แสนล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดความสูญเสียต่อตัวผู้บริโภค ต่อครอบครัว ชุมชน และสังคมโดยรวม เช่น การก่อให้เกิดโรคและความเจ็บป่วย ปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรงตามมา.

Keywords: สุรา, สถานการณ์, เหล้า, เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, ครอบครัว, สังคม, ชุมชน, อาชญากรรม, ความรุนแรง

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: ผู้ว่าราชการจังหวัดพิจิตร

Code: 20080013

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: