ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: นพวรรณ เอกสุวีรพงษ์, นารัต เกษตรทัต

ชื่อเรื่อง/Title: ปัจจัยที่มีผลต่อความไม่ร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยในโรคจิตเภท ณ โรงพยาบาลสวนสราญรมย์.

แหล่งที่มา/Source: วารสารสมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, ปีที่ 52, ฉบับที่ 4, ตุลาคม-ธันวาคม 2550, หน้า 412.

รายละเอียด / Details:

วัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ของปัจจัยต่างที่มีผลต่อความไม่ร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยในโรคจิตเภท คือ ปัจจัยด้านผู้ป่วยได้แก่ อายุ เพศ ระดับการศึกษา การใช้สารเสพติด การใช้แอลกอฮอล์ ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การมีผู้ดูแลเกี่ยวกับการใช้ยา และปัจจัยด้านการรักษา ได้แก่ คะแนนความถี่ของการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยา ระยะเวลาการเจ็บป่วย ความถี่ในการบริหารยาต่อวันจำนวนขนานยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับ ประเภทของยารักษาโรคจิต. วิธีการศึกษา เป็นการวิจัยเชิงพรรณนาแบบเก็บข้อมูลไปข้างหน้า. ผลการศึกษา ทำการศึกษาในผู้ป่วยในโรคจิตที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลสวนสราญรมย์ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2549 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2550 จำนวน 183 ราย ร้อยละ 71.0 เป็นเพศชาย อายุเฉลี่ยผู้ป่วย 36.77+- 10.58 ปี ระยะเวลาการเจ็บป่วยด้วยโรคจิตเภทเฉลี่ย 9.43+- 7.94 ปี ได้รับการรักษาด้วยยารักษาโรคจิตกลุ่มเดิม (ร้อยละ 89.6) ยารักษาโรคจิตกลุ่มเดิมที่ได้รับมากที่สุด คือ ยา chlorpromazine (ร้อยละ 63.9) ยากลุ่มอื่นๆ ที่ได้รับร่วมด้วย เช่น antianxiety drugs anticholinergic drugs mood stabilizers เป็นต้น ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 38.8) ได้รับยา 3 ขนานต่อวัน ผู้ป่วยร้อยละ 63.4 ได้รับยาวันละ 3 ครั้ง และร้อยละ 69.9 ของผู้ป่วยไม่มีผู้ดูแลเกี่ยวกับการใช้ยา ผู้ป่วยส่วนใหญ่ (ร้อยละ 56.8) มีคะแนนความไม่ร่วมมือในการใช้ยาอยู่ในระดับต่ำ (18.05+- 7.49 คะแนน) ระยะเวลาการเจ็บป่วยและจำนวนขนานยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับมีความสัมพันธ์เชิงลบกับคะแนนความไม่ร่วมมือในการใช้ยา (p‹0.05) ผู้ป่วยเพศชาย มีคะแนนความไม่ร่วมมือในการใช้ยาสูงกว่าเพศหญิง (p=0.022) ผู้ป่วยที่ไม่มีผู้ดูแลเกี่ยวกับการใช้ยามีคะแนนความไม่ร่วมมือในการใช้ยาสูงกว่าผู้ป่วยที่มีผู้ดูแลเกี่ยวกับการใช้ยา (p<0.001) และผู้ป่วยที่ใช้แอลกอฮอล์มีคะแนนความไม่ร่วมมือในการใช้ยาสูงกว่า ผู้ป่วยที่ไม่ใช้แอลกอฮอล์ (p=0.02) และเมื่อทำการวิเคราะห์ความถดถอยเชิงพหุโดยวิธี stepwise พบว่า การมีผู้ดูแลเกี่ยวกับการใช้ยา (=2.539; p=0.016) จำนวนขนานยาทั้งหมดที่ผู้ป่วยได้รับ (=-1.455;P=0.004) และความถี่ในการบริหารยาต่อวัน( = 1.868; p=0.005) เป็นปัจจัยทำนายความไม่ร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยโรคจิตเภทได้ร้อยละ 16.5 ( R2= 0.165;p<0.05). สรุป ผลจากการศึกษานี้สามารถนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับความไม่ร่วมมือในการใช้ยาของผู้ป่วยไปใช้ในการติดตามดูแลการใช้ยาของผู้ป่วย เพื่อให้การใช้ยาในการบำบัดรักษาผู้ป่วยโรคจิตเภทได้รับประโยชน์สูงสุดได้.

Keywords: ความไม่ร่วมมือในการใช้ยา, ผู้ป่วยโรคจิตเภท, โรคจิต, จิตเภท, ยาต้านโรคจิต, ยารักษาโรคจิต

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: โรงพยาบาลสวนสราญรมย์, โครงการจัดตั้งภาควิชาเภสัชกรรมคลินิก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

Code: 20080022

ISSN/ISBN: -

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: