ฐานข้อมูลวิจัยด้านสุขภาพจิตและจิตเวช

ผู้วิจัย/Authors: สมศักดิ์ โกศัยสุข

ชื่อเรื่อง/Title: สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดาที่กระทบต่อผู้ใช้แรงงาน.

แหล่งที่มา/Source: การประชุมวิชาการสุราระดับชาติ ครั้งที่ 3 สุราไม่ใช่สินค้าธรรม, วันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2550 ณ. โรงแรมริชมอนด์ แคราย นนทบุรี, หน้า 22.

รายละเอียด / Details:

ท่านนายแพทย์บัณฑิต ศรไพศาล ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา ท่านวิทยากร และท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน ที่มีจิตใจอันแรงกล้าปรารถนาร่วมกันที่จะสร้างสังคมสันติประชาธรรม และพัฒนาสังคมสู่สังคมคุณธรรม ซึ่งถือเป็นรากฐานของสังคมประชาธิปไตยที่แท้จริง คือ ประชาธิปไตยทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคม และวัฒนธรรมอันดีงามเพื่ออนาคตของเยาวชนของชาติต่อไป อันเป็นความหวังของเราทุกคน. ผมรู้สึกเป็นเกียรติและภาคภูมิใจอย่างมากที่ได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนรณรงค์ให้สังคมได้หยุดคิดและหันมาทบทวน สนใจมหันตภัยร้ายที่เกิดขึ้นในสังคมไทยทุกระดับ ที่แพร่เชื้อมาจากพิษร้ายของการโฆษณาชวนเชื่อของนายทุนค้าน้ำเมา โดยมุ่งแสวงหามูลค่าส่วนเกินจากการขูดรีดเอากับประชาชนชาย-หญิง ไม่เว้นแม้กระทั่งคนหนุ่มสาวและเด็ก ให้ต้องตกเป็นเหยื่อของน้ำเมาหรือเหล้าในรูปแบบต่างๆ ผ่านทั้งทางวิทยุโทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ อินเตอร์เน็ต ในโรงภาพยนต์ และแผ่นป้ายโฆษณาต่างๆ ในหลากหลายรูปแบบพียงเพื่อสนองผลกำไรและความร่ำรวยของพวกเขา โดยไม่เคยคิดรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นกับสังคมแม้แต่น้อย ดังนั้น การตั้งหัวข้ออภิปรายว่า สุราไม่ใช่สินค้าธรรมดา จึงเป็นประเด็นที่น่าสนใจ และมีความหมายเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งผมในฐานะที่คลุกคลีอยู่กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานที่เป็นผู้เสียเปรียบในสังคม และเขาคือคนส่วนใหญ่ของประเทศไทยในปัจจุบัน จึงของแสดงความเห็นในมุมมองของการโฆษณาสุราที่มีผลกระทบต่อผู้ใช้แรงงาน ท่านที่เคารพคงทราบกันดีว่า ในกระบวนการผลิตของระบบทุนนิยมในทุกอุตสาหกรรม และทุกสถานประกอบการที่เกี่ยวกับการบริการพลังการผลิตการผลิตมาจากหนึ่งสมองสองมือของคนงาน ถือเป็นพลังการผลิตสำคัญที่สุด สร้างความสำเร็จให้กับผลิตภัณฑ์ทุกชนิดทุกอุตสาหกรรม หากปราศจากหนึ่งสมองสองมือของคนงานทุกประเภทแล้ว สรรพสิ่งทั้งหลาย ความเจริญรุ่งเรือง การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจก็ไม่สามารถปรากฏขึ้นได้ตามที่เราพบเห็นกันอยู่ในสังคมปัจจุบันไม่เว้นแม้แต่จากการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกชนิด แต่ผู้ใช้แรงงานกลับได้รับส่วนแบ่งจากพลังการผลิตของเขานั้นน้อยมาก ทำให้เป็นที่รับรู้กันโดยทั่วไปว่า ประเทศไทยมีช่องว่างอย่างมากมายทางรายได้ และนับวันยิ่งกว้างขึ้นออกไปทุกที คือช่องว่างทางรายได้ระหว่างคนส่วนน้อยที่ร่ำรวยกับคนส่วนใหญ่ที่ยากจน แม้รูปรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2540 และฉบับที่ 2550 จะบัญญัติเอาไว้ว่า รัฐต้องดำเนินการให้มีการกระจายรายได้อย่างเป็นธรรม แต่ในทางปฏิบัติบทบัญญัตินี้ ก็เป็นเพียงกระดาษเปื้อนหมึกเท่านั้นนอกจากผู้ใช้แรงงานยังไม่รับความเป็นธรรมจากค่าจ้างและไม่มีความมั่นคงในชีวิตแล้ว เขายังถูกอิทธิพลของระบบทุนนิยม บริโภคนิยม มอมเมากล่อมเกลาให้ตกเป็นเหยื่อของการสร้างวัฒนธรรมฟุ่มเฟือย โดยเฉพาะเหยื่อของน้ำเมาที่มีแอลกอฮอล์ในเครื่องดื่มหลากหลายชนิดหลากหลายรูปแบบ และพิษภัยของน้ำเมาทั้งหลายได้บั่นทอนทำลายชีวิตครอบครัวของผู้ใช้แรงงานอย่างรุนแรงในทุกระดับ และมีแนวโน้มทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง.

Keywords: สุรา, สังคม, เหยื่อสุรา, ผู้ใช้แรงงาน

ปีที่เผยแพร่/Year: 2550

Address: สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจรถไฟแห่งประเทศไทย.

Code: 2008003

ISSN/ISBN: 978-974-09-4574-1

Country of publication: ประเทศไทย

Language: ไทย

Category: บทคัดย่อ

Download: