ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: วันทนีย์ ทองหนุน

ชื่อเรื่อง/Title: ค่ายสร้างพลังใจเพื่อเลิกบุหรี่.

แหล่งที่มา/Source: บทคัดย่อผลงานวิชาการ กระทรวงสาธารณสุข ประจำปี 2550, ณ. โรงแรมโลตัส ปางสวนแก้ว จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 29-31 สิงหาคม หน้า 351.

รายละเอียด / Details:

การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุสำคัญของการเจ็บป่วยของโรคต่างๆ การเลิกสูบบุหรี่ทำได้ด้วยการเลิกด้วยตนเองและโดยบุคลากรทางการแพทย์มีการศึกษาพบว่าการให้คำปรึกษาโดยบุคลากรทางการแพทย์เพียง 2-3 นาที มีส่วนเพิ่มอัตราการเลิกบุหรี่ได้ถึงร้อยละ 20 และผู้สูบบุหรี่เองชอบวิธีการเลิกโดยการรับคำแนะนำจากบุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์เป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพและต้องเป็นเขตปลอดบุหรี่ 100% แต่พบว่ายังมีบุคลากรโรงพยาบาลที่สูบบุหรี่ในโรงพยาบาล ดังนั้นการสร้างวัฒนธรรมให้บุคลากรเป็นตัวอย่างที่ดีไม่ควรสูบบุหรี่เป็นสิ่งสำคัญ กลุ่มงานจิตเวชจึงจัดโครงการนี้โดยมี วัตถุประสงค์ 1) เพื่อให้บุคลากรที่สูบบุหรี่มีความตระหนักรู้ถึงโทษพิษภัยบุหรี่ตลอดจนการสร้างพลังใจมีแนวทางในการเลิกสูบบุหรี่ให้สำเร็จ 2) การมีส่วนร่วมของหัวหน้างานในการร่วมให้กำลังใจสำหรับผู้ที่ร่วมกิจกรรม วิธีการศึกษาใช้กระบวนการ PDCA ระยะที่ 1 ทบทวนสถานการณ์ปี 2548 สำรวจพบว่าบุคลากรที่สูบบุหรี่มี 120 คน สมัครใจจะเข้ารักษา เพียง 23 คน ประเมินผลพบว่าผู้ที่เลิกสูบบุหรี่ ได้ 11 คน (48%) ลดปริมาณการสูบลง 9 คน (39%) ปัญหาอุปสรรคของการมาบำบัดอย่างหนึ่งคือ มาร่วมกิจกรรมได้ไม่สม่ำเสมอเพราะเป็นเวลาทำงาน ส่งผลให้ประสิทธิภาพในการเลิกสูบบุหรี่ลดลง เห็นได้ว่าบุคลากรที่สูบบุหรี่ มีเพียงร้อยละ 19.16 ที่ตระหนักรู้โทษของบุหรี่และต้องการที่จะเข้าบำบัดรักษาอย่างจริงจัง ปี 2549 สำรวจบุคลากรที่สูบบุหรี่มี 140 คน ระยะที่ 2 วางแผนปรับปรุงแก้ไข ระยะที่ 3 จัดกิจกรรมค่ายสร้างพลังใจเพื่อเลิกบุหรี่ 2 วันรูปแบบกิจกรรมกลุ่มและเชิญหัวหน้างานร่วมให้กำลังใจในวันปิดค่าย ระยะที่ 4 ประเมินผลและพัฒนาต่อเนื่องโดยให้การบำบัดรักษาโดยให้การปรึกษารายบุคคล/กลุ่มในกรณียังลดเลิกไม่ได้และติดตามต่อ ระยะเวลา 1 ปี (2 สัปดาห์-1,2,6 เดือน, 1 ปีโดยผู้บำบัดติดตามเยี่ยมที่หน่วยงานและทางโทรศัพท์ให้คำแนะนำอย่างสม่ำเสมอ) และมอบเกียรติบัตรให้ผู้เลิกสูบบุหรี่ได้ในระยะ 1 ปี ในวันงดสูบบุหรี่โลกปี 2550 สำหรับผู้ที่ยังเลิกไม่ได้วางแผนจัดค่ายคนใจเด็ดในปีต่อไป ผลการศึกษาพบว่า จำนวนกลุ่มเป้าหมายลดลงจาก 140 คนเหลือ 112 คน เนื่องจากลาออก 1 คนเสียชีวิต 1 คน และหยุดสูบมาก่อนเข้าค่าย ในระยะ 2 เดือนพบว่าไม่สูบ 34 คน (22.33%) ปริมาณการสูบลดลง 81 คน (28.33% ) สูบนานๆ ครั้ง 5 คน (4.16%) ระยะ 6 เดือนไม่สูบ 26 คน (23%) สูบลดลงมี 20 คน (17.95%) สูบนานๆ ครั้ง 50 คน (43.85%) ปริมาณเท่าเดิม (มากกว่า 10 มวน) 3 คน ระยะ 1 ปี หยุดสูบ 43 คน (38.39%) มีพลั้งเผลอบ้างมี 9 คน (8.03%) สูบลดลง 60 คน (53.57%) ผู้ที่เลิกได้สำเร็จมีแรงจูงใจที่สำคัญคือกำลังใจจากครอบครัว นโยบายของโรงพยาบาลที่ชัดเจนและจริงจัง และผลของกิจกรรมค่ายอันดับแรกคือภาพยนตร์พิษภัยบุหรี่ ตัวอย่างการผ่าตัดปอดความทุกข์ทรมานของผู้ป่วยถุงลมโปงพอง อันดับต่อมาคือ การบรรยายของนายกสมาคมผู้ไร้กล่องเสียงและวิทยากรจาก สสจ.อำนาจเจริญ และกิจกรรมของหัวหน้างานที่มาร่วมให้กำลังใจรวมทั้งการติดตามการปรึกษาอย่างต่อเนื่องของกลุ่มงานจิตเวช ปัญหาอุปสรรคของการเลิกบุหรี่คือกลุ่มเพื่อนที่สูบ วงสุรา เครียดจากเศรษฐกิจ ครอบครัว ความง่วงขณะขึ้นเวร ข้อเสนอแนะการทำงานบุหรี่ต้องทำอย่างต่อเนื่องจริงจังที่สำคัญ คือ ผู้บริหารมีนโยบายที่ชัดเจนสนับสนุนติดตามงานต่อเนื่อง หัวหน้างานมีส่วนร่วมให้กำลังใจบุคลากรที่กำลังบำบัด ควรมีสหวิชาชีพเข้าร่วม (พยาบาล เภสัชกร นักกายภาพ ทันตแพทย์ฯ) จะช่วยให้งานสำเร็จได้และขยายผลไปยังผู้มารับบริการได้ครอบคลุมทุกหน่วย.

Keywords: ค่ายสร้างพลังใจ, บุหรี่, สุขภาพจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ อุบลราชธานี

Code: 20080019

ISSN/ISBN: 978-974-8102-25-2

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: